แม่ทัพน้อยที่ 3 ขีดเส้นให้เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตากคุมเข้ม Hot Spot ชี้ต้องให้ลดกว่าปีที่ผ่านมา 50% พร้อมส่งกำลังพลลงพื้นที่เสี่ยง

แม่ทัพน้อยที่ 3 ขีดเส้นให้เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตากคุมเข้ม Hot Spot ชี้ต้องให้ลดกว่าปีที่ผ่านมา 50% พร้อมส่งกำลังพลลงพื้นที่เสี่ยง

แม่ทัพน้อยที่ 3 เรียกประชุม 9 จังหวัดภาคเหนือทำความเข้าใจแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน กำชับ 3 จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตากคุมเข้ม Hot Spot ชี้ต้องให้ลดกว่าปีที่ผ่านมา 50% พร้อมส่งกำลังพลลงพื้นที่เสี่ยงที่เกิดปัญหารลักลอบเข้าไปหาของป่าและเกิดไฟ

ที่ห้องประชุมสโมสรค่ายกาวิละ พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า หรือ ศอ.ปกป.ภาค(สน.)เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 9 จังหวัดภาคเหนือเพื่อชี้แจงการดำเนินงานตามแผนรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งการวางแผนซักซ้อมดับไฟป่า(Kicj off) ในพื้นที่ โดยจะดำเนินการในวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 ที่กองพลทหารราบที่ 7 อ.แม่ริมพร้อมกับบูรณาการการทำงานร่วมกันในด้านอัตรากำลัง เครือข่าย อุปกรณ์เครื่องมือ ยานพาหนะและอากาศยานในการป้องกันและแก้ไขไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะจากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือซึ่งระบุว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนและแห้งแล้งซึ่งถือว่าจะเป็นช่วงวิกฤตที่สุด และพื้นที่น่าห่วงมากที่สุดคือจังหวัดเชียงรายที่จะประสบปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพราะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมักประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและมีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์จากสถิติจุดความร้อนหรือ Hot Spot ในห้วงปี 2555-2560 สถานการณ์ของสภาพอากาศในห้วงปี 2561 จึงคาดการณ์ว่าจุดความร้อนจะลดลงจากปีก่อน โดยน่าจะอยู่ที่ 4,448 จุดหรือช่วงระหว่าง 3,559-5,338 จุด อย่างไรก็ตามทางศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้าต้องการให้ใช้กลไกประชารัฐ โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมมือแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

โดยมุ่งเน้นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและใช้การประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อทุกชนิดเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน รวมไปถึงวิธีป้องกันและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อลดพื้นที่การเผาให้น้อยลง ปัญหาหมอกควันลดระดับความรุนแรงลงจนไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและไม่ส่งผลกระทบต่อคมนาคมและเศรษฐกิจ

“ขอเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะวอร์รูมที่สามารถสั่งการในระดับพื้นที่ได้ทุกวัน ทั้งของอำเภอและจังหวัด โดยมุ่งเน้นพื้นที่เสี่ยงเพื่อไม่ให้ปัญหาหมอกควันและไฟป่ารุนแรง พื้นที่ไหนมีจุดความร้อนหรือมีการลักลอบเผาจะต้องรายงานเข้าวอร์รูม และรายงานมายังศูนย์อำนวยการสั่งการฯทันที”พล.ท.สมพงษ์ กล่าวและว่า

สำหรับแผนรณรงค์ป้องกันฯจะส่งทหารลงพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อเดินหน้ากลไกประชารัฐ ทั้งนี้ให้ศูนย์สั่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าฯจังหวัดเปิดศูนย์ฯได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.นี้ สำหรับงบประมาณทั้งค่าน้ำมันและเบี้ยเลี้ยงของกำลังพลที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของแต่ละจังหวัด ให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้จุดความร้อนจะต้องไม่เกิน 4,000 จุด หากเกินจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยแต่ละจังหวัดไปหากลยุทธ์มาให้ได้

ทางด้านนายชานนท์ คำทอง ผอ.ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแผนป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2561 ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า เชียงใหม่มีพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ โดยปีนี้ได้เน้นย้ำเป็นเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ และในปีนี้ช่วง 60 วันห้ามเผาจะลดจุดความร้อนเดิมกำหนดไว้ 20% หรือ 468 จุด นอกจากนี้ต้องลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินค่ามาตรฐานลงจากที่เคยเกิดถึง 153 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ลง

หลังรับฟังการนำเสนอแผนปฏิบัติการของ 9 จังหวัดภาคเหนือแล้ว  พล.ท.สมพงษ์ กล่าวสรุปว่า เนื่องจากจุดความร้อนหรือ Hot Spot ซึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานผล จะพบมากในเขตป่าอนุรักษ์ ปีที่ผ่านมาพบมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก โดยของจังหวัดเชียงใหม่พื้นที่เข้ายากคือ อ.ดอยเต่าและ อ.ฮอด ซึ่งปีนี้จะต้องหาพื้นที่เป้าหมายแตกหักเพื่อลดจุดความร้อนให้ได้

ปีนี้เพื่อให้การทำงานสัมฤทธิ์ผล ขอให้ 3 จังหวัดคือเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก ลดปริมาณจุดความร้อนลงจากปีก่อนโดยให้ตั้งเป้าไว้ที่ 50% สำหรับพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงการเกิดปัญหา ให้ทางจังหวัด อำเภอประสานหน่วยงานกำลังในพื้นที่ ทางศอ.ปกป.ภาค(สน.)จะส่งกำลังพลลงไปในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะป้องปรามพวกลักลอบเข้าไปหาของป่า และต้องใช้กลยุทธ์แบบนี้คือให้ผู้ใหญ่บ้านลงทะเบียนลูกบ้านที่เข้าป่าไว้ และหากมีพื้นที่ป่าถูกเผาก็ให้แจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่เข้าไปหาของป่า นอกจากนี้ให้ 9 จังหวัดทำพื้นที่เป้าหมายไว้ 3 อำเภอที่เป็นจุดเสี่ยง โดยขอให้ดูจากสถิติจากปีก่อนว่าจุดความร้อนอยู่ตรงไหน ซึ่งหากทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติแบบนี้และสอดรับกันก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวด้วยว่า ทางทหารพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกำลังพลในทุกพื้นที่ ขอให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนทั้งเบี้ยเลี้ยงและอุปกรณ์เครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปีนี้จะต้องชัดเจน เห็นผลเป็นรูปธรรมด้วย.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้