แม่ทัพภาคที่ 3 ทุบโต๊ะสั่งปิดป่า 7 วันระหว่าง 25-31 มี.ค.61 หลังใช้ไม้อ่อนไม่ได้ผล หวั่นกระทบสุขภาพประชาชนและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

แม่ทัพภาคที่ 3 ทุบโต๊ะสั่งปิดป่า 7 วันระหว่าง 25-31 มี.ค.61 หลังใช้ไม้อ่อนไม่ได้ผล หวั่นกระทบสุขภาพประชาชนและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

แม่ทัพภาคที่ 3 ทุบโต๊ะสั่งปิดป่า 7 วันระหว่าง 25-31 มี.ค.61 หลังใช้มาตรการขอความร่วมมือไม่ได้ผล หวั่นกระทบสุขภาพประชาชนและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมสร้างความชุ่มชื้น โดยเฉพาะจุดก่อสร้าง ด้านผู้ว่าฯเชียงใหม่ขอทหารเสริมเหตุชาวบ้านไม่กลัวยังลอบเข้าป่าเผา ขณะที่ผู้ว่าฯเชียงรายแจงใช้ทั้งไม่อ่อน-ไม้แข็งคุมสถานการณ์จนได้รับคำชม

วันที่ 23 มี.ค.61 ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ระดับภาคส่วนหน้า กองทัพภาคที่ 3  ป.พัน.7 พล.ร.7  ค่ายพระปิ่นเกล้า  อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์   สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดใน 9 จังหวัดภาคเหนือพร้อมด้วยผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

พล.ท.วิจักขฐ์   สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า เหตุที่ต้องเรียกประชุมเร่งด่วนเนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันไม่ได้ลดลงอย่างที่ประเมินไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนว่าจะมีพายุฤดูร้อนและมีฝนตก แต่การพยากรณ์ผิดพลาด ฝนก็ตกน้อยมากและตกในพื้นที่ที่ไม่ได้มีปัญหาและหากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้เกรงว่าจะมีผลกระทบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงท่องเที่ยว และหากมีภาพประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสวมหน้ากากปรากฏในสื่อก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาภาคเหนือได้

“ผมจะขอหารือว่าเราจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดมั้ย เพราะจังหวัดที่ประกาศห้ามเผาล่าสุดตั้งแต่ 1 มี.ค.เป็นต้นมาก็ยังพบว่ามีชาวบ้านเผาป่า และเพิ่งได้รับร้องเรียนจากประชาชนเมื่อวานนี้ว่าพบการเผาป่าข้างทางระหว่างจังหวัดน่านอีก ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้มาตรการขอความร่วมมือและรณรงค์ไปแล้ว ซึ่งถือว่าใช้ไม้อ่อนจนหมดหน้าตักแต่สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น ตอนนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็เป็นห่วงมาก กำชับมาแล้ว โดยเฉพาะที่ตากที่ค่าฝุ่นเกินกว่าปีที่ผ่านมา แต่หากจะนำสถิตินี้ไปพูดกับรัฐบาลไม่ได้ แม้ว่าจะลดลงจริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กำชับแล้วว่าให้ดูสถานการณ์ตามความเป็นจริง”แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวและว่า

ผมนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปตากก็เห็นละว่ายังมีไฟป่าเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเขตแม่สอด พบพระและท่าสองยาง นอกจากนี้ก็ยังฝุ่นจากการก่อสร้างถนน ขยายรันเวย์ ที่สำคัญเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศก็อยู่ตรงนั้นเพราะฉะนั้นท่าสายลวดค่าฝุ่นฯจะเกินมาตรฐานไปอีกนาน และฝนก็ไม่ตกด้วย ด้วยเหตุนี้ผมจะใช้อำนาจผบ.กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาคที่ 3 ให้ใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมผู้กระทำผิด คือผู้ที่จุดไฟเผาป่า เพราะพูดมา 2 เดือนเต็มแต่ยังมีคนบางกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือ และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจจะขยายระยะเวลาห้ามเผาออกไปอีก

ด้าน พล.ท. สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่าปีนี้สถิติการเกิดจุดความร้อนหรือ Hot Spot รวมทั้งค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ pm10 เมื่อเทียบกับปี 2560 ปีนี้ต่ำกว่าถึง 31.64% แต่ยังมี 5 จังหวัดที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานคือเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และตาก และจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานก็ลดน้อยลง ซึ่งการควบคุมจุดความร้อนในช่วงเดือนมีนาคมเทียบกับปีก่อนมี 3,257 จุด แต่ปีนี้ควบคุมเหลือเพียง 1,195 จุด ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 55.51 ซึ่งก็ถือว่าแต่ละจังหวัดกำหนดมาตรการได้ประสบความสำเร็จและได้นำมาตรการนี้ไปวางแผนในเดือนเมษายนด้วย

โดยเดือนเม.ย.ปีที่แล้วจุดความร้อนสะสมอยู่ที่ 1,150 จุด ซึ่งในเดือนเม.ย.ปีนี้ ศูนย์ฯจะประสานกับ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อควบคุมไม่ให้จุดความร้อนสะสมเกิน 690 จุด และถ้าสิ้นเดือนเม.ย.ก็จะครบ 5 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีจุดความร้อนลดลงได้ 35-40% โดยสถานการณ์โดยรวมถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้เรื่องจุดความร้อนของเชียงใหม่ดีกว่าที่ผ่านมาแต่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน 7 วัน และการทำฝนเทียมก็ไม่ได้ผล แล้วสถานการณ์ก็เปลี่ยนจากปีก่อนจากที่เคยเกิดสถานการณ์ไฟป่าในทางตอนใต้ปีนี้ก็เปลี่ยนมาทางตอนเหนือ ซึ่งจังหวัดก็ปรับแผนและนำข้อมูลมาวิเคราะห์มีการวางแผนร่วมกับทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ส่วนจัดการป่าไม้ที่ 1 ในการจัดชุดลาดตระเวน สับเปลี่ยนกำลังและนำกำลังจากพื้นที่มาเสริมเพื่อลาดตระเวนให้ถี่ขึ้น โดยแยกชุดดับไฟออกจากชุดลาดตระเวน

“ปัญหาคือชาวบ้านไม่กลัวชุดลาดตระเวนที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน จนท.ป่าไม้ แต่กลัวทหารมากกว่า สิ่งที่จังหวัดอยากได้เสริมคือกำลังพลในการร่วมลาดตระเวนหรือป้องปราม”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การที่มีการยกตัวอย่างว่าปีนี้เชียงรายแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันได้ดีนั้น เชื่อว่าทุกจังหวัดก็ทำกันอย่างเต็มที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา แต่อาจจะไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ซึ่งเชียงรายเองก็ดำเนินการใน 3 มาตรการคือช่วงเตรียมพร้อมเริ่มตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้วโดยลงพื้นที่กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่าจะเกิดอะไรขึ้นโดยใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนมีการลงพื้นที่จนถึงเดือนมกราคม โดยเฉพาะ 6 อำเภอเป้าหมายจะมีผู้ว่าฯหรือรองผู้ว่าฯเป็นประธานลงพื้นที่เอง

ในส่วนของชุดลาดตระเวนจะใช้ตำบลละ 30 คนต่อวันและรวมกันจากทุกหน่วยทั้งทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่และประชาชนแล้วเอางบที่ใช้ของแต่ละหน่วยงานมากองและให้เบิกจ่ายตามสิทธิ์ของหน่วยงานนั้นมีการต่อจิ๊กซอร์แบบนี้ไปทุกหมู่บ้าน ส่วนพื้นที่ที่เป็นรอยต่อก็จะมอบหมายให้รองผู้ว่าฯลงไป กำชับ ผู้นำท้องถิ่นให้เข้าใจและถ่ายทอดให้ลูกบ้าน ยอมรับปีแรกที่เชียงรายทำแบบนี้โดนด่ามาก แต่ปีนี้ก็ได้รับความร่วมมือดีเพราะทุกคนเห็นแล้วว่าถ้ามีปัญหาคนไม่มาเชียงรายและยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ด้วย

หลังจากผู้ว่าฯและรองผู้ว่าฯที่เข้าร่วมประชุมเสนอข้อมูลและปัญหาอุปสรรคต่างๆ แล้ว พล.ท.วิจักขฐ์ ได้กล่าวสรุปในที่ประชุมว่า เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ขอให้ผู้ว่าฯทั้ง 9 จังหวัดออกประกาศใช้อำนาจผู้ว่าฯสั่งปิดป่าในระหว่างวันที่ 25-31 มีนาคม 2561 เป็นเวลา 7 วัน และให้แต่ละจังหวัดประชุมและรณรงค์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างทั้งของรัฐและเอกชนให้สร้างความชุ่มชื้น เพื่อลดปัญหาฝุ่นจากการก่อสร้าง รวมทั้งฝุ่นควันจากยวดยานพาหนะ และขอความร่วมมือสำนักฝนหลวงให้ทำฝนเทียมในพื้นที่เพ่งเล็ง 3 จังหวัดคือเชียงใหม่ ลำปางและตาก

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ให้ใช้จิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมของท้องถิ่น รณรงค์เรื่องลดความร้อนจากไฟป่าและหมอกควัน โดยให้ท้องถิ่นและท้องที่จับมือกันในช่วง 7 วันนี้ออกรณรงค์ รวมถึงใช้กำลังพลของทหารไปร่วมด้วย โดยตนจะประสานกับทางผู้บัญชาการภาค 5 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ส่วนผู้ที่นำภาพเก่ามาเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียแล้วสร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดภาพลบ หรือไม่สร้างสรรค์ต่อพื้นที่ก็จะดำเนินการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน

“ในช่วง 7 วันที่ประกาศปิดป่าถือเป็นมาตรการเสริมจากประกาศ 60 วันห้ามเผาเด็ดขาดซึ่งยังเป็นมาตรการหลักและมีมาตรการทางกฎหมายสำหรับผู้ฝ่าฝืน โดยช่วงต้นเดือนเมษายนก็จะประเมินดูว่าปัญหาไฟป่าจะลดลงหรือไม่ หากจุดความร้อนและค่าpm10 ลดลงก็จะได้รายงานรัฐบาลว่าเป็นเพราะเราใช้มาตรการหลัก มาตรการรองโดยได้รับความร่วมมือจาก 9 จังหวัดภาคเหนือมาจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันปีนี้”พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าว.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้