เชียงใหม่/เครือข่ายท้องถิ่นเพื่อการรู้รับปรับตัวสู้ภัยฝุ่นภาคเหนือ หวังรัฐบาลใหม่คลอดพ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน ชี้บทบาทชุมชนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการจัดการฝุ่นพิษ ขณะที่สสส.เน้นเพิ่มศักยภาพท้องถิ่น กระตุ้นให้ขับเคลื่อนระดับนโยบายเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 ที่โรงแรมเซ็นทาราริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีวิชาการประสานพลังเครือข่ายท้องถิ่น เพื่อการรู้-รับ-ปรับตัว (Resilience) จากภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 100 คนนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า ปัญหา pm 2.5 ชุมชนท้องถิ่นจะต้องแก้ไข แม้จะเกินศักยภาพของตัวเองก็ตาม แต่ถ้าเกินก็ต้องร่วมกันขับเคลื่อนว่าจะไปผลักดันนโยบายอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจังหวัด หรือวาระอำเภอ สามารถทำได้ทุกขั้นตอน สำคัญที่สุดคือชุมชนต้องเข้มแข็ง ซึ่งสสส.ได้เข้าไปเพิ่มศักยภาพ รวบรวมข้อมูล และผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วยตนเองมาอย่างต่อเนื่องนายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นทางสภาลมหายใจเชียงใหม่ได้แบ่งการขับเคลื่อนงานเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่รูปธรรม โดยทำงานร่วมกับท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อสม. เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันระดับพื้นที่ 2.พื้นที่สาธารณะ คือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนสร้างการมีส่วนร่วมระดับประชาสังคมและมีการสื่อสารสาธารณะ และ 3.พื้นที่นโยบาย มีการผลักดันเป็นวาระแห่งชาติเพื่อนำไปสู่นโยบายรัฐ เช่น สนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาด ลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว สร้างความมั่นคงที่ดินและเคารพสิทธิการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ที่สำคัญต้องมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการแก้ปัญหา เพื่อสอดคล้องกับระบบนิเวศ“รัฐบาลเก่าเราเห็นฝีมือแล้วแก้ปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ไม่ได้อย่างชัดเจน แต่ยังมีความหวังกับรัฐบาลใหม่ ขอให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อ เพราะว่าดูแล้ว ถ้ารัฐบาลใหม่มาจริง พ.ร.บ.อากาศสะอาดน่าจะเกิด ประชาชนน่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขมากขึ้น หรืออย่างน้อยน่าจะแก้ได้ดีกว่าเดิม และถ้ามีรัฐบาลใหม่เมื่อไหร่ สภาลมหายใจจะเข้าไปคุยเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างแน่นอน” นายชัชวาล กล่าวนายสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า รัฐบาลต้องส่งคนที่เข้าใจปัญหาของภาคเหนือเข้ามาแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ ทำให้ถูกจริตกับพี่น้องประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจหรือการอยู่อาศัยของพี่น้องประชาชน ให้สิทธิการมีส่วนร่วมในการเข้าไปดูแลและใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า เพราะถ้าให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วม ก็จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า
“ควรแก้ข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคจนทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาล้มเหลว เพราะที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแลควบคุมไฟป่าได้เพียง 10% ของพื้นที่เท่านั้น อีก 90% ที่เหลือต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่น เมื่อกฎหมายกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านจะเกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่ของตน การเฝ้าระวังจึงไม่มี” นายสมคิด กล่าวทางด้านรศ.ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานบ้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ พื้นที่เชียงใหม่ pm 2.5 เกินค่ามาตรฐานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา แม้ไทยจะใช้ค่ามาตรฐาน ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรอยู่ก็ตาม และในขณะนี้กำลังจะปรับแก้ ใช้มาตรฐานที่ 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันจากข้อมูล 10 ปีพบว่าในปี 2558 pm 2.5 ขึ้นสูงมากเกิน 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ในปี 2562 ตรวจพบมลพิษข้ามแดน ช่วงเดือนมกราคม บริเวณเขตแดน วัดได้ประมาณ 20% เดือนกุมภาพันธ์ 50% เดือนมีนาคม 80-90% เมษายน 50 ถึง 70% ทั้งนี้เมื่อวัด ในเขตด้านในหรืออำเภอเมืองจะพบว่ามีค่าลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้อำเภอชายแดนมีค่าฝุ่นควันสูงกว่าอำเภอเมือง และจากงานวิจัยพบว่ายิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กยิ่งมีอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศในภาคเหนือ มาจากการเผาในที่โล่ง และการจราจรมากที่สุด.