นักรัฐศาสตร์ชี้การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นpm2.5 ต้องทำควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แนะจัดทำหลักสูตรในโรงเรียนและสถานศึกษาหวังให้คนรุ่นใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องขององค์ความรู้ทางวิชาการและภาคชุมชน ประชาชน ซึ่งใช้คำว่าภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรและดูแลพื้นที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเหมือน ปกาเกอะญอ ซึ่งมีกระบวนการ วิธีการที่รักษาพื้นที่ป่าและสานต่อรุ่นสู่รุ่นได้ดีมาก โดยที่ผ่านมายังมีการถอดองค์ความรู้จากชุมชนน้อยมาก ส่วนการแก้ปัญหาpm2.5 ไม่สามารถแก้ได้โดยคนเดียว ซึ่งบริบทแต่ละพื้นที่ต่างกัน ลักษณะความเป็นเมืองก็ต่างกัน เชียงใหม่เติบโตไปทั้งเศรษฐกิจและมลพิษ การตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม
“มุมมองของความเหลื่อมล้ำและชุมชนที่รอรับคำสั่ง หรือเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานร่วมข้างนอกซึ่งมีค่อนข้างมาก อย่างเชียงใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการรวมตัวค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะจากปัญหาหมอกควัน ฝุ่นpm2.5 แต่ก็ยังไม่พอ ซึ่งน่าจะมีหลายภาคส่วนมาร่วมพูดคุยกัน นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำเรื่องสุขภาพกับเพศด้วย เพศหญิงจะได้รับผลกระทบจาก pm2.5 มากกว่าชาย พบว่าเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 10 ขวบจะได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กชาย ซึ่งต้นทุนสุขภาพ การลงทุนด้านสุขภาพเป็นการลงทุนค่อนข้างสูง หน้ากากป้องกันpm2.5 ไม่ใช่ของฟรี ช่วงที่เก็บข้อมูลเมื่อปี 62 พบว่าประชาชนไม่ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นเพราะราคาหน้ากากฝุ่นแพง ประชาชนบอกว่าเอาเงินไปซื้อข้าวกิน ซึ่งการแก้ปัญหาต้องดูเรื่องรายได้ การมีชีวิตอยู่ของประชาชนควบคู่ไปด้วย”
เรามีพื้นที่ปลอดภัย แต่คนรอบนอกไม่มีเพราะค่าใช้จ่ายสูงและมีโอกาสได้รับผลกระทบด้านสุขภาพค่อนข้างสูงด้วย นอกเหนือจากนี้นโยบายการศึกษาก็สำคัญ เรื่องของpm2.5 ควรจะใส่ในหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อให้องค์ความรู้นี้ถ่ายทอดสู่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่มีบทบาททางการเมืองค่อนข้างมาก และสามารถไปเชื่อมกับคนและชุมชนได้ จึงอยากให้มีการเร่งนโยบายด้านนี้ลงไปในด้านการศึกษานอกเหนือจากมิติวิทยาศาสตร์แล้ว ควรมองมิติสังคมศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
สำหรับเรื่องมาตรการ ควรจะมีการพูดคุยหลากหลายกลุ่มและเวทีที่สามารถแชร์ข้อมูลและองค์ความรู้ และสร้างมาตรการระยะสั้นขึ้นมา ซึ่งตอนนี้คือให้สวมหน้ากาก เตือนเรื่องสุขภาพ ไม่ออกนอกบ้าน แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนมีความรู้และให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพระยะยาว อย่างน้อยเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและเชิงเศรษฐกิจที่เขาจะต้องแบกรับในอนาคต แต่ความยากของภาครัฐและวิชาการคือการเข้าถึงชุมชน ให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจและเข้ามามีส่วนร่วมซึ่งก็ต้องขับเคลื่อนกันต่อไป