กล้าพันธุ์ที่งอกงามในกระถางยางรถยนต์ บ่งบอกถึงความร่วมมือร่วมใจระหว่างวัดกับชุมชน ที่ก่อนหน้านี้เจ้าอาวาสเป็นผู้ตระเตรียมดิน แล้วให้ชาวบ้านเข้ามาหว่านเมล็ดพันธุ์พืชผัก เมื่อโตพอที่จะแยกปลูกได้ ก็แบ่งให้ชาวบ้านนำไปเพาะปลูกในบ้านของตัวเอง บางส่วนถูกนำไปประกอบอาหาร และส่วนหนึ่งก็ย้อนกลับมาถวายเพลพระในวัด
ภาพเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าคนในครอบครัวและชุมชน ขาดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันที่บ้านตอสัก หมู่ 13 ต.แม่สำ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย หมู่บ้านขนาดย่อม 128 หลังคาเรือน 484 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนาเป็นหลัก โดยเฉพาะสวนส้ม ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้คนในครอบครัว เช้าออกไปทำงาน เย็นกลับบ้านนอน ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น รับประทานอาหาร ดูโทรทัศน์ หรือพูดคุยกัน ทำให้สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครัวเรือน รวมถึงเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ขาดหายไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุประมาณ 90 คน กำลังรู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลจากลูกหลานในจำนวนผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นคนติดบ้าน 15 คน ติดเตียง 3 คน เจ็บป่วยด้วยโรคข้อและโครงสร้างกล้ามเนื้อถึง 61.63% ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 20.87% อาศัยอยู่เพียงลำพัง 7 ราย หรือคิดเป็น 7.69% มีภาวะซึมเศร้า 2 คน และพิการ 10 คน
เมื่อเจอสภาพการณ์เช่นนี้ แกนนำชุมชนจึงได้หารือกันในสภาผู้นำ และทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อคืนข้อมูลและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ซึ่งสมาชิกชุมชนทุกคนได้ตระหนักร่วมกัน และต้องการให้ “บ้าน” กลับมาอบอุ่นอีกครั้ง จึงได้ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสร้างเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่นวรางค์ศิริ เสริฐศรี หรือป้าหลิว ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านตอสัก หนึ่งในแกนนำโครงการสร้างเสริมให้เกิดครอบครัวอบอุ่น เล่าว่า กิจกรรมที่สำคัญ คือการอบรมให้ความรู้และทักษะทีมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมี 20 คน และสภาผู้นำอีก 20 คน รวม 40 คน เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัย 1 วัน แล้วนำมาถ่ายทอดพร้อมทั้งฝึกปฏิบัติให้กับญาติผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดูแลในเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลภายในครอบครัวร่วมกัน มีการดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 3 อ.คือ อาหาร การออกกำลังกาย และอารมณ์ โดยทุกเดือนทางสภาผู้นำชุมชน และอาสาสมัครฯ จะลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียงในชุมชนด้วยขณะที่ เตชทัต หอมบุปผา ผอ.รพ.สต.แม่สำ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการดูแลผู้สูงอายุด้านอาหารนั้น ให้ตัวแทนครอบครัวครั้งละ 5 ครอบครัว ร่วมกันนำเสนอเมนูสุขภาพในการประชุมประจำเดือนๆ ละ 5 เมนู จำนวน 10 ครั้ง จนเกิดเมนูสุขภาพ จากผักและอาหารพื้นบ้าน ถึง 50 เมนู เช่น แกงผักหวาน แกงหยวก แกงผักปลัง แกงขี้เหล็ก ข้าวต้มมัด รวมถึงมีการส่งเสริมให้ปลูกผักพื้นบ้านอย่างน้อย 10 ชนิด อาทิ ผักกาด ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ผักหวาน มะละกอ เมื่อเหลือกินในครอบครัว ก็แบ่งปันกันในชุมชน หรือขาย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวและชุมชนมากขึ้นซึ่งไม่เพียงแค่ในครัวเรือนเท่านั้น เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันพระ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันลอยกระทง ก็จะเห็นคนในครอบครัวออกมาทำบุญ และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างขันแข็ง บางครั้งก็ให้ผู้สูงอายุสอนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและผลไม้แก่เยาวชน เป็นต้น
สำหรับ อ. อารมณ์ มีกิจกรรม Cup Song ฝึกสมองของผู้สูงวัย เดือนละ 1 ครั้ง โดยให้ใช้มือเคาะแก้วพลาสติกกับพื้นเป็นจังหวะตามเสียงเพลง เพื่อฝึกสมาธิ และพัฒนาทักษะสัมพันธ์ของสมองกับร่างกาย ซึ่งบางคนจะตั้งใจฟังจนลืมเคาะแก้ว เรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วน อ.ออกกำลังกาย ส่งเสริมทั้งการใช้ผ้าขาวม้า และไม้พลอง รำตามท่าทาง ประกอบเพลง ซี่งเมื่อถึงเวลานัดทุกสายของวันอาทิตย์ และวันพุธ จะเห็นผู้สูงวัยเดินเข้ามาในลานวัด บ้างก็มีลูกหลานพานั่งซ้อนท้าย รับ-ส่ง ถึงที่ ครั้นเสร็จกิจกรรม หลังออกกำลังกายเสร็จ ก็อาจทำอาหารกลางวันรับประทานร่วมกัน หรือแยกย้ายกลับบ้านตามความสะดวกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุได้รับการดูแล และตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น แต่การได้พูดคุยกัน ยังช่วยลดความเครียด เกิดความสบายใจ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้วันนี้ผู้สูงอายุติดบ้าน 15 คน เดินเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจแล้ว 50% และมีการรวมตัวกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน เช่น ช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์พืชผักในวัด ทำที่นอนลมเพื่อผู้สูงอายุติดเตียง อันเป็นนวัตกรรมของทางจังหวัดสุโขทัย ที่นำวัสดุใช้แล้วจากการฟอกไต มาช่วยแก้ปัญหาการเกิดแผลกดทับ เป็นต้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านตอสัก คือทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มกำลัง จนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวจนทุกๆ คนพอใจ.