เชียงใหม่ / ทต.แม่ข่า-ทต.ทุ่งหัวช้าง ผนึกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และ สสส. จัด “ล้านนาฮอมสุข มัดปุ๊กสุขภาวะ สานพลังชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ถอดบทเรียน ปัจจัยสู่ความสำเร็จ 4 เรื่อง เพื่อนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่อย่างยั่งยืนเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ร่วมกับศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที“ล้านนาฮอมสุข มัดปุ๊กสุขภาวะ สานพลังชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนด้วยทุนทางสังคม และศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นสู่การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 30 แห่ง จาก 1,264 แห่ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คนนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคเหนือ สสส. กล่าวว่า การจัดเวทีล้านนาฮอมสุขฯ ครั้งนี้ เพื่อสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคเหนือ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติการสุขภาวะชุมชนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และขยายผลแนวคิด กำหนดทิศทางในการจัดการสุขภาวะชุมชนในระดับเครือข่ายให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่ง ทต.แม่ข่า และ ทต.ทุ่งหัวช้าง รวมทั้งเครือข่าย เป็นต้นแบบที่มีรูปธรรมความสำเร็จจากการดำเนินงานที่ชัดเจน“ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ คือ การมี 4 องค์กรหลัก อันได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), ท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, องค์กรชุมชน เช่น กลุ่มสตรี ชมรมผู้สูงอายุ อสม., หน่วยงานรัฐในพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งองค์กรศาสนา และเน้นย้ำบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นที่เข็มแข็งใน 4 ข้อ คือ 1. ต้องทำงานร่วมกันได้ โดย “แสวงจุดร่วม…สงวนจุดต่าง” 2. ทุกองค์กรต้องทำภารกิจตนเองให้หนุนเสริมหน่วยงานอื่นจะทำให้เกิดการบูรณาการที่ไม่ใช่ทำงานแค่เสร็จ แต่ทำให้สำเร็จ 3. องค์กรภาคประชาชนต้องมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 4. ท้องถิ่นต้องดูแลประชากรทุกกลุ่มวัย และหนุนเสริมการทำงานแบบมีส่วนร่วมให้ได้” นายสืบศักดิ์ กล่าวและว่าโจทย์สำคัญที่อยากฝากให้กับผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมเวทีให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันสรุปบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งการพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่ และการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน 4 เรื่อง คือ 1. การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 2. การจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชน 3. การดูแลเด็กปฐมวัย และ 4. การจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพโดยชุมชนท้องถิ่น ให้ครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการพัฒนา และ 2. ทิศทาง/แนวทางสู่การต่อยอดในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป.