สนข.เสนอรูปแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา พร้อมเปิดรับฟังความเห็นก่อนสรุปครั้งสุดท้ายในเดือนมิ.ย. ทีมศึกษามช.เสนอ 2 โครงข่ายทั้งบนดินและใต้ดิน ด้านอดีตรองผู้ว่าฯกทม.แนะรัฐบาลลงทุน 80% และให้เอกชนบริหาร เชื่อ 10 ปีทำได้แต่ให้เลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด ชี้การทำระบบต้องให้ผ่านชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อให้มีผู้โดยสารมากที่สุด
ที่ห้องประชุมฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายวิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนข.ว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท โดยกล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลักในภูมิภาค 6 แห่งคือ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลาและภูเก็ต
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางธุรกิจและเป็นเสมือนเมืองหลวงด้านการศึกษาของภาคเหนือ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้ ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงทำให้เมืองเชียงใหม่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดปัญหาด้านคมนาคมขนส่งและการเดินทาง ปัญหาการจราจรที่แออัดคับคั่งในเขตเมืองและความไม่สะดวกในการเดินทาง
นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สนข. กล่าวอีกว่า การศึกษานี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปแล้ว 2 ครั้ง และนำข้อมูล รวมถึงข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมมาดำเนินการประกอบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง ทั้งสายสีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว ที่เดินทางจากทิศทางต่างๆ มาสู่คูเมือง มีรูปแบบการลงทุน ทั้งบนดินและใต้ดิน และในการประชุมครั้งนี้ ยังรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในประเด็นรูปแบบการลงทุน การจัดรูปแบบองค์กรและการบริหารจัดการระบบให้มีความยั่งยืน สอดรับกับบริบทของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังได้มีการทำงานควบคู่ไปกับทีมงานมรดกโลกของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมกับไม่ให้เกิดผลกระทบกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชียงใหม่อีกด้วย
ด้านรศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สนข.ได้มอบหมายให้มช.ดำเนินงานศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมต่อสภาพเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ได้แผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนาในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งรูปแบบการลงทุน การจัดองค์กรและการบริหารจัดการระบบให้มีความยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สำหรับระยะเวลาการศึกษา 1 ปีเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2559 ซึ่งขณะนี้ล่าช้าไปเกือบ 5 เดือน ภายใต้วงเงินศึกษาจำนวน 20 ล้านบาท เหตุที่ต้องทำการศึกษาใหม่เพราะระบบที่เคยศึกษาไว้มันนานและเก่าแล้ว ไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ขณะนี้การศึกษาอยู่ในขั้นการทำเวิร์คชอปรูปแบบการลงทุน การบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะซึ่งจะมีการนำเสนอโครงข่ายที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้วมี 2 รูปแบบ ซึ่งตามแผนระยะสั้นใช้เวลา 10 ปีระยะกลาง 10 ปีและระยะยาว รูปแบบที่เหมาะสมก็จะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือ LRT
ทางด้านดร.ทรงยศ กิตธรรมเกสร รองผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง ประชุมกลุ่มย่อยอีก 5 ครั้งทางโครงการได้ทำโครงข่ายทางเลือกร่วมกับทางสนข. ได้โครงข่ายต้นแบบ 2 โครงข่ายคือ โครงข่าย A จะเป็นแบบผสมผสานคือจะมีทั้งบนดินและใต้ดิน และโครงข่าย B จะเป็นบนดินทั้งหมด
โครงข่าย Aจะประกอบไปด้วยเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง สายสีแดงระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ผ่านศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่-สนาม 700 ปี-ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งจะเป็นระบบบนดิน และจะเริ่มระบบใต้ดินตั้งแต่แยกข่วงสิงห์-รพ.มหาราช-สนามบินเชียงใหม่ และเริ่มบนดินจากสนามบิน-แยกบิ๊กซีหางดง
สายสีเขียว เริ่มต้นจากรวมโชค เข้าสู่ระบบใต้ดินที่แยกรพ.เทพปัญญา-กาดหลวง-ไนท์บาร์ซ่า-เซ็นทรัลแอร์พอร์ต-สนามบิน
สายสีน้ำเงินระยะทาง 12 กม.เริ่มจากสวนสัตว์เชียงใหม่-ม.ราชมงคลล้านนา-มช.-เส้นคันคลองชลประทาน-แยกตลาดต้นพะยอม-รพ.มหาราช ซึ่งจะพบกับจุดตัดสายสีแดงผ่านคูเมืองเชียงใหม่ ตัดเข้าเส้นสายสีเขียวที่ไนท์บาร์ซ่า-ใช้ระบบบนดินไปทางถนนหนองประทีป-ซุปเปอร์ไฮเวย์-พรอมเมนาดา
สำหรับโครงข่าย B จะประกอบทั้ง 3 เส้นทางแต่ต่างตรงที่ระบบทั้งหมดจะอยู่บนดินและใช้ผิวการจราจรร่วมกับการเดินรถปัจจุบัน แต่จะมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามจอดรถรอบคูเมืองตลอดแนวและใช้ Feeder รองรับคนเข้ามาสู่เส้นทางหลักโดยใช้รถเมล์เป็นหลัก
โดยทั้ง 2 โครงข่ายใช้ระบบ LRT หรือรถไฟฟ้ารางเบา หากเลือกใช้โครงข่าย Bจะใช้สัญญาณไฟจราจรร่วมกับทางปกติ ความเร็วของรถประมาณ 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากใช้เวลาก่อสร้างก็ไม่มาก แต่ถ้าเลือกโครงข่าย A จะใช้งบในการก่อสร้างสูง โดยจะเจาะลึกลงไปใต้ดินประมาณ 10 เมตรและไม่กระทบกับโบราณสถาน เนื่องจากมีทางวิ่งเฉพาะดังนั้นความเร็วรถจะอยู่ที่ 30-35 กม./ชม.ซึ่งเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาจราจรและรองรับการเติบโตของเมืองได้ถึง 40 ปี
“ในเดือนมิ.ย.จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เพื่อสรุปผลการศึกษาและรูปแบบที่ได้ทั้งหมดส่งให้กับสนข.พร้อมกับแผนลงทุน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหากครม.เห็นชอบก็จะออกแบบทางวิศวกรรมได้”รองผจก.โครงการกล่าว
ขณะที่ดร.สามารถ พลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่ากทม.ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า การลงทุนระบบส่งสาธารณะจะคำนึงถึงผลตอบแทนเป็นตัวเงินไม่ได้ ต้องดูว่าประเทศจะได้ประโยชน์จากการประหยัดพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงและเวลาในการเดินทาง แต่อย่างไรก็ไม่ควรให้ขาดทุนอย่างหนัก ต้องขาดทุนให้น้อยที่สุด สำหรับการลงทุนจะเป็น LRT โมโนเรลหรือ BRT ก็แล้วแต่ อย่างไรก็เชียงใหม่ควรจะศึกษาระบบที่เหมาะสม และทางคณะที่ศึกษาเสนอรูปแบบ LRT ซึ่งการลงทุนจากถูกกว่าโมโนเรล ส่วน BRT อาจจะมีปัญหาค่าดำเนินการ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชาวเชียงใหม่
อดีตรองผู้ว่ากทม.ยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องของเส้นทาง ในการเลือกเส้นทางขอให้เชื่อมชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่กับที่ทำงานให้ได้ ถ้าหากเส้นทางไม่ผ่านชุมชนที่ไม่หนาแน่นก็จะต้องมีฟีดเดอร์ที่ขนคนมา อย่าให้ซ้ำรอยกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงของกทม.ที่ผ่านแต่ที่ทำงานแต่ผ่านชุมชนที่อาศัยน้อย โอกาสขาดทุนจึงมีสูงมาก นอกจากนี้ถนนในเชียงใหม่ค่อนข้างแคบจะแก้ปัญหาอย่างไรถ้าหากเลือกระบบผสมผสานหรือระบบบนดิน แต่ถ้าเลือกระบบลงใต้ดินทั้งหมดค่าก่อสร้างก็จะแพงขึ้น
“จริงๆ ผมอยากให้โครงการนี้เป็นจริงไม่ใช่แค่ศึกษาทิ้งไว้ อยากให้มีระบบรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศและระบบขนส่งสาธารณะในหัวเมืองใหญ่จะเป็นจริงได้รัฐบาลกลางจะต้องเป็นผู้ลงทุนอย่างน้อย 80% ของมูลค่าโครงการ ถ้าจะให้เอกชนลวทุนทั้งหมดคงไม่มีใครมาลงทุนแน่เพราะต้องขาดทุนแน่นอน ดังนั้นภาครัฐจะต้องร่วมทุนกับเอกชนรัฐลงทุน 80% เอกชน 20% และให้สัมปทานไม่น้อยกว่า 30 ปี และก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐลงทุนทั้งหมดแล้วให้เอกชนเข้ามาบริหาร เพราะว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้เอกชนไม่กระตือรือร้นในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร และก็ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วยทั้งอบจ.เทศบาลและอบต.แต่จะให้เป็นภาระของท้องถิ่นโดยรัฐบาลกลางไม่ช่วยก็ไม่ได้ เพราะการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท”ดร.สามารถกล่าวและว่า
ที่น่าจะเป็นไปได้น่าจะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ซึ่งมีประสบการณ์มาบริหาร ทั้งนี้ควรจะเริ่มต้นจากสายใด สายหนึ่งก่อน โดยเลือกเส้นทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาให้อย่าให้เอกชนนำไม่ใช่เหมือนขอนแก่นที่รัฐให้ที่ดินกลางเมือง 100 ไร่ไปบริหารจัดการ แต่เชียงใหม่ที่ดินราคาแพงและหายาก และการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะภาครัฐต้องให้ความสำคัญอย่างมากด้วย.