เริ่ม”คุมไม่อยู่”ไฟป่าเชียงใหม่ปล่อยไหม้ข้ามคืน ล่าสุด 2 มี.ค.พบจุดความร้อนรอบตีสองกว่าสูงถึง 150 จุด ส่วนที่“แม่แจ่ม”ชิงเผาแต่ไฟลุกลามตลอดคืนชาวบ้านต้องเฝ้าสวนตัวเองกลัวไฟไหม้ ทีมงานนโยบายพรรคเพื่อไทยเก็บข้อมูลข้อเสนอจากนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมกรณีชิงเผาแต่ไม่ควบคุม ทำให้คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน บางพื้นที่ในเชียงใหม่ค่าฝุ่นรายชั่วโมงสูงแตะ 100 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากจังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดความร้อนพุ่งสูงถึงวันละ 100-200 จุด โดยส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและไม่ได้มีการควบคุมดับ แต่กลับทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลามขึ้นเขาในหลายพื้นที่ข้ามคืน จนทำให้คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่เกินค่ามาตรฐานติดต่อกัน 4 วันแล้ว
ล่าสุดเช้าวันนี้(2 มี.ค.67)ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นยท2.5 จังหวัดเชียงใหม่รายงานจุดความร้อนรอบเช้า(เวลา 02.07 น.)จังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อนสูงถึง 150 จุดซึ่งเป็นไฟลามข้ามคืนทั้งหมด โดยพบมากที่อ.แม่แจ่ม 48 จุด ฮอด 27 จุด แม่วาง 24 จุด จอมทอง 19 จุด ดอยเต่า 12 จุด ไชยปราการ 3 จุด กัลยาณิวัฒนา 3 จุดอมก๋อย 3 จุด แม่แตง 3 จุด พร้าว 2 จุด เชียงดาว 2 จุด หางดง 2 จุด สะเมิง 1 จุด แม่ริม 1 จุด โดยพื้นที่ที่พบจุดความร้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่รายงานต่อศูนย์บัญชาการฯว่าเป็นพื้นที่ชิงเผาหรือบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ลงทะเบียน FireD และได้รับอนุมัติเรียบร้อย
ทั้งนี้เมื่อคืนวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมานายโกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้เดินทางเข้าพื้นที่อ.แม่แจ่มเพื่อรายงานข่าวได้แชร์ภาพกลุ่มไฟบริเวณต.กองแขก อ.แม่แจ่มซึ่งเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงว่ามีการชิงเผาพื้นที่กว้างมาก จนกระทั่งบ่ายและค่ำพบว่าไฟยังคงลุกลามต่อเนื่องจนถึงเวลา 4 ทุ่มกว่าก่อนจะเดินทางออกจากพื้นที่ โดยรายงานว่าไฟป่าได้ลุกลามขยายวงกว้างและลามเข้าสวนส้มของชาวบ้านซึ่งเจ้าของต้องนำน้ำมาดับไฟและเฝ้าระวังไฟทั้งคืน โดยพบว่าแนวไฟไหม้ล้อมรอบอำเภอแม่แจ่ม ขณะที่นายอำเภอแม่แจ่มรายงานศูนย์บัญชาการฯต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ว่ายังสามารถควบคุมได้เพราะไฟยังอยู่ในแนวจัดการเชื้อเพลิง
ด้านนางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ทีมงานนโยบายพรรคเพื่อไทย ได้ขอรวบรวมข้อมูลที่นายสมเกียรติ มีธรรม นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับการปล่อยให้ไฟลาม หรือจัดการเชื้อเพลิงแล้วควบคุมไม่อยู่ หลังจากเกิดกรณีไฟไหม้ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงมายาวนานเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งก็รวมพื้นที่อ.แม่แจ่มด้วย โดยนายสมเกียรติตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนหลักเกณฑ์อนุมัติคำขอจัดการเชื้อเพลิงจากแอพ Fire D เท่าที่ทราบมา มีข้อที่ควรปรับอยู่หลายประการ
1.เวลาเผา หรือพูดให้เพาะหน่อยก็คือ เวลาจัดการเชื้อเพลิง ไม่ควรเป็นเวลาเย็นเกินไป หรือไม่ควรให้จัดการเชื้อเพลิงหลัง 4 โมงเย็น เนื่องจากหลัง 4 โมงเย็นเป็นช่วงที่อากาศเริ่มหนัก เย็นลง ความชื้นสัมผัสสูงขึ้น ทำให้ฝุ่นควันลงต่ำ กระทบกับชุมชนโดยรอบ
2. จำนวนพื้นที่จัดการเชื้อเพลิงไม่ควรเป็นผืนใหญ่หลัก 1,000 ไร่ ซึ่งใช้เวลานานในการเผาไหม้ ทำให้เกิดฝุ่นควันมหาศาล ยิ่งจัดการหลัง 4 โมงเย็นยิ่งหนัก
3. พื้นที่จัดการเชื้อเพลิงไม่ควรอยู่ใกล้กันเกินไป แม้แต่ละแปลงไม่ใหญ่มาก จำนวนหลักสิบ หลักร้อยไร่ก็ตาม เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันสูง และหนาแน่นมากขึ้น
4. ทิศทางลม ลองนึกภาพดูว่า ถ้ามีคนมาจุดกองขยะขณะคุณอยู่ใต้ลมดูจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งถ้าชุมชนอยู่ใกล้พื้นที่จัดการเชื้อเพลิง และอยู่ใต้ลม ไม่กระทบกับชุมชนกระนั่นหรือ
5. ไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบ ตรวจเช็คหรือไม่ ว่าพื้นที่จัดการเชื้อเพลิงได้ทำแนวกันไฟหรือยัง ถ้าทำแล้วครอบคลุมทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน
6. มีการเฝ้าระวังไฟหรือไม่ มีกำลังคนเท่าไหร่ในการเฝ้าระวัง และเฝ้าระวังจนกว่าไฟจะดับหรือไม่
นี้คือสิ่งที่ควรปรับปรุง…ควรไม่ควรแล้วแต่พิจารณา
ขณะที่ดร.สุรี ได้แสดงความเห็นในกลุ่มไลน์แก้ไขฝุ่นควันภาคเหนือว่า เห็นด้วยอย่างมากกับข้อเสนอของนายสมเกียรติ มีธรรม ว่าการควบคุมการเผา ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ด้านสภาพภูมิอากาศ ทิศทางลม อัตราการระบายของลมและอื่นๆ เรื่องสำคัญมากๆ คือ ต้องเข้าถึง และสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบทุกคน (ครอบครัว) ด้วย ทั้งนี้เราสามารถเรียนรู้จากวิธีการที่ประเทศอื่นๆ ดำเนินการ แล้วมีประสิทธิผลก็ได้ด้วย มีบทเรียนมากมายใช่ไหมคะ (เพราะประเทศอื่น ก็มีไฟป่าด้วย.