เชียงใหม่ (22 ก.พ.60) / คนนับร้อย ร่วมยืนไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรม นักแปล-นักวิชาการ ชี้กระบวนการยุติธรรมไทย ถูกครอบงำด้วยชนชั้นนำ ย้ำต้องปฏิรูปให้ตุลาการเกิดความรับผิดชอบในกระบวนการตัดสินต่อประชาชน และสังคมเมื่อเวลา 13.30 น. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้จัดเสวนา “ความยุติธรรมที่ลำเอียง” ที่ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ วิทยากรประกอบด้วย รศ.ไชยยันต์ รัชชกูล อาจารย์พิเศษหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มช., ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล และ รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช. ดำเนินรายการโดยนายชัยพงษ์ สำเนียง โดยมีนักศึกษา ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน ซึ่งก่อนการเสวนา ทางผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญชวนผู้ร่วมกิจกรรมให้ยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรม 1 นาทีนางภัควดี กล่าวว่าความยุติธรรมที่ลำเอียง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนไทยมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด คือกรณี “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งแม้จะเพิ่มวงเงินประกันถึง 700,000 บาท และส.ศิวลักษณ์ ร่วมเป็นนายประกัน ศาลก็ไม่อนุมัติให้ประกันตัว มีความเป็นไปได้ว่า ไผ่จะติดคุกยาว เหมือนกรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทั้งนี้เพราะกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่องค์กรตำรวจ ศาล และอัยการ เป็นระบบที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งตามแนวทางของชนชั้นนำไทย นอกจากนี้สังคมไทยก็มักใช้วิธีคิดแบบอุปมาอุปไมย ตัวอย่างเช่น ขนาดนิ้วมือยังไม่เท่ากัน คนก็ย่อมไม่ทัดเทียมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง กล่าวโดยสรุป คือเราอยู่ในประเทศที่กฎหมายเป็นของเขาไม่ใช่ของเรา ซ้ำวิธีคิดแบบชนชั้นนำไทย ถือว่าประชาชนคือภัยความมั่นคง และต้องขจัดให้ราบคาบ ดังนั้นกรณีของ “ไผ่ ดาวดิน” จึงไม่มีประโยชน์ที่จะอธิบายเหตุผลรศ.ไชยยันต์ กล่าวถึงตัวอย่างกรณีที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่นศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพรรคประชาธิปัตย์ ที่สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 ราย ตรงกันผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเผาศาลากลาง ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และถูกประนามว่าเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มีการเผาสำนักงานสลากกินแบ่ง กรมสรรพากร ก็ไม่ถูกดำเนินคดี หรือแม้กระทั่งกรณีคนเก็บหาของป่า กับกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีครอบครองพื้นที่เขายายเที่ยง ผลการพิจารณาคดีก็ต่างกัน ดังนั้นตนจึงไม่แปลกใจกับกรณีของ “ไผ่ ดาวดิน” เลยด้าน ศ.นิธิ ได้อ่างคำกล่าวที่มีนักวิชาการกล่าวไว้ว่า การเลือกตั้ง เป็นกระบวนการ หรือวิธีการเปลี่ยนผ่านผู้นำ – อำนาจของประเทศ ได้อย่างสันติวิธีที่สุด เหมือนเช่นกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข แต่หากเกิดการลำเอียง จะทำให้เกิดความปั่นป่วน และความรุนแรงทางการเมือง “ระบบตุลาการภิวัฒน์ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระบบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว เดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ และบ้านเมืองก็ไม่มีความสงบสุข ทั้งนี้เพราะระบบตุลาการไทยเป็นระบบที่อ่อนแอ เคว้งคว้าง และหาที่พึ่งไม่ได้ เรียกได้ว่าประเทศไทยหลังปี 2475 ไม่มีแนวทาง หรือแผนการปรับเปลี่ยนตุลาการ เพียงแค่ลอกกระบวนการตุลาการจากต่างประเทศมาเท่านั้น แต่ไม่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนใดๆ ต่างจากอังกฤษและฝรั่งเศส ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเมื่อตุลาการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองตลอดจนผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้กระบวนการตุลาการไทย ถูกกำหนดทิศทางความก้าวหน้าในอาชีพจากกลุ่มดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการของไทยมีแนวทางการตัดสินตามชนชั้นนำหรือกลุ่มอำนาจในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการมีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องปฏิรูปตุลาการด้วย ” ศ.นิธิ กล่าวรศ.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า หลักกระบวนการยุติธรรมที่เที่ยงธรรมต้องประกอบไปด้วย ความเป็นอิสระของตุลาการ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบของตุลาการด้วย ในอดีตศาลในระบอบเผด็จการมักจะดำเนินการตามเงื่อนไข และระบอบเผด็จการ ก็มักจะใช้อำนาจผ่านกระบวนการตุลาการ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระบอบประชาธิปไตย “เหตุใดตุลาการ อัยการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลประชาธิปไตย อยู่ในประเทศ ที่เคยมีประชาธิปไตย กลับเลือกทำงานให้กับระบอบเผด็จการ จึงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือควรผลักดันให้ตุลาการ มีความรับผิดชอบในกระบวนการตัดสินต่อประชาชนและต่อสังคมด้วย” รศ. ปิ่นแก้ว กล่าวในตอนท้าย.