รองนายกรัฐมนตรีเสนอขอใช้งบกลาง 98 ล้านบาท สร้างแก้มลิงกักเก็บน้ำโครงการแม่แตง(Water Bank) ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9ในพื้นที่กองการสัตว์ฯร่วม 100 ไร่ คาดใช้เวลาดำเนินการ 5 – 6 เดือนแล้วเสร็จ หวังให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ที่บริเวณพื้นที่แก้มลิง ภายในค่ายตากสิน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำโครงการแม่แตง(Water Bank) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการร่วมระหว่างกองทัพบก โดยกรมการทหารช่างและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน
พ.อ.ยอดธง สำราญ ผอ.กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 กรมการสัตว์ทหารบก กล่าวถึงความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับปฏิบัติภารกิจของหน่วย ซึ่งมีภารกิจในการผลิต ฝึกและใช้สัตว์ทางทหารสนับสนุนกองทัพบก ในการขนส่งสิ่งของอุปกรณ์ในภารกิจป้องกันชายแดนในพื้นที่ของกองกำลังสุรสีห์ กองกำลังผาเมืองและกองกำลังนเรศวรซึ่งการขนส่งประเภทอื่นไม่สามารถดำเนินการได้ และการผลิต ฝึกและใช้สัตว์ทหารทหารดังกล่าวแล้ว ยังจำเป็นต้องผลิตพืชอาหารสัตว์ ทั้งหญ้าสดและหญ้าฟ่อนำหรับการปฏิบัติบำรุงสัตว์ทางทหารของหน่วย
ปัจจุบันสัตว์ทางทหารของหน่วยมีจำนวน 832 ตัว มีความต้องการหญ้าสดจำนวน 8,320 กิโลกรัมต่อวัน 3,036,800 กิโลกรัมต่อปี หญ้าฟ่อนแห้งจำนวน 7,072 กิโลกรัมต่อวัน 2,581,280 กิโลกรัมต่อปี ในการผลิตหญ้าสดและหญ้าฟ่อน รวมถึงการปฏิบัติบำรุงเลี้ยงดูสัตว์ทางทหารของหน่วยจำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ใช้ในการปฏิบัติผลิตพืชอาหารสัตว์และเลี้ยงดูสัตว์ขาดแคลนเป็นอย่างมาก กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 กองพันสัตว์ต่างและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง สำนักชลประทานที่ 1 จึงได้บูรณาการการจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ของหน่วยทั้งสองหน่วยด้วยการขุดลอกบ่อที่เก็บกักน้ำซึ่งมีอยู่เดิม 4 แห่ง ในพื้นที่กองการสัตว์ฯ 3 แห่ง คือบ่อเก็บกักน้ำพื้นที่ 40 ไร่ 20 ไร่และ 10 ไร่และที่กองพันสัตว์ต่างพื้นที่ 40 ไร่ รวมพื้นที่ 100 ไร่ให้สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอและมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจทางทหารและช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้กับประชาชนด้วย
ทางด้านนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ฝายแม่แตงเป็นโครงการชลประทานประเภทเหมืองฝาย ทำหน้าที่ยกระดับน้ำในลำน้ำแม่แตงเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวายาวรวม 74.558 กม. เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรใน 5 อำเภอ คือ อำเภอแม่แตง , อำเภอแม่ริม , อำเภอเมือง , อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง พื้นที่ชลประทานปัจจุบัน ๙๙,๒๙๘ ไร่ นอกจากนี้ยังต้อง มีการส่งน้ำให้การใช้น้ำภาคอื่นๆ เช่น น้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาให้กับประปาภูมิภาคเชียงใหม่, ประปาหางดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ประปากองบิน 41 น้ำเพื่อระบบนิเวศน์ วัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยส่งน้ำเข้าคูเมืองเชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์, น้ำแม่ข่าเพื่อผลักดันน้ำเสีย, พืชสวนโลก, ไนท์ซาฟารี, ศูนย์ประชุมฯ ฯลฯ
ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 กล่าวอีกว่า เนื่องจากน้ำแม่แตงไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงมีน้ำมากเกินความต้องการในฤดูฝน และมีน้ำน้อยในฤดูแล้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี ในอดีตปี 2558 จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำไหลในแม่น้ำปิงมีน้อยที่สุดในรอบ 96 ปี สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ประเมินสถานการณ์ว่าต้องเกิดการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จึงได้วางแผนรับมือร่วมกับ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง โดยดำเนินโครงการ Water Bank ซึ่งมุ่งประเด็นช่วยเหลือน้ำในการอุปโภค – บริโภค เป็นอันดับแรกด้วยการสูบน้ำในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเกษตรกรอยู่ในระหว่างการเก็บเกี่ยว จากคลองแม่แตงเข้าสู่สระเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ของส่วนราชการจำนวน 5 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 1,091,000 ลบ.ม. และสูบกลับเข้าคลองเพื่อส่งน้ำช่วยเหลือในช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม 2559 ที่ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ และได้ดำเนินการจนผ่านเหตุการณ์วิกฤตดังกล่าวลุล่วงได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มในการใช้น้ำอุปโภค – บริโภค เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีเทศกาล, กิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปี สำนักงานชลประทานที่ 1 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จึงเสนอโครงการแก้มลิงในพื้นที่หน่วยราชการต่าง ๆ บริเวณข้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของฝายแม่แตงเพื่อเก็บน้ำส่วนเกินในฤดูฝน และทยอยนำกลับมาใช้ในฤดูแล้ง ในลักษณะการฝากน้ำหรือ Water Bank จำนวน 6 แห่ง ความจุรวม 3,500,000 ลบ.ม. อย่างไรก็ดี หากโครงการผันน้ำ แม่แตง – แม่งัด – แม่กวง ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2564 จะส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่มีความมั่นคงในด้านน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค น้ำเพื่อระบบนิเวศน์ และวัฒนธรรม และน้ำเพื่อการเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการจัดหาพื้นที่จัดทำแก้มลิงเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2558 เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ซึ่งปัจจัยปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ ไม่มีพื้นที่เพียงพอในการจัดทำแก้มลิง ทั้งนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการขอใช้พื้นที่ของส่วนราชการ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มาจัดทำแก้มลิง สำหรับพื้นที่ในค่ายตากสิน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากแม่น้ำแตง ซึ่งมีปริมาณน้ำมากเกินความต้องการในฤดูฝน และมีน้ำน้อยในหน้าแล้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี ซึ่งการทำแก้มลิงนั้นต้องสามารถนำน้ำเข้ามากักเก็บ และปล่อยออกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เป็นการเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้งเท่านั้น แต่ให้เป็นการเก็บไว้ใช้เพื่อการท่องเที่ยว และการอุปโภค บริโภคด้วย
“โครงการนี้เป็นการดำเนินการจัดทำแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งผมจะนำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำต่อคณะรัฐมนตรี เป็นกรณีเร่งด่วน โดยจะนำเสนอขอใช้งบประมาณ งบกลาง เพื่อให้การดำเนินการจัดทำแก้มลิงแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 – 6 เดือน เพื่อใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2561 และจากการประสานงานเบื้องต้นกับทางสำนักงบประมาณจะใช้งบกลางมาดำเนินการในโครงการนี้จำนวน 98 ล้านบาทซึ่งก็จะให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้แน่นอน”รองนายกรัฐมนตรี กล่าว.