รองผวจ.เชียงใหม่ย้ำสิ้นสุดประกาศห้ามเผา ให้ทุกอำเภอจัดการเชื้อเพลิงพื้นที่เกษตรด้วยวิธีที่เหมาะสมเลือกเผาให้น้อยที่สุด ขณะที่ 5 อำเภอรอบตัวเมืองเชียงใหม่ ยืนยันไม่มีเผาพื้นที่เกษตรอย่างเด็ดขาด
วันที่ 21 เมษายน 2563 เวลา 09.00 น. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในแต่ละพื้นที่ โดยได้ประชุมผ่านระบบ VDO Conference กับอำเภอที่มีจุดความร้อนมากที่สุดในเช้าวันนี้ จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย และอำเภออมก๋อย เพื่อทราบถึงสาเหตุการเกิดจุดความร้อนที่เกิดขึ้น และเดินหน้าแก้ไขปัญหาไฟป่าในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากการรายงานเช้าวันนี้เกิดจุดความร้อนจำนวน 20 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 16 จุด ป่าอนุรักษ์ 2 จุด พื้นที่เกษตร 1 จุด และอื่นๆ 1 จุด ในส่วนผลการแจ้งความดำเนินคดีเมื่อวานนี้ จำนวน 13 คดี ในพื้นที่ 6 อำเภอ จับกุมตัวผู้ต้องหา 1 ราย ทราบชื่อ นายจะโฟ ไอ่เสาร์ อายุ 69 ปี อาศัยอยู่ที่ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ได้เน้นเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังสิ้นสุดช่วงห้ามเผาในวันที่ 30 เมษายน โดยแนวทางของจังหวัดเชียงใหม่จะเน้นให้ทุกอำเภอบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีการอื่นมากกว่าการเผา เช่น การทำปุ๋ยหมัก การนำเศษวัสดุทางการเกษตรส่งให้โรงงานอุตสาหกรรมอัดใบไม้เป็นก้อน ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง โดยกำชับว่าจะให้ใช้วิธีการเผาเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งจากที่ก่อนหน้านี้ได้ในทุกอำเภอส่งแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ของตนเองมาให้จังหวัดพิจารณาวางแผน โดยอำเภอเมือง สารภี สันกำแพง แม่ออน แม่ริม ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ ยืนยันว่าจะไม่ให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาอย่างเด็ดขาด
ในส่วนอำเภออื่น กำลังอยู่ในขั้นตอนการประชุมหาข้อสรุปภายในวันนี้ ว่าจะใช้วิธีการใดบ้างให้มีความชัดเจน ระบุว่าตำบลใดเผาหรือไม่เผา เป็นการสำรวจข้อมูลขั้นสุดท้าย ในส่วนตำบลที่มีความประสงค์ว่าจะไม่เผา ทางจังหวัดจะส่งเจ้าหน้าที่เกษตร ปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนเจ้าหน้าที่วิชาการเกษตรต่างๆ เข้าไปสนับสนุนอุปกรณ์และให้ความรู้ รวมทั้งนำกล้าไม้ไปส่งเสริมให้ปลูกป่าให้เกิดความยั่งยืนด้วย
สำหรับ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ 8 ข้อ คือ 1.การเผาวัชพืชต้องใช้หลักวิชาการ 2.ต้องผ่านความเห็นชอบจากอำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เข้าไปกำกับดูแล ซึ่งจะเผาได้ในช่วงเวลา 09.00 – 12.00 น. และ 14.00 – 17.00 น. เท่านั้น พร้อมกำชับว่าต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการเผาให้ดับสนิท 100% 3.ต้องทำแนวกันไฟป้องกันการลุกลามไปในเขตป่า 4.พื้นที่ขนาดใหญ่ต้องแบ่งเผาเป็นแปลงเล็กเพื่อไม่ให้ลุกลามและควบคุมไม่ได้ 5.ห้ามเผาในเขตป่าโดยเด็ดขาด ซึ่งในเขตป่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเป็นผู้ดำเนินการเอง 6.ต้องมีการระดมกำลังพลมาช่วยกันเผาและจัดรถน้ำมารอระงับเหตุไว้เพื่อให้ทันท่วงที
7.ห้ามลักลอบเผาในพื้นที่นอกเขตที่ได้แจ้งกับภาครัฐไว้โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะมีความผิดทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด และ 8.ขอให้ระบุหัวหน้าชุดควบคุมการเผา พร้อมทั้งถ่ายภาพก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังการดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเผาเสร็จแล้วดับ 100% ซึ่งจะเป็นกระบวนการในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจะทำอย่างรัดกุมที่สุด โดยจะคำนึงถึงการสภาพอากาศ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนชาวเชียงใหม่.