เสียงตะโกนโหวกเหวกของกองเชียร์ตัวน้อย กับอาการลุ้นให้เพื่อนยิงปืนก้านกล้วยจนตัวโก่ง เรียกความเอ็นดูจากครูภูมิปัญญา และผู้ปกครองบางส่วน ที่มาร่วมสอนเด็กๆ ตามฐาน“กิจกรรมอุ้ยสอนหลาน” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้อย่างกว้างขวาง
พัฒน์นรี เป็งมา หรือครูรี จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบวกค้าง และผู้รับผิดชอบโครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบวกค้าง“ เล่าว่า กิจกรรมอุ้ยสอนหลาน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ที่ได้รับความร่วมมือจากพ่อครู แม่ครู ที่อยู่ในท้องถิ่น เป็นอย่างดี และเด็กๆ ก็ให้ความสนใจมากทั้ง 7 ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย ฐานขนมครก ฐานทำสวยดอกไม้ ฐานม้าก้านกล้วยและปืนก้านกล้วย ฐานเดินกะลา ฐานดอกไม้กระดาษ ฐานตัดตุงปีใหม่ และฐานกระทงใบตอง
เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านสื่อกิจกรรม ที่สร้างความสนุกสนาน ได้เรียนไปพร้อมๆ กับการเล่น และยังกระชับความสัมพันธ์กับคนในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา ทางเทศบาลได้ก่อสร้างและย้ายสถานที่ตั้งของศูนย์และโรงเรียนอนุบาลมาอยู่ในที่แห่งใหม่ ทำให้ช่วงแรกมีแต่สนามหญ้า ขาดสนามเด็กเล่น และสื่อต่างๆ ที่จะเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก เมื่อทราบจากเพื่อนครูที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองแสะ ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง ว่าทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม อย่างสมวัยและครบวงจร จึงได้หารือกับเพื่อนครูในศูนย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา และผู้บริหารเทศบาล เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
เมื่อเริ่มดำเนินโครงการ ครูกับผู้ปกครอง และทางเทศบาล ได้ช่วยกันปรับสนามหญ้าเป็นสนามเด็กเล่น ให้เด็กได้ออกกำลังกายกลางแจ้ง มีมุมน้ำ มุมทราย ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงภายในอาคาร ให้มีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก โดยครูกับเด็กๆ ช่วยกันทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นบ้าน เช่น กระบอกฟังเสียงน้ำไหล มีมุมเล่านิทาน มุมศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดึงผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้ปกครองเข้ามาร่วมทำกิจกรรมอุ้ยสอนหลาน แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ตามความถนัดของอุ้ยแต่ละคน “เด็กๆ ตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และมีความสุขมากกว่าเดิม สังเกตได้จากความกระตือรือร้นที่จะมาโรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีความร่าเริงแจ่มใส ขณะเดียวกันก็มีไอคิวและอีคิวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน จากช่วงต้นเทอม พบเด็กสมาธิสั้น 6 คน จากเด็กทั้งหมด 106 คน ถ้าไม่ถูกใจมักจะดิ้นอย่างแรง และกรีดร้อง ไม่ฟังเสียงใครทั้งสิ้น แต่พอได้เล่นน้ำ เล่นทราย และสื่อต่างๆ ที่จัดไว้อย่างสม่ำเสมอ ก็รู้จักฟังครูและคนอื่นๆ ใจเย็นขึ้น มีเหตุผล ไม่เห็นพฤติกรรมเดิมอีก” ครูรี อธิบาย
อย่างไรก็ตาม ในการทำงานย่อมเกิดอุปสรรค ซึ่งครูรีบอกว่า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากครูไม่ค่อยมีเวลา ช่วงปกติต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ตอนเย็นบางคนติดเวร มีเวลาว่างไม่พร้อมกัน ดังนั้นจึงฉวยโอกาสเมื่อเด็กหลับ เร่งผลิตสื่อตามความสามารถของแต่ละคน เช่น บางคนวาดภาพ ทำงานศิลปะเก่ง ก็อาจทำนิทานผัก-ผักไม้ บางคนถนัดงานไม้ ทำกระบอกน้ำ กระบอกทราย ของเล่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ด้านนันทินา หน่อแก้ว ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลบวกค้าง เล่าว่า ระยะห่างระหว่างเทศบาล กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ที่มีแค่ถนนกั้นกลาง ทำให้ผู้บริหารเทศบาลใส่ใจกับเด็กเล็กค่อนข้างมาก เมื่อทางครูมีโครงการดีๆ มักจะได้รับการตอบสนอง และยังแวะมาเยี่ยมเยียน หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ บ่อยครั้ง ขณะที่ห้องทำงานของกองการศึกษา ก็อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วย การประสานงาน ปรึกษาหารือกัน จึงทำได้ตลอดเวลา
เช่น เมื่อครูรี สนใจทำโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบวกค้าง ก็มาพูดคุยกัน และช่วยกันตั้งแต่เขียนโครงการ คิดกิจกรรม เมื่อครูจัดประชุมก็เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ปกครอง ซึ่งมักจะให้ความร่วมมือเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการลงแรงกายในการทำสนามเด็กเล่น หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลจัดขึ้น
“สังเกตเห็นว่ากิจกรรมอุ้ยสอนหลาน กระตุ้นให้เด็กๆ ตื่นตัวเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ดีมาก จึงคุยกับครูว่าต่อไปทุกวันศุกร์ จะวางแผนใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ประสานกับพระสงฆ์จากวัดในพื้นที่ตำบล หรือเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แกนนำหมู่บ้านต่างๆ ให้หมุนเวียนมาพบปะทำความคุ้นเคยกับเด็กๆ อาจมีการเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ นิทาน สอนตัวหนังสือล้านนา สอนฟ้อน สอนธรรมะ ตามความถนัดของผู้ที่ถูกเชิญมา” ผอ.กองการศึกษา กล่าว พร้อมกับย้ำว่าช่วง 5-6 เดือนที่ดำเนินโครงการ เด็กไม่เพียงแค่ได้เรียนรู้เรื่องสี จำนวน ขนาด จากกิจกรรม และสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ หากยังเกิดพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ รู้จักการทำกิจกรรมกลุ่มมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น อารมณ์ดี เมื่อผู้ปกครองรายอื่นเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็อยากพาลูกมามาฝากที่ศูนย์ฯ บ้าง แต่ข้อจำกัดคือจำนวนครูมีเพียง 3 คน ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด จึงใช้วิธีให้มาลงชื่อไว้ก่อน แล้วทยอยนำเด็กใหม่เข้ามาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 คน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับครู เพื่อน และสถานที่ เลิกร้องไห้งอแงหาพ่อแม่ อันเป็นวิธีการที่ครูรับได้ ผู้ปกครองก็เชื่อมั่นว่าดี ในระยะปรับตัวลูกหลานได้อยู่ในสายตาครูอย่างใกล้ชิด
เรียกได้ว่า ผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นดัชนีที่บ่งชี้ว่าการใช้สื่อสร้างสรรค์ที่ครูทำเองจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และเชื่อมโยงความร่วมมือไปยังผู้ปกครอง คนในชุมชน เป็นวิธีการที่เหมาะสม ในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 ด้านให้กับเด็ก คือกาย จิต สังคม และปัญญา ตามนโยบาย 3 ดี ได้แก่ สื่อดี คือเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน พื้นที่ดี ด้วยการร่วมกันจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และภูมิดี โดยนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผนวกกระบวนการเรียนรู้ด้วย.