รองนายกรัฐมนตรีพอใจผลงาน 3 ปีศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยมีความก้าวหน้า วางกรอบ 6 ประเด็นหลักหารือให้ได้ข้อสรุปเพื่อลดปัญหายาเสพติด โดยเห็นพ้องลงนามรับรองอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิกเพื่อยกระดับความร่วมมือก่อนสิ้นแผน
วันที่ 19 มกราคม 2561 เวลา 09.40 น. ที่ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขง ปลอดภัย จังหวัดเชียงใหม่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong Coordination Centre – SMCC) ประจำปี 2561 พร้อมด้วยนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สะอาดพรรค,น.ส.ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,นายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 และพล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 โดยมี นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.), นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. คณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ และหารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม
พล.อ.อ.ประจิณ กล่าวว่า โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ริเริ่มโครงการฯ โดยประเทศจีน มาตั้งแต่ปี 2556 และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการของการดำเนินงานมาโดยลำดับ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิก ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในลุ่มแม่น้ำโขง และพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยแต่ละประเทศจัดสรรทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณ กำลังพล และเครื่องมืออุปกรณ์เข้ามาดำเนินการ ตามศักยภาพ และกรอบอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ
มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตยาเสพติด ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ และในขณะเดียวกันก็สกัดกั้นยาเสพติดที่ผลิตจากสามเหลี่ยมทองคำไม่ให้ออกไปแพร่กระจายในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยประเทศสมาชิกได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยเป็นศูนย์กลางการประสานงานของทุกประเทศ และได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศจีน เมียนมา และไทย ได้รับเป็นเจ้าภาพมาแล้ว สำหรับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4
การจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ในครั้งนี้ ของประเทศไทย ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทย โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยเป็นการถาวร เป็นแบบอย่างนำร่องให้กับประเทศสมาชิกต่างๆ ได้ถือเป็นแนวทาง โดยการประชุมวันนี้ได้ร่วมหารือในสาระสำคัญ 6 เรื่อง คือ 1. การสร้างเป้าหมายร่วมกันที่จะดำเนินการต่อพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 2. การยกระดับความร่วมมือในการดำเนินการในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
- การให้ความสำคัญของการสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด 4. การผนึกกำลังร่วมกันของทั้ง 6 ประเทศในการกำหนดเครือข่ายการผลิต และค้ายาเสพติดที่สำคัญ ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 5. การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และ 6. อนาคตของความร่วมมือกันของ 6 ประเทศ ซึ่งจะต้องมีการทำแผนความร่วมมือในการสกัดกั้น และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำต่อไปอีกและน่าจะเป็นแผนระยะยาว
โดยอาจใช้ระยะเวลาเดียวกันกับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และ แผนความร่วมมือนี้ จะเป็นแผนความร่วมมือด้านยาเสพติด แบบที่ทั้ง 6 ประเทศได้ดำเนินการมาแล้วในโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ระยะ 3 ปี (2559 – 2561) ที่กำลังใช้อยู่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทั้ง 6 ประเทศที่จะแลกเปลี่ยนความคิด สถานการณ์ การกำหนดเป้าหมาย การเสนอมาตรการ และแผนงาน โดยเสนอให้ครอบคลุมมาตรการต่างๆ ที่ทำมาแล้ว รวมทั้ง มาตรการการพัฒนาทางเลือกเพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร
ซึ่งหากทุกประเทศได้ดำเนินการและเห็นพ้องกันแล้ว ควรจะมีการลงนามให้การรับรองอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือในด้านยาเสพติดอย่างแท้จริง ในช่วงก่อนเสร็จสิ้นแผน ระยะ 3 ปีนี้ ซึ่งจะได้มีการหารือกันต่อไป ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันที่จะร่วมปฏิบัติการตามโครงการแม่น้ำโขง ปลอดภัยอย่างเต็มความสามารถ เพื่อช่วยลดปัญหายาเสพติดในสังคมโลกให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า การประชุมในครั้งนี้ยังจะเป็นการสรุปผลการดำเนินงานในช่วงตั้งแต่ปี 2559-2561 และทำแผนพัฒนาร่วมกันเพราะยาเสพติดเป็นภัยคุกคามประเทศทั้งหมด และกระทบทั้งอาเซียนและนอกอาเซียน ซึ่งจะมีการประเมินถึงมาตรการและพัฒนาแผนควบคู่กันไปกับการปราบปราม การป้องกันและการรักษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อที่จะยุติและลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติดให้ได้
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลงานที่ดีโดยเฉพาะในการสร้างความรู้ ความเข้าใจและเห็นถึงปัญหายาเสพติดที่ต้องร่วมกันปิดล้อม ปัจจัยสำคัญคือยาเสพติดออกนอกประเทศทั้งพืชเสพติดและสารตั้งต้นต้องมีการปิดกั้นไม่ให้มีการลำเลียงได้ก็ต้องมาดูถึงกรอบความร่วมมือและวิธีการทำงานร่วมกัน ซึ่งก็จะใช้มาตรการเด็ดขาดควบคู่ไปกับการสกัดกั้นกลุ่มที่เชื่อมโยงขบวนการลักลอบผลิตและขาย และยังพบว่ายาเสพติดยังมีปริมาณมากขึ้นและเล็ดลอดออกไปจำหน่ายได้อีก ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือสภาพภูมิศาสตร์ ที่ตั้งซึ่งเป็นของชนกลุ่มน้อยมีทั้งรัฐฉาน ว้าและคาบเกี่ยวกับอีกหลายประเทศ”พล.อ.อ.ประจิณ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สิ่งที่จะพูดคุยในระดับนโยบายต่อไปคือ หลังคุยกับผู้รับผิดชอบด้านการปราบปรามแล้ว จะต้องยกร่างในแผนและให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล การใช้ทรัพยากรและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะต้องทำให้เร็วที่สุด ถ้าสามารถทำได้ตามที่มีการวิเคราะห์โดยการปิดล้อมแหล่งผลิตที่อยู่ในภูมิศาสตร์ทั้งการเข้า-ออก ซึ่งจะทำควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ศาสตร์พระราชาอย่างที่จีนทำที่ชายแดนจีน-เมียนมา แต่ก็ยังมีเรื่องความอ่อนไหวบางจุดที่สำคัญที่ต้องระวัง และคนในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งการหารือในวันนี้จะต้องได้ข้อสรุป
จากนั้น พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ ของ กองกำลังผาเมือง ตำรวจภูธรภาค 5 และตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่อีกด้วย