“ชาวบ้านนาหลวง” รุกแก้ปัญหาขยะ ยกระดับสิ่งแวดล้อมชุมชน

“ชาวบ้านนาหลวง” รุกแก้ปัญหาขยะ ยกระดับสิ่งแวดล้อมชุมชน

การเป็นสังคมเกษตรกรรม ยึดอาชีพทำไร่ข้าวโพดตามเชิงเขาเป็นหลัก และยังอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ทำให้ชาวบ้านนาหลวง หมู่ 4 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาขยะด้วยตนเอง เริ่มต้นจากเผาเศษวัชพืช ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนมาก เนื่องจากเกิดหมอกควันจากการเผาไหม้ และกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน  โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีความกดอากาศต่ำ มีข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาหลวง ยืนยันว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40ส่วนขยะในครัวเรือน ชาวบ้านจะร่วมกันลงขันหลังคาเรือนละ 200 บาท/ปี เพื่อจ้างรถ 6 ล้อขนขยะไปทิ้งที่บ่อฝังกลบ ซึ่งอยู่เหนือหมู่บ้านขึ้นไปราว 2 กิโลเมตร  เดือนละ 4 เที่ยว คิดเป็นขยะรวมประมาณ 5,000 กิโลกรัม แต่ค่าขนส่งก็เพิ่มขึ้นทุกปี จากช่วงปีแรก 8,000 บาท ล่าสุดสูงถึง 30,000 บาท ทำให้แบกรับภาระไม่ไหว ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการได้ ซ้ำหลุมขยะอยู่บนพื้นที่สูงกว่าหมู่บ้าน เมื่อฝนตกน้ำจากบ่อขยะมักจะไหลลงลำห้วย เข้าสู่ไร่นา และพื้นที่ทางการเกษตรเป็นประจำประเสริฐ  แก้วกุฬา  ประธานสภา อบต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เล่าว่าขยะทุกอย่างถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบหมด ตั้งแต่เศษใบไม้ พลาสติก ขวดแก้ว ไปถึงขยะอันตรายที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของสารเคมี ยังไม่ทันครบปีหลุมฝังกลบก็เต็ม ต้องขุดใหม่เรื่อยๆ และเมื่อเห็นถึงพิษภัยที่ปนเปื้อนในดินและน้ำ ก็สายเกินแก้ ไม่สามารถหาพื้นที่ใหม่รองรับได้ เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่สูง หากย้ายหลุมกำจัดขยะไปฝังกลบไปใต้หมู่บ้าน ก็ยังอยู่เหนือหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งไม่ยินยอมให้ทิ้งขยะในบริเวณนั้น♣ ผ้าป่าขยะ:ดึงประเพณีท้องถิ่นช่วยแก้ปัญหา

เมื่อขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่สามารถแก้ไขโดยหาพื้นที่ฝังกลบใหม่ที่เหมาะสมได้ ทางออกเดียวของหมู่บ้านนาหลวง คือต้องลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด และเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ หมู่บ้านนาหลวงเคยได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการชุมชนบ้านนาหลวงปลอดบุหรี่มาก่อน และพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ชาวบ้านและร้านค้าในชุมชนให้ความร่วมมือสูงมาก แกนนำกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้นำเยาวชน ผู้สูงอายุ ประธานหมู่บ้าน ประธานกองทุนหมู่บ้าน ตำรวจบ้าน อสม. ประธานคุ้ม ต่างเอาจริงเอาจังจนลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในหมู่บ้านลง ในครั้งนี้กลุ่มแกนนำจึงวางแผนขอรับการสนับสนุนจาก สสส.ต่อเนื่องอีกครั้ง เพื่อร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ โดยจัดการกับปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรมณรงค์ศักดิ์  ศรีคำภา  ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนบ้านนาหลวง และผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่หมู่บ้านนาหลวง อธิบายว่าประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นผู้สูงอายุ และเด็ก ส่วนวัยรุ่นและวัยทำงาน มักจะออกไปเรียนหรือทำงานนอกพื้นที่ จึงต้องวางแผนดึงเด็กและผู้สูงอายุเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ เริ่มจากการรณรงค์คัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท คือ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และขยะมีพิษ แล้วขอความร่วมมือจากผู้สูงอายุ ในวันที่เดินทางมารับเบี้ยยังชีพจาก อบต. ให้หิ้วขยะรีไซเคิลจากบ้านมาด้วย เพื่อนำมาชั่งน้ำหนักแล้วเก็บรวมกันไว้ พอได้ปริมาณมากพอก็ขายหาเงินสร้างอาคารคัดแยกขยะขณะเดียวกันยังอาศัยกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรม จัดกิจกรรมผ้าป่าขยะ  ช่วงเช้าให้แต่ละคุ้มจัดทำต้นผ้าป่าขยะ นำขยะมาตกแต่งต้นไม้ แล้วแห่จากหน้าวัดไปยังที่เก็บขยะ เสมือนครัวตานตามประเพณีล้านนา ที่จัดขึ้นในโอกาสที่หมู่บ้านมีงานเทศกาลสำคัญ เช่น งานตานสลากภัตร งานปอยหลวงฉลองโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือถาวรวัตถุที่เป็นสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน แต่สำหรับผ้าป่าขยะจัดขึ้นในโอกาสทำบุญสิ้นปี และเมื่อขายขยะแล้วก็นำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อขยะภายในหมู่บ้านต่อไป ♣ สร้างวิทยากร สู่คนต้นแบบ

จิรพงศ์ แก้วกุฬา ผู้ใหญ่บ้านนาหลวง หมู่ 4 ต.สะเอียบ  อ.สอง จ.แพร่  และหัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่หมู่บ้านนาหลวง กล่าวเสริมว่า ความพยายามของแกนนำ ที่เริ่มต้นจากคณะกรรมการหมู่บ้านแค่ 12 คน ภายหลังขยายไปสู่แกนนำกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน อสม. ฯลฯ ได้ถึง 40 คน ส่งผลให้การคัดแยกขยะในครัวเรือนแพร่หลายขึ้นด้วย เดิมมีแค่ 12 ครัวเรือนของแกนนำที่ทำเป็นตัวอย่าง ตอนนี้สำรวจพบ 143 ครัวเรือน ที่แยกขยะเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และขยะมีพิษเช่นเดียวกับร้านค้าในหมู่บ้าน ที่มีการตั้งถังขยะขนาดใหญ่อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่แวะซื้อขนม หรือเครื่องดื่ม ก่อนไปสู่จุดหมาย เช่น ไร่ข้าวโพด หรือโรงเรียน เดิมเมื่อซื้อแล้วก็มักจะแกะรับประทานทันที ทิ้งบรรจุภัณฑ์เรี่ยราดตามข้างทาง ตอนนี้ทุกคนหันมาทิ้งในถังขยะ ทำให้ข้างทางสะอาดตา และในภาพรวมปริมาณขยะก็ลดลงจากเดิมหลายเท่าตัว เหลือจ้างรถขนทิ้งแค่เดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และ 30 ของเดือน ทำให้ต่อรองราคากับรถรับจ้างขอให้หยุดขึ้นราคาได้ธีรภาพ  สถิตย์ ชาวบ้านนาหลวง ที่ตามรถขยะไปคัดแยกมาเก็บไว้ขาย บอกว่า ทุกวันนี้แม้ชาวบ้านจะคัดแยกขยะแล้ว แต่ก็ยังหลงเหลือให้คัดแยกซ้ำได้อีก โดยทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน จะแบ่งเวลาจากการทำไร่ข้าวโพด ตามรถขยะไปบริเวณที่ทิ้งแล้วคัดแยกมาเก็บรวมไว้ที่บ้าน เมื่อสะสมได้ระยะหนึ่งประมาณ 2-3 เดือน ก็จะได้ปริมาณมากพอนำไปขาย ซึ่งพบว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ดี ครั้งละ 1,000 กว่าบาทอีกกลยุทธหนึ่ง ที่บ้านนาหลวงนำมาใช้ คือการสร้างบุคคลต้นแบบ ซึ่งพบว่าผู้ร่วมโครงการมีทักษะในการเป็นผู้นำ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้าน และบุคคลทั่วไปได้ จำนวน 3 คน คือประเสริฐ  แก้วกุฬา, ณรงค์ศักดิ์ ศรีคำภา และโยธิน หนองซิว คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนบ้านนาหลวง  ขณะเดียวกันประเสริฐ ยังใช้บ้านของตัวเอง เป็นฐานเรียนรู้ในการเลี้ยงไส้เดือน  ทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้ขยะเปียกทำปุ๋ยอินทรีย์แบบง่าย ด้วยการล้อมเสวียนรอบต้นไม้ใหญ่ แล้วนำเศษขยะที่ย่อยสลายได้ เช่น ใบไม้ เศษวัชพืช มาทิ้งในเสวียนทุกวัน เมื่อซากพืชเหล่านี้ทับถมกันมากขึ้น ก็จะเกิดการหมักบ่มตามธรรมชาติจนยุบตัว กลายเป็นปุ่ยของต้นไม้ที่อยู่กลางเสวียน …กิจกรรมเหล่านี้ทำให้บ้านของประเสริฐ กลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน และได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบในการจัดการขยะอย่างถูกวิธีนอกจากนี้ เมื่อมีงานศพในหมู่บ้าน ปกติชาวบ้านจะนำข้าวสารใส่ถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว มาช่วยกันครัวเรือนละ 1 ลิตรเศษ เมื่อเริ่มโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ และเน้นจัดการปัญหาขยะ ทางกลุ่มสตรีแม่บ้าน จึงคิดถุงผ้าไว้ใส่ข้าวสาร จะได้ใช้ซ้ำได้ตลอด ไม่เพิ่มขยะถุงพลาสติก ขณะที่ในโรงเรียนเอง ก็รุกอย่างเต็มที่ ไม่เพียงให้เด็กนำขยะไปรวมกันแล้วขายสร้างรายได้ ยังให้นักเรียนใช้ขยะออกแบบเครื่องแต่งกาย และประกวดชิงรางวัลกันอย่างสนุกสนานหลากหลายกลยุทธที่นำมาใช้ ทำให้ปริมาณขยะในหมู่บ้านนาหลวงลดน้อยลง การเผาทำลาย การกำจัดอย่างใม่ถูกวิธีก็ลดลงเป็นเงาตามตัว สองข้างทางสะอาดสอ้าน หากสิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังคือขยะสารพิษ ประเภทบรรจุภัณฑ์สารเคมี ที่ยังใช้อย่างแพร่หลายในภาคเกษตร จำเป็นต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้มีการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนสมุนไพร่ไล่แมลงศัตรูพืชไว้ใช้เอง ชาวบ้านจะได้มีทางเลือก เพื่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้