บ้านน้ำโจ้ หมู่ 6 ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่มีเพียง 118 ครัวเรือน ประชากร 384 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งรับจ้าง รับราชการ ทำสวนลำไย ทำนา และค้าขาย แต่กลับพบว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ทำให้ชาวบ้านขาดความสนใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารปลอดภัย ยังมีการใช้สารปรุงแต่งรสอาหารให้ถูกปาก ซื้ออาหารปรุงสำเร็จมารับประทาน จนอัตราเจ็บป่วยด้วยโรคความดัน เบาหวาน ไขมัน และเสี่ยงต่อโรคไตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวชาวบ้านและผู้นำชุมชนจึงได้พูดคุย และหาทางออกร่วมกัน ว่าจะจัดการกับปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงขอเข้ารับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ด้วยหวังว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้าน ให้ดูแลสุขภาพกับมากขึ้น ขณะเดียวกันก็น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชุมชนด้วย♣ ปรับโครงสร้างบริหารชุมชน หนุนชาวบ้านปลูกผักปลอดสารไว้บริโภค
ศุภวิชญ์ ทองยอด ผู้ใหญ่บ้านน้ำโจ้ และผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่บ้านน้ำโจ้ เล่าว่า แม้หมู่บ้านจะมีแผนชุมชน และแผนพัฒนา 3 ปี ที่คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือสภาผู้นำชุมชน 15 คน ร่วมกันเสนอแนะ แล้วบรรจุเป็นแผนพัฒนาของเทศบาลตำบลดอนแก้ว หากนั่นเป็นการทำบทบาทหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การทำแผนชุมชน เป็นหลัก ทำให้การพัฒนาด้านอื่นๆ ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควรในการทำโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่บ้านน้ำโจ้ จึงคัดเลือกสภาผู้นำชุมชนเพิ่ม จากคณะกรรมการหมู่บ้านเดิม 15 คน กับตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในชุมชนอีก 15 คน ให้เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชน และวางแผนพัฒนา ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เช่น ส่งเสริมการปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และความเสี่ยงต่อสุขภาพ เริ่มจาก 22 ครัวเรือนที่กลายมาเป็นครัวเรือนต้นแบบด้านเกษตรปลอดสารเคมี ทำให้ครัวเรือนอีก 50 หลังคา คิดเป็นร้อยละ 42 เกิดความตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคพืชผักที่ปลอดภัยมากขึ้นขณะเดียวกันเมื่อชาวบ้านเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สารเคมีต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ก็เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเน้นใช้สารอินทรีย์ เช่น น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก ไว้บำรุงพืชและไล่แมลง เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเกษตรปลอดสารเคมี กลุ่มสตรีแม่บ้านอาหารปลอดภัย กลุ่มแปรรูปสมุนไพร ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู สเปรย์ไล่ยุง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกข่า รวมไปถึงงานหัตถกรรม ประเภท ตุง โคม การสานแห เป็นต้น“ที่สำคัญคือเกิดศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรปลอดสารเคมีในชุมชน ในที่ตั้ง อบต.เก่า ที่ปล่อยทิ้งร้างไว้ จึงได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ 2 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรปลอดสารเคมี และเป็นแปลงผักรวมที่ชาวบ้านแบ่งกันทำแบ่งกันรับผิดชอบ ใครไม่มีที่ดินปลูกภายในบ้านของตัวเอง สามารถแบ่งใช้พื้นที่แปลงผักรวมได้ เมื่อพืชผักเติบโตเก็บผลผลิตได้ ก็เปิดตลาดนัดสีเขียวทุกวันพุธ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชน และท้องถิ่นใกล้เคียงมาก จนพืชผักที่นำไปขาย มักจะหมดภายในครึ่งวัน” ศุภวิชญ์ กล่าว♣ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
วุฒิพงศ์ ไชยวุฒิ หรือ “พ่อพลอย” อดีตเจ้าหน้าที่ชลประทาน หนึ่งในเจ้าของครัวเรือนต้นแบบด้านเกษตรปลอดสารเคมี เล่าว่า หลังเกษียณกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน ทั้งปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง ไม่ต้องซื้อกินทุกอย่าง ซ้ำยังปลอดภัยในการบริโภค ปุ๋ย-ยา ก็ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เป็นการลดต้นทุน ลดการเผากิ่งไม้ ใบไม้ ขณะเดียวกันเศษไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ยได้ ก็เผาเป็นถ่านในเตาถังแบบปิด 200 ลิตร ไว้ใช้เอง ลดการใช้ก๊าซหุงตุ้ม จากเดือนละ 1 ถัง เป็น 2 เดือน 1 ถัง คิดเป็นตัวเงินที่ประหยัดได้ ปีละกว่า 2,000 บาทสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการปลูกผักแบบเน้นกินในครัวเรือน บางครั้งก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน เหลือจึงขาย คือการลดค่าใช้จ่ายมากกว่าสร้างรายได้ และเมื่อชาวบ้านเห็นตัวอย่างที่ดีในชุมชน ก็มีการนำไปปฏิบัติต่อ เช่น ชาวสวนหลายคนเริ่มทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในสวนลำไยของตัวเอง ส่วนบางครอบครัวที่ไม่มีที่ดินปลูกผัก ก็หันมาปลูกในตะกร้า กะละมัง วางหรือแขวนไว้ในมุมหนึ่งของบ้าน เพราะทุกคนตระหนักดีว่าในสังคมยุคบริโภคนิยมที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันสูง การเดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น ที่จะช่วยให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปอย่างอยู่เย็นเป็นสุข.