เชียงใหม่(12 ก.ย.60)/นักวิชาการชี้สังคมไทย ยุค 4.0 จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ ติดกับระบบจารีต มีเพดานแสดงความคิดเห็น ต้องเน้นวิจัยทางเศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า ไม่แตะต้องการเมือง หรือคิดนอกกรอบ
เมื่อ 12 ก.ย.60 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มช. จัดเสวนาวิชาการ “สังคมไทย ยุค 4.0 กับ เสรีภาพทางวิชาการ” โดยมีวิทยากร 4 คน ประกอบด้วย อ.ชัชวาล บุญปัน อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มช. และ อ.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คนนายชำนาญ กล่าวถึง ไทยแลนด์ 4.0 ที่ เน้นความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนจากที่ทำมาก ได้ผลตอบแทนน้อย มาเป็น ทำน้อย แต่ได้ผลตอบแทนมาก การขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0 ให้สำเร็จได้ใช้แนวทางพลังประชารัฐ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน การค้า-อุตสาหกรรม การเกษตร ธนาคาร ประชาชน ชุมชน จังหวัด สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ประกอบกับการส่งเสริม SME และ Startup เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
หลังรัฐประหารไทยตามหลังประเทศเพื่อนบ้านหมด และเสรีภาพทางวิชาการถูกปิดกั้น นักวิชาการมีการถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมองย้อนถึงเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แล้วมองย้อนกับมาดูสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าขัดแย้งกันหมด ทั้งนี้ เสรีภาพทางวิชาการ จะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนของสังคม และความยุติธรรมที่รวดเร็วผิดปกติ ก็คือความไม่ยุติธรรมอ.ชัชวาล กล่าวว่า ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ คือในอดีตมักมีการทำลายคนที่มีความเชื่อที่ต่างออกไป เช่นนักวิทยาศาสตร์ในอดีตหลายราย อาทิ กาลิเลโอ อริสโตเติล และ โคเปอร์นิคัส คนเหล่านี้ ถูกทำลาย เพราะ มีความเห็นต่างกับความเชื่อในยุคนั้น ทั้งนี้การปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ จะทำให้ไม่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาได้รศ.สมชาย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 ตกลงมาโดยตลอดหากพิจารณาเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านเช่น เมียนม่า กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จะอยู่ในระดับเดียวกัน แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศในแอฟริกา เช่น เคนยา โมซัมบิก แทนซาเนีย พบว่าสถานการณ์ของไทยอยู่ในระดับที่เลวร้าย ทั่วโลกต่างมองเห็นว่าการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาเป็นปัญหาสำคัญ แต่ทำไมชนชั้นนำในสถานศึกษา กลับไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความกลัว แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะมุมมองเรื่องเสรีภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งเสรีภาพในสังคมแบบไทยๆ นั้น ต้องไม่กระทบต่อระเบียบที่ดำรงมาแต่เดิม เช่น ผู้ใหญ่/ผู้น้อย ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ.เบญจรัตน์ กล่าวในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ปัจจุบันถูกปิดกั้นอย่างมาก และมีการดำเนินคดีกับกลุ่มเห็นต่าง บางรายจนถึงขั้นถูกจับติดคุก ซึ่งตนเองในฐานะอาจารย์ สามารถนำนโยบายของ คสช. มาแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนกับ นศ.ได้ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งกับไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะได้เลย นอกจากนี้ ในมหาวิทยาลัย ควรจะมีหลักประกันคุ้มครอง เสรีภาพทางวิชาการ ของบุคลากรเหมือนดังเช่นต่างประเทศ.