สถานการณ์ไฟป่ารุนแรง ค่าฝุ่นpm2.5 เชียงใหม่พุ่ง สำนักฯ16 สั่งงดชิงเผาระหว่างวันที่ 27-29 ก.พ.เป็นรอบที่ 2 เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นให้มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนน้อย ขณะที่พื้นที่ชิงเผาที่ดำเนินการแล้วป 156,322 ไร่และจุดความร้อนที่เกิดจากการชิงเผาลบข้อมูลออกจากสถิติ 153 จุด
สถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นpm2.5 จังหวัดเชียงใหม่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะไฟกลางคืนซึ่งดาวเทียม VIIRจับจุดความร้อนรอบเวลา 02.01 น.จังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 142 จุดพบในพื้นที่อำเภอ,แม่แจ่ม 52 จุด,ฮอด 42 จุด,ดอยเต่า 11 จุด,เชียงดาว 8 จุด,แม่แตง 7 จุด,จอมทอง 6 จุดพร้าว 4 จุด,อมก๋อย 4 จุด,สะเมิง 3 จุด,ดอยสะเก็ด 3 จุด,สันทราย 1 จุดและไชยปราการ 1 จุด
สำหรับคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือจากศูนย์สื่อสารการแก้ไขมลพิษทางอากาศพบว่า ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย, น่าน ,แม่ฮ่องสอน, พะเยา ,ลำพูน , ลำปาง ,เชียงใหม่, .แพร่ , อุตรดิตถ์ ,สุโขทัย,ตาก,กำแพงเพชรและเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 25.9 – 97.3 มคก./ลบ.ม.นอกจากนี้ยังคาดการสถานการณ์ฝุ่นละออง 7วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงวันที่ 1-3 มีนาคม 2567
จากการคาดหมายการระบายอากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ คาดหมายแนวโน้มอัตราการระบายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเย็น กลางคืน จนถึงช่วงเช้าของทุกวันอากาศระบายได้น้อยมาก (สภาพอากาศปิด) เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หรือฝุ่นควัน เนื่องจากอากาศมีการยกตัวได้น้อย และอากาศจมตัวช่วงเวลานี้ฝุ่นละอองหรือฝุ่นควันจะเกิดการสะสมได้ส่วนในช่วง (ประมาณ 13.00-18.00 น.) อากาศสามารถระบายได้ โดยในวันที่ 26 ก.พ. 67 อากาศระบายได้ระดับดี และ ส่วนวันที่ 27 ก.พ. 67 ถึง วันที่ 5 มี.ค. 67 อากาศระบายได้ระดับดีมาก
นายกริชสยาม คงสตรี ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้แจ้งใน WAR ROOM ศูนย์บัญชาการฯสบอ.16 ให้ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า,หัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทุกแห่งและหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า ทุกสถานีให้งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงระหว่างวันที่ 27 – 29 กพ.67 เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่ามีความรุนแรง ประกอบกับ อัตราการระบายอากาศต่ำ ส่งผลให้ค่า PM 2.5 สูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากศูนย์อำเภอที่รายงานวอร์รูมจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือชิงเผาของอช.ศรีลานนา 17 แปลงเนื้อที่ 2,493 ไร่ และอช.อินทนนท์ 7 แปลง 540.23 ไร่ และข้อมูลจากระบบ FireD มีคำขอรวมตั้งแต่ 1 ม.ค.-26 ก.พ.67 รวม 5,200 คำขอ 166,826.4 ไร่ อนุมัติให้ดำเนินการ 4,799 ราย 156,322.9 ไร่ มีการรายงานผลการดำเนินการ 3,201 ราย 117,910.2 ไร่ โดยจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจจับได้เป็นจุดความร้อนที่เกิดในพื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือ Hotspot สีเขียวและลบออกจากข้อมูลจำนวน 153 จุด.