อธิบดีกรมควบคุมมลพิษชี้สถานประกอบการและหน่วยงานแหล่งกำเนิดมลพิษเริ่มตื่นตัว เผยผลตรวจเกือบ 70% อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น เรียก 300 แห่งในพื้นที่คลองแม่ข่ามาทำความเข้าใจ ก่อนส่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ลงพื้นที่ตรวจให้ครบภายในสิ้นปีนี้ ย้ำจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อฟื้นคืนคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการสัมมนาแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อคืนน้ำใสให้คลองแม่ข่า ให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 คน โดยกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่ จัดขึ้น
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลในการดูแลคุณภาพน้ำและการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีแหล่งปล่อยมลพิษลงสู่ลำน้ำ คู คลอง แม่น้ำต่างๆ รวมถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่เน้นทุกมิติและเลอกทุกจังหวัดที่เป็นหัวใจ เป็นตัวนำในการแก้ปัญหา สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ก็คือคลองแม่ข่า
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดแผนการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 สำหรับผู้ประกอบการโรงแรม อาคารชุด ห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านอาหาร อาคารสำนักงานของรัฐและเอกชน ที่ดินจัดสรร และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ในพื้นที่ริมคลองแม่ข่า ทั้งหมด 272 แห่ง เดิมดำเนินการได้เพียง 60 กว่าแห่งและได้มีการเร่งรัดโดยจะเข้าตรวจสอบให้ครบทุกแห่งภายในปีนี้ เพราะขณะนี้ดำเนินการไปได้กว่า 80-82% แล้วและยังพบว่าในจำนวนนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วถึงร้อยละ 70 จากเดิม ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจสอบพบว่าร้อยละ 64 ของแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าตรวจสอบ มีการระบายน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
“ตอนนี้สถานประกอบการ ร้านค้าต่างๆ เริ่มตื่นตัวมากขึ้น การประชุมในครั้งนี้จึงได้เชิญสถานประกอบการทั้งหมดที่อยู่ตลอดแนวคลองแม่ข่า 31 กิโลเมตรมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งทางส่วนกลางมีการตั้งคลีนิกตรวจคุณภาพแหล่งกำเนิดมลพิษตามมาตรา 80 และ 82 ซึ่งให้สถานประกอบการขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ โรงแรม ตลาดและอาคารบ้านเรือน ซึ่งไม่รวมถึงโรงงานเพราะจะอยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ”นายจตุพร กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ทางองค์การจัดการน้ำเสียก็จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือ MOU กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่งที่คลองแม่ข่าไหลผ่าน เพื่อศึกษาว่าแต่ละแห่งความต้องการอยู่ที่ไหน และทางจังหวัดเชียงใหม่เองก็จะเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 8 แห่งมาพูดคุยว่าแต่ละแห่งมีโครงการหรือแผนงานเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียในเขตรับผิดชอบอย่างไร
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวด้วยว่า น้ำในคลองแม่ข่าถือเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่งในการจัดการแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝนอาจทำให้น้ำฝนไปเจือจางน้ำเสียจึงทำให้คุณภาพน้ำดูดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องดูในช่วงฤดูแล้งอีกที จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำทำปฏิทินจัดสรรน้ำ การบังคับใช้กฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในภาพรวมคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าจะดีขึ้น.