ชลฯ แจงแผนบริหารหน้าแล้ง วอนประหยัดน้ำ-งดปลูกข้าวนาปรังรอบ3

ชลฯ แจงแผนบริหารหน้าแล้ง วอนประหยัดน้ำ-งดปลูกข้าวนาปรังรอบ3

ชลประทานเชียงใหม่วอนใช้น้ำอย่างประหยัด ชี้แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีมากกว่าปีที่ผ่านมาแต่ยังต้องบริหารจัดการน้ำตามรอบเวร แจ้ง 5 อำเภอตอนใต้ของดปลูกข้าวนาปรัง ยันเสี่ยงน้ำจะไม่พอจนถึงเก็บเกี่ยว ระบุปีนี้มีการปลูกข้าว และพืชฤดูแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมเตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือที่ใช้งบกว่า 468 ล้านบาทพัฒนาทั้งเชียงใหม่และลำพูนไว้ด้วย

เมื่อเย็นวันที่ 28 มี.ค. 60 ที่ห้องประชุมริมน้ำ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ด้านหลังสนามกีฬา 700 ปี จ.เชียงใหม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทานเชียงใหม่ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำห้วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งแผนพัฒนาพท.เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 115 แห่ง มีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 6 อำเภอ โดยพื้นที่เฝ้าระวังมากที่สุดอยู่ใน อ.แม่วาง , อ.ดอยสะเก็ด , อ.หางดง และ อ.ดอยเต่า ซึ่งพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.หางดง ที่รับน้ำมาจากแม่กวง และแม่แตง จะไม่ขาดแคลนน้ำ แต่พื้นที่ อ.แม่วาง และ อ.ดอยเต่า จะต้องมีการใช้น้ำอย่างรอบคอบ โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เข้าไปประชุมชี้แจงให้ผู้ใช้น้ำทราบแล้ว

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง อ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มี 1 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำห้วยมะนาว  และยังมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังคือ อ่างแม่ตูบ ในพื้นที่ อ.ดอยเต่า เพราะมีน้ำเพียง 31 เปอร์เซ็นต์ และอ่างแม่จอกหลวง อ.แม่ริม มีน้ำ 36 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการใช้น้ำต้องระวังเนื่องจากในพื้นที่มีการใช้น้ำในการปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน มากจนทำให้มีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นตามมา ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือไม่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติมในพื้นที่ โดยให้งดปลูกในห้วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 60 และหลังจากเดือน พ.ค. เป็นต้นไปก็เข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็สามารถปลูกได้

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ภาพรวมมีน้ำ 36 เปอร์เซ็นต์ โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในปัจจุบันมีน้ำ 127 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีน้ำ 63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ โดยแนวโน้สถานการณ์ของอ่างขนาดใหญ่ 2 แห่ง ที่ตรวจพบคือ มีการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก อีกทั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีจำนวนมากถึง 75 แห่ง มีการใช้น้ำอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ได้มีหนังสือประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนและขอความร่วมมือพักการทำนาปรังเพิ่มเติมในพื้นที่แล้ว

ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดแผนการจัดสรรน้ำไว้แล้ว โดยในเขตพื้นที่โครงการแม่แฝก-แม่งัด จะใช้น้ำประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรพื้นที่รวม 68,728 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 34,000 ไร่ ไม้ผล 19,781ไร่ พืชไร่และพืชผัก 4,491 ไร่ บ่อปลา 404 ไร่ ส่วนพื้นที่ตลอดลำน้ำปิง จ.เชียงใหม่และลำพูน จะใช้น้ำประมาณ 78 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการผลิตน้ำประปา การปลูกข้าว 14,032 ไร่ พืชไร่ 9,735 ไร่ พืชผัก 6,679 ไร่  ไม้ผล 110,087 ไร่ บ่อปลา 335 ไร่ รวม 140,867 ไร่ และเตรียมน้ำไว้อีก 32 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการเตรียมแปลงตกกล้าฤดูฝนปี 2560 ด้วย อีกทั้งในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน มีความต้องการใช้น้ำสูง เพราะเกิดภาวะภัยแล้งในบางพื้นที่ จึงทำการปรับแผนโดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ให้เพียงพอกับความต้องการ โดยกำหนดส่งน้ำ วันพฤหัสบดี จำนวน 18 ลบ.ม.ต่อวินาที วันศุกร์ จำนวน 14 ลบ.ม.ต่อวินาที วันเสาร์ จำนวน 12 ลบ.ม.ต่อวินาที และวันอาทิตย์ จำนวน 14 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งขณะนี้เข้าสู่รอบเวรที่ 8 แล้ว โดยจะมีการปล่อยน้ำในวันที่ 29 มี.ค. นี้ และจะสิ้นสุดรอบส่งน้ำรอบที่ 17 ในวันที่ 25 พ.ค. 60 เพราะจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนพอดี

“สำหรับพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง การปลูกพืชไร่ พืชผัก บ่อปลาในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีการปลูกมากกว่าเดิม 11,202 ไร่ คิดเป็น 359.83 เปอร์เซ็นต์ พืชไร่และพืชผัก มีการปลูกมากขึ้น 4,008 ไร่ คิดเป็น 32.31 เปอร์เซ็นต์ ไม้ผลและไม้ยืนต้นยังคงมีเท่าเดิม บ่อปลามีจำนวนเพิ่มขึ้น 38 บ่อ คิดเป็น 12.79 เปอร์เซ็นต์”นายเจนศักดิ์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ขณะนี้มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำดอยน้อย โดยการกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ได้มีการก่อสร้างเสริมสันฝายชั่วคราวสูงเพิ่มขึ้น 1 เมตร จะเก็บกักน้ำได้ 0.25 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่ากับอ่างขนาดเล็ก ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 60 ก็จะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประตูระบายน้ำวังปาน ก็มีการเสริมสันฝายชั่วคราวสูงเพิ่มขึ้น 1 เมตร ซึ่งจะเก็บกักน้ำได้ 0.80 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่ากับอ่างขนาดกลางได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างพื้นฝายฝั่งซ้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

จากการคาดหมายปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ในช่วงฤดูแล้ง อยู่ในภาวะเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร จึงกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ โดยทางสำนักงานชลประทานที่ 1 จะกำหนดระดับน้ำในแม่น้ำปิงในแต่ละจุดที่เหมาะสมให้ เพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลิ่งแม่น้ำปิง คือบริเวณที่ไหลผ่านชุมชนเมือง

นอกจากนี้จะมีการควบคุมการปิดกั้นทางน้ำหรือการดำเนินการกิจกรรมใดๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ท่าดูดทรายในแม่น้ำปิง การสร้างทำนบชั่วคราวปิดกั้นทางน้ำ  มีการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย

ในส่วนของการสนับสนุนน้ำดิบให้กับการประปาส่วนภูมิภาค ได้เตรียมการสำหรับในกรณีระดับน้ำต่ำกว่าระดับที่สามารถสูบน้ำมาผลิตน้ำประปาได้ และสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นผู้ถือกุญแจควบคุมปิด-เปิดประตูปากคลองส่งน้ำในลำน้ำปิงทั้งหมดเพื่อป้องกันปัญหาการแย่งน้ำ นอกจากนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้จำนวน 78 เครื่อง รถนาค 2 คัน หากประชาชนในพื้นที่ไหนได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถร้องขอเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่เกิดภาวะภัยแล้งได้

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปล่อยน้ำลงคูเมืองในห้วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ได้วางแผนไว้แล้ว พร้อมกับประสานทางเทศบาลนครเชียงใหม่ไว้แล้วเช่นกัน โดยจะนำน้ำจากอ่างกรีนเลค ไปเติมให้จำนวน 50,000 ลบ.ม. โดยจะปล่อยตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.- 4 เม.ย. 60 และจะปล่อยน้ำลงประปาอุโมงค์ จำนวน 80,000 ลบ.ม. เนื่องจากขณะนี้ประปาอุโมงค์มีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2.7 เมตร มั่นใจว่าน้ำเล่นสงกรานต์จะไม่มีปัญหาแน่นอน

ทางด้านนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้เตรียมแผนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการเพื่อนำไปสู่ “พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley)” แบบบูรณาการและครบวงจรไว้ด้วย โดยทำตามแผนงานของสำนักชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้งบประมาณ 511.132 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร แหล่งน้ำชลประทาน ระบบแพร่กระจายน้ำ สร้างการพัฒนาเกษตรมูลค่าเพิ่มสู่ตลาด บริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเพื่อสนับสนุนการเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จำนวน 36 ราย ซึ่งจำนวนพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ จำนวน 52,612 ไร่ 14,920 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานเพิ่ม 1,679 อัตรา

นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมงานพัฒนาเสริมศักยภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ฯ ด้วยการเสริมสันอาคารระบายน้ำล้น และสันทำนบดิน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำ อ่างเก็บน้ำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 2 แห่ง อ่างอ่างเก็บน้ำแม่นาป๊าก และ อ่างเก็บน้ำแม่ปอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ใช้งบประมาณ 77 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,000 ไร่ 454 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานเพิ่มจำนวน 267 อัตรา

อีกแผนงานหนึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาลุ่มน้ำแม่กวง และลุ่มน้ำแม่ทา พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กวง จังหวัดลำพูน เป็นแหล่งน้ำสำหรับการ อุปโภค บริโภค การเกษตร สนับสนุนนิคมอุสาหกรรมลำพูน และการป้องกันบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองลำพูน ใช้งบประมาณ 65 ล้านบาท ในการปรับปรุงอาคารในลำน้ำ ในลักษณะประตูระบายน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ การกักเก็บน้ำในลำน้ำแม่กวง ฝายบ้านยู้พร้อมอาคารประกอบ จำนวน 1 แห่ง มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ รวม 600 ไร่ 380 ครัวเรือน เกิดการจ้างงาน จำนวน 226 อัตรา

ส่วนแผนงานสุดท้ายคือกิจกรรมสนับสนุนน้ำในการเปิดพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ คือพื้นที่ปลูกข้าวและลำไย จำนวน 12 แห่ง อยู่ในพื้นที่ อ.แม่อาย อ.พร้าว อ.ฝาง อ.สารภี อ.เชียงดาว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่ทา จ.ลำพูน โดยการจัดทำระบบแพร่กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ สร้างความสามารถในการแข่งขันเสริมศักยภาพการผลิตของกลุ่มจังหวัดได้ ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ รวม 33,850 ไร่ 6,581 ครัวเรือน เกิดการจ้างงาน จำนวน 772 อัตรา และเกิดระบบบริหารจัดการน้ำร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำ แบบประชารัฐ จำนวน 12 กลุ่ม

ส่วนกิจกรรมพัฒนาระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร สนับสนุนการเป็น Northern Thailand food  Valley จำนวน 20 รายการ เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบกระจายน้ำ เข้าสู่พื้นที่การเกษตร โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในพื้นเชียงใหม่ ใช้งบประมาณ 107.480 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนต่อยอดการผลิตด้านการเกษตรโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างความมั่งคงยั่งยืนให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ มีปัจจัยการผลิตที่เพียงพอ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,162 ไร่ 7,805 ครัวเรือน เกิดการจ้างงาน จำนวน 446 ราย และเกิดระบบบริหารจัดการน้ำร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำ แบบประชารัฐ จำนวน 20 กลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีโครงการผันน้ำจากลำน้ำแม่สาผ่านลำเหมืองสาเข้าสู่คลองแม่ข่าเพื่อเป็นน้ำต้นทุนแก้ไขปัญหาน้ำเสียของคลองแม่ข่า ใช้งบประมาณ 43,049,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างระบบส่งน้ำ เป็นระยะทางยาว 8,250.00  เมตร พร้อมอาคารประกอบ พื้นที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และโครงการสนับสนุนเกษตรกรให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ด้วย ซึ่งงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม รวมทั้งหมดแล้วจะใช้งบประมาณ 468,083,700 บาท โดยแต่ละโครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ก.พ. 2560 นี้.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้