โต้คลื่นฝ่ากระแส มุ่งหน้าสู่ฝัน เฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน อู๋ จื้ออู่   กงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่

โต้คลื่นฝ่ากระแส มุ่งหน้าสู่ฝัน เฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน อู๋ จื้ออู่   กงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่

- in Exclusive, headline, อาเซียน +3

โต้คลื่นฝ่ากระแส มุ่งหน้าสู่ฝัน

เฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

อู๋ จื้ออู่   กงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่

1 ตุลาคม 2565

 

วันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวาระแห่งการเฉลิมฉลองสำหรับชาวจีนทั้งในและต่างประเทศนี้ ข้าพเจ้าขอส่งคำอวยพรไปยังเพื่อนร่วมชาติ และร่วมแบ่งปันความภาคภูมิใจและความสุขของพวกเราให้กับเพื่อน ๆ ทุกสาขาอาชีพในพื้นที่เขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่จีนประจำเชียงใหม่

วันนี้เมื่อ 73 ปีก่อน รัฐบาลประชาชนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้น ทำให้ประเทศจีนก้าวกระโดดจากระบอบศักดินาที่สืบทอดมานับพันปีสู่ระบอบประชาธิปไตยของประชาชน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบอบการปกครองครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งปลุกให้ทุกชนชาติและประชาชนที่ถูกกดขี่ทั่วโลกลุกขึ้นต่อสู้เพื่อการปลดแอก ตลอด 73 ปีที่ผ่านมา ประชาชนชาวจีนได้ก้าวผ่านการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงระยะเวลาแห่งการปฏิวัติและการสร้างสรรค์สังคมนิยมนั้น จีนได้ก่อตั้งระบอบสังคมนิยมขั้นพื้นฐานขึ้น บรรลุการปฏิรูปสังคมในขอบเขตกว้างที่สุดและมีระดับลึกซึ้งที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาชาติจีน บรรลุการก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากประเทศขนาดใหญ่ที่ยากไร้และมีประชาชนจำนวนมากสู่สังคมนิยม ในยุคใหม่ของการปฏิรูปและเปิดประเทศและการสร้างสรรค์สังคมนิยมสมัยใหม่ ประเทศจีนได้บุกเบิกหนทางที่ถูกต้องอย่างไม่ลดละในการสร้างสรรค์สังคมนิยม และประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามทางประวัติศาสตร์ จากประเทศที่มีพลังการผลิตที่ค่อนข้างล้าหลังมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองในโลก

นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เมื่อปี พ.ศ. 2555 ระบอบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจีนก็ได้เข้าสู่ยุคใหม่ เศรษฐกิจของจีนมีการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง พลังรวมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จีนได้บรรลุเป้าหมายการบากบั่นต่อสู้แห่งศตวรรษแรก คือ การสร้างสังคมพอกินพอใช้ทุกด้านบนดินแดนจีนและแก้ไขปัญหาความยากจนสัมบูรณ์เชิงประวัติศาสตร์ได้สำเร็จลุล่วง อีกทั้งยังกำลังก้าวสู่เป้าหมายแห่งศตวรรษที่สอง คือ การสร้างประเทศที่มีความเข้มแข็งและทันสมัยแห่งสังคมนิยมในทุกด้าน ประชาชาติจีนได้บรรลุการก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ จากการลุกขึ้น มั่งคั่งขึ้น มาเป็นเข้มแข็งขึ้น การบรรลุการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีนนั้นได้เข้าสู่กระบวนการเชิงประวัติศาสตร์ที่ต้องเป็นไปอย่างมั่นคงแล้ว

ในปี พ.ศ. 2564 GDP ของจีนสูงถึง 17.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งคิดเป็น 18.5% ของเศรษฐกิจโลกและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกประมาณ 25% ทำให้จีนกลายเป็นพลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก  GDP ต่อหัวของจีนอยู่ที่  12,551 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และเข้าใกล้เกณฑ์ของผู้มีรายได้สูงซึ่งกำหนดโดยธนาคารโลก ประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในด้านการค้าสินค้า และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และเป็นอันดับสองของโลกในด้านการค้าภาคบริการ การลงทุนในต่างประเทศ และตลาดอุปโภคบริโภค

นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะซับซ้อนและตึงเครียด เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศหลายแห่งหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่คาดคิดไม่ถึงได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของจีนที่มีความยืดหยุ่นสูงและมีศักยภาพมาก ทำให้แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจในทางที่ดีไม่มีการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์การฟื้นฟูความมั่นคงอย่างต่อเนื่องไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเงื่อนไขการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจีนได้ประสานงานการป้องกันและควบคุมโรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินการตามแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ด้วยนวัตกรรม ความสมดุล ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดกว้าง และการแบ่งปัน  เร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาแบบใหม่ที่หมุนเวียนภายในประเทศเป็นหลัก และยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานในประเทศและต่างประเทศที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ทำให้การเกิดโรคระบาดระลอกใหม่ในประเทศได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจภาคประชาชนมีเสถียรภาพและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สามารถรักษาสังคมที่มีเสถียรภาพได้โดยรวม

“เรือเมื่อแล่นสู่กลางสายน้ำ ย่อมเจอกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกว่า” บนเส้นทางการบรรลุความฝันในการฟื้นฟูความรุ่งเรืองของประชาชาติจีนนั้น พวกเรามีความมั่นใจที่เต็มเปี่ยม ประเทศจีนมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำที่แข็งแกร่ง มีข้อได้เปรียบของระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมที่สามารถระดมกำลังเพื่อทำภารกิจใหญ่หลวงได้ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักประกันพื้นฐานที่ทำให้แน่ใจได้ว่า จีนจะสามารถรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมในระยะยาวได้ การที่จีนมีรากฐานทางวัตถุที่สมบูรณ์ซึ่งสั่งสมมานาน มีทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย มีระบบอุตสาหกรรมที่ครบวงจร และมีศักยภาพที่แข็งแกร่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ตลอดจนมีขนาดตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพมากที่สุดของโลก ทำให้จีนมีแรงสนับสนุนขั้นพื้นฐานในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสามารถต้านทานความเสี่ยงจากภายนอกได้

จีนจะยึดมั่นในหนทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ และจะยืนหยัดส่งเสริมการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีนด้วยหนทางสู่ความทันสมัยแบบจีน ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา จีนจะพยายามช่วยให้ประเทศอื่นๆ พัฒนาไปพร้อมๆ กันกับจีน เมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้นำเสนอข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก และข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก ตามลำดับ โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันเพื่อรับมือกับความท้าทายและสร้างอนาคตร่วมกัน ข้อริเริ่มทั้งสองสอดรับและส่งเสริมซึ่งกันและกัน บูรณาการเรื่องสันติภาพและการพัฒนา ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่สำคัญแห่งยุคสมัยเข้าด้วยกัน นับเป็นการเสนอภูมิปัญญาและวิธีการของจีนให้กับประเทศต่างๆ  เพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

วันที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 กำลังจะจัดขึ้น การประชุมครั้งนี้จะกำหนดเป้าหมายภารกิจและนโยบายที่สำคัญของการพัฒนาของจีนในอีก 5 ปีข้างหน้าและวางแนวทางต่อจากนั้น จีนจะยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่เป็นสันติและอิสระ จีนจะยังชูธงแห่งสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และการเอื้อประโยชน์ร่วมกัน ยึดมั่นในการปกป้องสันติภาพของโลก ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน และส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เป็นหุ้นส่วนที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี และเป็นญาติมิตรที่ดี ที่มีความสามัคคีกลมเกลียวและร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายมีการเยี่ยมเยียนกันระหว่างผู้นำระดับสูงบ่อยครั้ง และมีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่ประสบผลสำเร็จมากมาย ความสัมพันธ์จีน-ไทยมีความเข้มแข็งที่มากขึ้น เป็นแบบอย่างสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีระบอบสังคมที่แตกต่างกัน ปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 10 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทยอีกด้วย  ท่านหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ และได้บรรลุฉันทามติที่สำคัญกับฝ่ายไทยที่จะร่วมกันสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน จีนและไทยมีเป้าหมายและแนวทางที่คล้ายคลึงกันในการพัฒนา ตลอดจนมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยมากมายสำหรับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอนาคต เราจึงเชื่อมั่นว่า ภายใต้ความพยายามร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

นับตั้งแต่ปีนี้ ข้าพเข้าได้เดินทางไปเยือนจังหวัดต่างๆ ในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่จีนฯ ซึ่งได้พบปะพูดคุยและติดต่อประสานงานกับบุคคล จากส่วนราชการและวงการต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้า การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงมิตรภาพที่ทุกสาขาอาชีพในภาคเหนือของไทยที่มีต่อชาวจีน ตลอดจนความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย  สืบเนื่องจากการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ระบบเครือข่ายรางรถไฟจีน ลาว และไทยมีการเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ “ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลแห่งใหม่” ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงมีความสะดวกยิ่งขึ้น ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะช่วยยกระดับให้ภาคเหนือของไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในด้านความร่วมมือและการพัฒนาระดับภูมิภาค สถานกงสุลใหญ่จีนฯ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศจีนกับภาคเหนือของไทย ส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ผลักดันข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ “กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง” ในภาคเหนือของไทย ให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับความร่วมมือระหว่างจีนและภาคเหนือของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ

ขออวยพรให้ประเทศจีนและประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง   ประชาชนของทั้งสองประเทศอยู่เย็นเป็นสุข

You may also like

มช. จัดงาน CMU Education Expo 2025 อย่างยิ่งใหญ่ ขนทัพวิทยากรชั้นนำจากทั่วประเทศมาให้ความรู้แบบจัดเต็ม ฉลองครบรอบ 60 ปี สร้างมิติใหม่ด้านการศึกษาเพื่อความยั่งยืน

จำนวนผู้