โครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไทยไร้หมอกควันจับมือกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความตระหนักรับรู้ปัญหาหมอกควันและภัยพิบัติ หวังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต
วันที่ 22 มี.ค.62 ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติทางด้านการจัดการและป้องกันปัญหาภัยพิบัติและหมอกควัน ASEAN 2020 : Managing Disasters & Haze ขึ้น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ โครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน (Haze Free Country Network in Upper ASEAN) เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการภายใต้ แผนวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (HazeFreeThailand) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมด้วยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (ResearchUniversityNetwork:RUN) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างความตระหนักเชิง SocialImpact ในการรับรู้ปัญหาหมอกควันและภัยพิบัติ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนกับทั้งในและต่างประเทศ
โดยเชิญ Dr.Daisuke Matsushima จากมหาวิทยาลัยนาซากิ ประเทศญี่ปุ่น มาพูดในหัวข้อภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ ,ดร.ทวิดา กมลเวช นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดเรื่อง Thai Guru of disaster governance,Dr.David Lallemant จากมหาวิทยาลัยนันยาง เทคโนโลยี ประเทศสิงคโปร์ พูดเรื่อง ภัยพิบัติ, พลเมืองและเทคโนโลยีและDr.Yixin Dai จากมหาวิทยาลัย Tsiinghua ประเทศจีน พูดเรื่องหมอกควันและการทำงานร่วมกัน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนและDr.Phengkhamla Phonvisai Depuly Director General Pollution Centrol Department Ministry of Natural Resources and Enviranment สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติทางด้านการจัดการและป้องกันปัญหาภัยพิบัติและหมอกควัน โดยผศ.ดร.ชนม์เจริญ กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ภายใต้แผนงานและโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ซึ่งจะพบว่าเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาหมอกควันหนักมาก ซึ่งปัจจัยมาจากการเผาในพื้นที่ หมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านและจากสภาพอากาศของประเทศที่ไม่มีลม จึงทำให้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่เชียงใหม่ที่เป็นแอ่งกระทะจึงเป็นปัญหาที่หนักมาก
อย่างไรก็ตามจากปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ คือ หมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในโครงการนี้จึงได้ผนึกกำลังกันในกลุ่ม Upper Asaen 4 ประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชาและพม่า ในการสร้างเครือข่ายกัน โดยเริ่มจากการให้ความรู้ สร้างความตระหนักให้ประชาชนในแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่ และอีกด้านหนึ่งคือได้นำเทคโนโลยีคือเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์หรือ Dustboy ที่ใช้วัดค่า pm2.5 ไปบริจาคและติดตั้งในแต่ละจุด เพื่อให้วัดและเห็นถึงสภาพปัญหา ประการต่อมาคือการสร้างอาสาสมัครในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนในพื้นที่ถึงปัญหาหมอกควันและผลกระทบที่เกิดขึ้น
หัวหน้าโครงการเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสร้างความตระหนักจากปัญหาผลกระทบของหมอกควัน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์และไทยมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะแก้ไขปัญหาหมอกควันในภูมิภาคและในประเทศได้อย่างไร โดยบทสรุปครั้งนี้จะได้แนวคิดในเบื้องต้นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาใน 4 ประเทศคือไทย ลาว กัมพูชาและพม่า โดยกรรมการที่ตั้งขึ้นจะมีบทบาทอย่างไร ซึ่งปีแรกไทยก็ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพก่อน เพราะไทยเป็นประธานอาเซียน และปีต่อไปจะขยับขยายออกไปอีก
“เรามีเคสหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากไปจัดสัมมนาที่ลาวมาแล้ว และในครั้งนี้ Dr.Phengkhamla จากลาวก็มาร่วมด้วย โดยโครงการนี้ได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และจะเสร็จสิ้นโครงการในเดือนเม.ย.นี้ ส่วนโครงการในเฟส 2 จะเริ่มกับกลุ่ม 4 ประเทศอาเซียน Upper Asean และต่อไปประมาณกลางปีนี้จะขยายไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย เนื่องจากปัญหาหมอกควันไม่มีพรมแดนกั้น”ดร.ชนม์เจริญ แสงรัตน์ หัวหน้าโครงการเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าว
ทางด้าน Dr.Phengkhamla Phonvisai Depuly Director General Pollution Centrol Department Ministry of Natural Resources and Enviranment สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ทางลาวก็ยินดีที่จะได้ร่วมเรียนรู้สภาพปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศเมื่อเกิดขึ้นในพื้นที่แล้วไม่ได้หยุดนิ่งแค่ในพื้นที่นั้นๆ แต่เคลื่อนย้ายไปภูมิภาคหรือประเทศอื่นได้ด้วย การมาร่วมสัมมนาในครั้งก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้ศึกษาแผนงาน รายละเอียดเพื่อคุ้มครองและจัดการปัญหามลพิษทางอากาศว่าทางสปป.ลาวจะสามารถดำเนินการได้
“สำหรับที่สปป.ลาวเรื่องของไฟป่าในพื้นที่ไม่มีเพราะรัฐบาลห้ามเด็ดขาดในเรื่องของการเผาป่า แต่จะมีปัญหาอื่นๆ เช่น การเผาเศษขยะ ใบไม้ในชุมชนบ้านเรือน รวมทั้งมลพิษจากควันยานพาหนะ ซึ่งลาวอยากศึกษาว่าจะสามารถร่วมมือในด้านใดได้บ้าง ก่อนที่จะหาทางออกร่วมกันก็ต้องดูถึงแนวทางด้วย ส่วนเรื่องการเผาพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ที่สปป.ลาวไม่มีพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะพืชหลักจะเป็นข้าว และมีพืชเกษตรชนิดอื่นมาเสริม”รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาวกล่าว
ทั้งนี้ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ หัวหน้าโครงการเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวเสริมอีกว่า ในขณะนี้มีโมเดลคร่าวๆ เกิดขึ้นแต่ถ้าจะแก้ได้ทุกมิติต้องมีความร่วมมือระดับรัฐบาลกับรัฐบาล เพราะตอนนี้ถือเป็นการคิกออฟอันแรกคือความร่วมมือในส่วนของสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นแล้วคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยนองรัง เวียดนาม มหาวิทยาลัยที่กัมพูชาและลาว และอนาคตจะเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และจากนั้นจะร่างแผนนโยบายให้กับรัฐบาลเป็นท็อปดาวน์สั่งการจากรัฐบาลลงมาทั้งในภูมิภาค และอนาคตจะมีเฟส 3 ที่จะทำให้ครอบคลุม 10 ประเทศอาเซียน
สำหรับโครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน (HazeFree CountryNetworkinUpperASEAN) ดำเนินโครงการวิจัยภายใต้แผนวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) โครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไร้หมอกควัน สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนนี้ เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่2และทางโครงการฯมีโนบายในการพัฒนาและสารต่อการ แก้ไขปัญหาหมอกควัน ระดับอาเซียนเพื่อต่อยอดการดำเนินงานในปีที่ 3 โดยมุ่งเน้นการสำรวจและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อสร้างแนวทางการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติและหมอกควันทั้ง ในและต่างประเทศ อย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งสร้างความตระหนัก และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละ ประเทศในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและหมอกควัน ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาหมอกควันในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบในอนาคตต่อไป.