เยือนแหล่งผลิต “ชาระมิงค์”ไร่ชาอินทรีย์(Oganic) ที่ปลูกแบบ Rustic shade-grow ต้นชาปลูกเรียงแถวหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงแรกในแต่ละวัน ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ใบชาจะผลิตสารต้านอนุมูลอิสระสามารถรักษากลิ่นและรสตามธรรมชาติไว้ได้นาน
นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และประธานบริษัทชาระมิงค์ กล่าวว่า เมื่อปีพ.ศ.2484 นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เกษตรกรตัวอย่างของจังหวัดเชียงใหม่และผู้ก่อตั้งบริษัทชาระมิงค์ จำกัดได้มาสำรวจและบุกเบิกไร่ชาครั้งแรก ด้วยแรงบันดาลใจจากการค้นพบในหนังสือเอ็นไซโคลปิเดียว่า ” ณ ผืนแผ่นดินของถิ่นล้านนาเป็นแหล่งกำเนิดชาแห่งหนึ่งของโลก การสำรวจในครั้งนั้นพบว่าต้นเมี่ยง ณ เขตภูเขาสูง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ที่คนรุ่นเก่าเก็บมาทำเมี่ยงเป็นต้นชาป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติและเป็นชาสายพันธ์อัสสัมแบบเดียวกับที่นิยมปลูกในประเทศอินเดีย และศรีลังกา
บริษัทมีพื้นที่ปลูกชาและกาแฟกว่า 3,000 ไร่ ปลูกที่ระดับความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลโดยวิธีทางเกษตรอินทรีย์(Oganic) ปลูกแบบ Rustic shade-grow ต้นชาปลูกเรียงแถวหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงแรกในแต่ละวัน ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ใบชาจะผลิตสารต้านอนุมูลอิสระสามารถรักษากลิ่นและรสตามธรรมชาติไว้ได้นานจึงดึงเอากลิ่นหอมเฉพาะแบบ Single Origin ปัจจุบันพื้นที่ไร่ชาระมิงค์เป็นพื้นที่ป่าสงวนต้นน้ำแม่ปิงที่ยังคงระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ไว้ได้ 100%
สำหรับการเก็บชาจะใช้วิธีเก็บแบบ Hand-selected ลูกไร่ชาวเขาเผ่าลาหู่ มูเซอเลือกเก็บชาทีละยอดแทนการใช้เครื่องจักร นอกจากจะสามารถควบคุมคุณภาพของยอดชายังช่วยลดมลภาวะที่มาจากเครื่องจักร ยอดชาสดที่เก็บมาส่งโรงงานบริษัทฯจ่ายให้ลูกไร่อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ มูเซอและคนพื้นเมืองกว่า 200 หลังคาเรือนให้มีพื้นที่ทำกิน ปลูกชา กาแฟ กสิกรรมและเกษตรกรรม ส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนในการทำกิจกรรมของวัด โบสถ์และโรงเรียน สนับสนุนที่ดินในการปลูกสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ โรงเรียนบ้านปางห้วยตาดและปลูกฝังค่านิยมรักบ้านเกิด
“ชาระมิงค์ ไร่ชาที่มีอายุยาวนานกว่า 80 ปี ปัจจุบันผมเป็นทายาทรุ่นที่ 3 นับจากได้รับสัมปทานจากกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2506 เพราะเป็นเขตป่าสงวน 1 เอ ก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ โดยเริ่มจากทำยาสูบสายพันธุ์เวอจิเนียก่อนที่จะขยับมาทำปลูกชา ด้วยการพัฒนาจากชาเมี่ยงพื้นเมือง ที่บ้านปางห้วยตาด ที่ปลูกชามาก่อน และมีการนำแรงงานมาจากลาหู่ เราผ่านการเรียนรู้ทั้งจากชุมชนและหนังสือ เน้นการไม่ตัดไม้ทำลายป่า รักษาไว้ธรรมชาติเพื่อลูกหลาน แต่ตอนนี้เริ่มมีปัญหาหลังเด็กเยาวชนลงไปเรียนในเมือง ไม่ค่อยกลับถิ่น มีแค่ไม่เกิน 20% ที่จะกลับมาสานต่อการทำเกษตรกรรม ทำให้ชุมชนที่อยู่สูงอายุ ปัจจุบันบริษัทมีลูกไร่ 150 คน เป็นอัตราจ้างรายวัน และผ่านวิกฤตมาได้เพราะการทำชา กาแฟ และการทำการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการทำเกษตร”นายจักริน กล่าวและว่า
สำหรับผลผลิตชาระมิงค์ต่อปีประมาณ 30 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยชา 6 กิโลกรัมสด = 1 กิโลกรัมแห้ง ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก 95% ชาดำ(Black tea) โดยส่งไป ยุโรป 15% และสหรัฐอเมริกา 80% และที่เหลือในเอเชีย ในช่วงโควิด – 19เรื่องการผลิตไม่มีปัญหา สิ่งที่จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อไม่มีน้ำ เพราะต้องเก็บยอดในปีที่ 8 สำหรับยอดการส่งออกเฉลี่ย 25-30 ตันต่อปี หรือ 100 ล้านบาทต่อปี การเก็บชาจะมี 3 ช่วงๆ ที่มีคุณภาพดีที่สุด จะเป็นยอดชาที่เก็บในช่วงเดือนมีนาคม ช่กรกฎาคม และสิงหาคม ต่อด้วยรุ่นที่สองและสาม จบราวเดือนตุลาคมของปี
ผู้จัดการบริษัทชาระมิงค์ กล่าวว่า ทางบริษัทฯเตรียมนำหุ่นยนต์ที่เรียกว่า แขนกล เข้ามาช่วยในการบรรจุผลิตภัณฑ์ประมาณกลางปีหน้า ซึ่งจะใช้ต้นทุนเฉลี่ยไม่เกิน 2 ล้าน แต่เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและขึ้นอยู่กับระบบไฟฟ้าด้วย นอกจากนี้บริษัทฯยังมีชาจีนผสมสมุนไพร ส่งขายภายในประเทศไทย และตลอด 80 ปีของการทำชา เราแบ่งตลาดเป็น 2 ส่วน คือ บริษัทชาสยามมีเป้าหมายส่งออก 80% เติบโต 10% ทุกปี และบริษัทชาระมิงค์ จำหน่ายภายในประเทศไทย 20% ซึ่งเติบโตน้อย แต่ก็เติบโตตามสัดส่วน.