วอร์รูมป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าฯเผยสถานการณ์ยังไม่รุนแรง นัดประชุมสัปดาห์ละครั้ง ขณะที่การติดตามการลงทะเบียนบริหารเชื้อเพลิง 12 อปท.นำร่องและแก้ปัญหาร้องเรียนเผาอิฐไร้คนมาประชุมและรายงานผล ด้านอ.ดอยเต่าแจงการตรวจสอบจุดความร้อนทำได้ยาก อ้างปัญหาสภาพพื้นที่อยู่ดอยสูง บางจุดต้องข้ามทะเลสาบดอยเต่า เช่นเดียวกับจอมทองยอมรับสื่อสารพลาด การบริหารเชื้อเพลิงลากยาว 10 วันกว่า 1.2 แสนไร่ ส่วนฮอดชี้เครื่องตรวจวัดอยู่ใกล้อำเภออื่นด้วยทำให้ค่าคุณภาพอากาศสูง
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.66 ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์ฯ ครั้งที่ 4/2566 โดยวาระสำคัญเป็นเรื่องสืบเนื่องติดตามข้อสั่งการในการประชุมศูนย์บัญชาการฯครั้งที่ 3/2566 เรื่องการลงทะเบียนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบ Fire D และพื้นที่นำร่อง 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ประสานดำเนินการให้ทางมช.จัดทำระบบลงทะเบียนและอบรมการใช้ให้กับอปท.นำร่อง แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในศูนย์ฯและผ่านระบบซูม เช่นเดียวกับการติดตามการแก้ไขปัญหาการรร้องเรียนมลพิษทางอากาศจากการเผาอิฐในพื้นที่แม่เหียะ ซึ่งก็ไม่มีหน่วยงานใดชี้แจงเช่นเดียวกัน
นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผวจ.เชียงใหม่ ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า ประชาชนได้ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่และยังได้ร้องเรียนไปหลายแห่ง จึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการด้วย โดยในส่วนของสนง.อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ขอให้ไปตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานในชุมชน เพราะชุมชนบอกว่าได้ร้องเรียนมานานและหลายหน่วยงาน เนื่องจากเดือดร้อนจากมลพิษจากการเผาอิฐที่ดำเนินการทุกวันและปลดปล่อยมลพิษในชุมชน จะอ้างวิถีชีวิตและความเคยชินไม่ได้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างที่สามารถนำมาทดแทนเชื้อเพลิงจากแกลบที่เอามาเผาและปล่อยมลพิษออกมา ขอให้พื้นที่ทั้งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่กำกับเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วย เรื่องนี้สอบถามมานานแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ทั้งๆ ที่มอบหมายและสั่งการไปแล้ว
“การบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะใน 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องที่อนุมัติให้ดำเนินการเอง ยังไม่ปรากฏว่าได้ส่งข้อมูลการลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิงมาให้ศูนย์บัญชาการฯจังหวัดได้ทราบ ซึ่งจังหวัดฯตั้งวอร์รูมขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา แต่กลายเป็นว่าไม่สามารถบูรณาการได้ กลายเป็นต่างฝ่ายต่างทำ โดยเฉพาะ 12 อปท.นั้นอยู่ในเขตอ.จอมทองเป็นส่วนมาก มีที่อ.ไชยปราการด้วย และเมื่อไม่มีการบูรณาการการทำงานจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร ขอฝากย้ำไปทั้ง 12 อปท.รวมทั้งอำเภอที่อปท.เหล่านี้อยู่ด้วย อย่าให้เกิดปัญหา “รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า
เมื่อวาน 31 ม.ค.66 ผวจ.เชียงใหม่ได้หารือกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือถึงความเป็นไปได้ในการทำฝนเทียม เพราะค่าคุณภาพอากาศที่กรมควบคุมมลพิษรายงานเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แต่ยังไม่สามารถขึ้นทำฝนเทียมได้ ถ้าหากมีฝนตกมาห่าใหญ่ๆ จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในตอนนี้ได้บ้าง
ทางด้านนางปราณี โควินทวงศ์ ผอ.ส่วนการจัดการคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง สนง.สิ่งแวดล้อมฯ กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง ขณะเดียวกันก็มีการขอบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลายพื้นที่ จุดความร้อนก็เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน คาดว่าอีก 7 วันข้างหน้าคุณภาพอากาศยังไม่ดีมีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จึงขอให้หน่วยงานราชการช่วยเตือนประชาชน และเข้มงวดเรื่องการเผาด้วย โดยเฉพาะวันที่ 3-6 ก.พ.66 ซึ่งสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการระบายอากาศ หากยังมีการเผาในพื้นที่มากยิ่งทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง
ผอ.ส่วนการจัดการคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง สนง.สิ่งแวดล้อมฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ขอให้ใช้เครื่องวัดเซนเซอร์ของ Dust Boy ได้เพราะมีเครื่องวัดมาก กระจายทุกพื้นที่ ส่วนการเตือนทั่วไปให้ใช้จังหวัดดูค่า AQI ของเครื่องกรมควบคุมมลพิษ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีอยู่ 5 สถานี สำหรับค่าของเซนเซอร์ Dust Boy กับของกรมฯค่าตรวจวัดจะใกล้เคียงกันเพียง แต่ของกรมควบคุมมลพิษจะใช้ค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงในการเตือนภัย
นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การแจ้งเตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงนั้นสำคัญ เพราะผู้แทนของกรมควบคุมมลพิษบอกแล้วว่าขณะนี้ค่ามลพิษเกินค่ามาตรฐานทุกสถานีแล้ว ทางสนง.สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ต้องรีบแจ้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ทั้งแจกหน้ากากอนามัย การปฏิบัติตัว และหากบางพื้นที่ค่าอากาศเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.จะทำอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงแล้ว
จากนั้นที่ประชุมให้อำเภอที่มีสถานการณ์ไฟป่าในรอบสัปดาห์รายงานการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฯ โดยปลัดอำเภอดอยเต่าที่รับผิดชอบรายงานว่า อ.ดอยเต่าเกิดจุดความร้อน 4 จุดๆ แรกเส้นทางบ้านแม่ป๊อกบนซึ่งการตรวจสอบพื้นที่จะต้องข้ามทะเลสาบดอยเต่า ปัจจุบันก็มีน้ำในระดับสูงด้วย และได้แจ้งนปพ.ดอยเต่าเข้าไปตรวจสอบแล้ว ส่วนอีก 3 จุดอยู่ใกล้เคียงกันบริเวณหลังดอยพระบาทตะเมาะ บ้านแม่ตูบ ซึ่งแต่ละจุดพื้นที่ห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตรและเป็นพื้นที่ดอยสูงทั้งหมด อย่างไรก็ตามทางอำเภอจะพยายามแอคชั่น
“สภาพปัญหาของดอยเต่าคือพบจุดความร้อนในพื้นที่ทั้งป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นป่าสูงชัน เข้าถึงได้ยาก ทางนายอำเภอดอยเต่าได้วาง 8 มาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินโดยเริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ทำหนังสือกำชับไปทุกแห่งที่เกี่ยวข้องว่าเข้าสู่ช่วงเผชิญเหตุแล้ว ให้จัดเตรียมชุดลาดตระเวน ห้ามเผาในที่โล่งยกเว้นที่ลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ในระบบ Fire D และให้บังคับใช้กฎหมายกับพื้นที่ไม่ได้ขออนุญาต การจัดพื้นที่เซฟโซนและการฉีดพ่นละอองน้ำในวันที่ค่าคุณภาพอากาศสูง และวันที่ 5 ก.พ.นี้จะมีการคิกออฟ ทำแนวกันไฟที่วัดพระบาทดอยเกิ้ง เขตรอยต่อกับอำเภอฮอด ส่วนพื้นที่รอยต่อกับอำเภอลี้ ลำพูนกับอ.สามเงา จ.ตาก นายอำเภอจะได้นัดหารืออีกที”ปลัดอำเภอดอยเต่ารายงาน
ทางด้านอ.จอมทอง รายงานว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่วันนี้เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งทางอำเภอได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา และการเกิดจุดความร้อนซ้ำในพื้นที่มีทั้งที่เผาแล้ว และมีการเผานอกแนว รวมทั้งพยายามที่จะให้มีการลงทะเบียนในระบบ Fire D ซึ่งได้กำชับบอกกล่าวกันไปแล้ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้วกว่า 2 แสนไร่ จริงๆ เดิมทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงข้อมูลเป็นช่วงระยะเวลาคือ 1-10 วัน และยอมรับว่าไม่ได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า จะต้องลงทะเบียนและดำเนินการวันต่อวัน
ขณะที่ทางอ.ฮอด ชี้แจงว่า ปีที่ผ่านมาอ.ฮอดมีจุดความร้อน 224 จุด และเมื้อ 18 ม.ค.ที่ผ่านมาผวจ.เชียงใหม่ได้มาตรวจเยี่ยมและให้นโยบายเน้นสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงจุดเสี่ยงล่อแหลมให้ทำงานแบบไร้รอยต่อ อ.ฮอดมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษตั้งอยู่ และที่ผ่านมาค่าค่อนข้างสูง เป็นเพราะจุดตั้งเครื่องวัดก็อยู่ใกล้กับเขตอำเภออื่นด้วย
ทั้งนี้รองผวจ.เชียงใหม่ได้แจ้งที่ประชุมว่า จังหวัดเชียงใหม่จะมีประกาศห้ามเผาเด็ดขาดตั้งแต่ 15 ก.พ.-30 เม.ย.66 รวม 75 วัน ดังนั้นศูนย์บัญชาการฯนี้จะมีเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตเมืองและรอบๆ จัดกำลังหมุนเวียนสับเปลี่ยนกับทางสนง.ปภ.เชียงใหม่ด้วย และเน้นย้ำทุกอำเภอในเรื่องห้ามเผาในที่โล่งและพื้นที่เกษตร ควบคุมปริมาณฝุ่นละอองในเขตก่อสร้าง ให้รถส่วนราชการตรวจวัดควันดำตรวจสภาพรถและประสานคณะสงฆ์ห้ามเผาเศษใบไม้ในเขตวัด และเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่รุนแรงวอร์รูมนี้จะประชุมสัปดาห์ละครั้ง.