เชียงใหม่ (19 มิ.ย.60) / เปิดใจ เลขาฯ กป.อพช.ภาคเหนือ เตรียมขับเคลื่อน-เชื่อมร้อยงานเอ็นจีโอต่อ พร้อมหนุนสังคมรับรู้ตัวตนของชาติพันธุ์-ยกระดับการต่อสู้ด้านทรัพยากรให้เข้มแข็ง จับมือเครือข่าย จี้รัฐเร่งจัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมน.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) เปิดเผยถึงบทบาทของ กป.อพช.ภาคเหนือว่า เป็นพื้นที่สื่อสาร ประสานงานของประชาชน และเอ็นจีโอที่ทำงานด้านการพัฒนา และสังคม แต่นับจากเข้ารับตำแหน่งเลขาฯ กป.อพช.ภาคเหนือ ยังไม่ได้ประชุมร่วมกันกับกรรมการชุดใหญ่ เพียงแค่หารือกับกรรมการชุดเดิมเมื่อ 2 เดือนก่อน ว่าจะยังยึดเป้าหมายเดิม คือการเป็นพื้นที่ให้เอ็นจีโอที่ทำงานในทุกๆ ด้าน เข้ามาเป็นภาคี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับนโยบายที่ส่งผลกระทบกับภาคเหนือตอนบน (เชียงราย, พะเยา, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน ) คอยเชื่อมร้อยกระบวนการเอ็นจีโอในจังหวัดต่างๆ ให้มีพลังมากขึ้นโดยสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือภาคเหนือตอนบน มีปัจจัยที่แตกต่างจาก กป.อพช.ภาคอื่นๆ เพราะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีชนเผ่าพื้นเมือง แต่ยังขาดสิทธิ ขาดเสียง อีกกว่า 6 แสนคน ฉะนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ กป.อพช.ภาคเหนือ ต้องทำในลำดับแรก คือยกระดับการรับรู้ของคนในสังคมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นการสื่อสารสาธารณะ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ คือคนพื้นเมืองที่อยู่บนผืนแผ่นดินนี้มาตั้งแต่ต้น ยาวนานกว่าคนที่เรียกตัวเองว่าคนพื้นเมือง หรือคนไทยขณะเดียวกันก็จะไม่ละเลยเรื่องทรัพยากร การจัดการที่ดิน น้ำ เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ปัญหาหมอกควันไฟป่า และเพิ่มเติมในเรื่องการจัดรัฐสวัสดิการให้แก่สังคม หลักประกันสุขภาพ หลักประกันชราภาพ ระบบบำนาญแห่งชาติ ที่จะต้องสร้างเครือข่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันสิ่งที่ กป.อพช.ภาคเหนือ ต้องเร่งเข้าไปมีส่วนร่วมและหนุนเสริม คือการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง ไม่ใช่ปล่อยให้คนในพื้นที่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง“ต้องยอมรับว่าแนวทางและนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เอ็นจีโอทำงานค่อนข้างลำบาก การประท้วงเหมือนในอดีตทำได้ยาก แต่ก็ยังต้องขับเคลื่อนงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือคัดค้าน หรือประท้วงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมกับประชาชน แม้ว่าในภาพรวมจะดูไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยเกิดการสั่นคลอนและเปลี่ยนแปลงพอสมควร เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้บริหารประเทศได้รับรู้ถึงปัญหา และอาจมีการติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อหาทางออกในระยะยาว” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวในตอนท้าย.