รองผวจ.เชียงใหม่เปิดโครงการสาธิตปลูกข้าวหอมมะลิแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว แนะชลประทานขยายผลเพิ่มขึ้น

รองผวจ.เชียงใหม่เปิดโครงการสาธิตปลูกข้าวหอมมะลิแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว แนะชลประทานขยายผลเพิ่มขึ้น

รองผวจ.เชียงใหม่เปิดโครงการสาธิตปลูกข้าวหอมมะลิแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ซึ่งชลประทานเชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการในแปลงนาสาธิตของเกษตรกรต้นแบบ พร้อมทดลองขับรถปักดำข้าว เผยผลสำเร็จการทำนาเปียกสลับแห้งเพิ่มผลผลิตจากเดิมถึง 133 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่ม

นายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ”โครงการสาธิตการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิ พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ อำเภอพร้าว” ซึ่งหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และนายสุพรรณ์  นาคเปราะ เกษตรกรต้นแบบอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดทำโครงการสาธิตการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้ชื่อโครงการ “การสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในเขตพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

นายเจนศักดิ์  ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า โครงการสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในเขตพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว อำเภอพร้าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธิตการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิซึ่งจะช่วยให้เกิดการประหยัดทรัพยากรน้ำ อีกทั้งสามารถเพิ่มคุณภาพและผลผลิตของข้าวหอมมะลิ ตลอดจนเพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ในการดำเนินการสู่พื้นที่รับผิดชอบเกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบประเภทข้าวของจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงเพื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณผลผลิต และต้นทุนการผลิตของวิธีการปลูกข้าวหอมมะลิแบบดั้งเดิมกับวิธีการใหม่

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวแปลงใหญ่ต้นแบบของจังหวัดเชียงใหม่และเคยทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งและเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เริ่มทดลองปลูกข้าวเปียกสลับแห้งในข้าวนาปรังมาแล้ว 2 ครั้งและจากที่เริ่มต้นในแปลงนาเพียง 5 ไร่ของนายสุพรรณ์ ปีถัดมาได้ขยายผลออกไปอีกเป็น 150 ไร่และในปีการผลิต 2559/2560 ซึ่งเป็นฤดูปลูกข้าวนาปี ได้ขยายผลเป็น 350 ไร่

“การปลูกข้าวเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวที่ผ่านมาจะเป็นข้าวนาปรัง พันธุ์ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 แต่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนเป็นข้าวนาปีเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ว่าสามารถทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวกับข้าวนาปีซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิได้ โดยผสมผสานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ 9 มาร่วมด้วยโดยมีการเลี้ยงกบและเลี้ยงปลาในแปลงนาสาธิต เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในโซนนี้ซึ่งมีพื้นที่ทำกินกว่า 6 พันไร่ได้เรียนรู้ศึกษาและขยายผลออกไป”นายเจนศักดิ์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับแปลงนาข้าวของนายสุพรรณ์นี้ทางชลประทานเชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้บูรณาการร่วมกัน ในครั้งแรกที่ทำพบว่าสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 23%  ซึ่งเกษตรกรในแถบนี้จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น ก็ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 450 ลบ.ม./ไร่ ถ้าหากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดกว่า 6 พันไร่มาทำนาข้าวเปียกสลับแห้งก็จะทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 1.5 ล้านลบ.ม.และยังสามารถปลูกพืชอื่นได้เพราะมีน้ำที่เหลือใช้จากการทำนา และแปลงข้าวที่ทำนาเปียกสลับแห้งจะให้ผลผลิตมากกว่าทำนาแบบเดิมที่ได้ผลผลิต 712 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มมาเป็น 845 กิโลกรัมต่อไร่ คือเพิ่มจากเดิมถึง 133 กิโลกรัมต่อไร่

ทางด้านนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ในภาพรวมของโครงการการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวนี้สามารถตอบโจทย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งรมว.เกษตรฯได้มอบหมายให้ขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน และที่นาแปลงใหญ่อ.พร้าวมีการผลิตข้าวที่ครบวงจรเนื่องจากมีสหกรณ์การเกษตรมาเกี่ยวข้องและกำลังจะขยายผลเข้าสู่นาแปลงใหญ่ซึ่งก็เป็นแปลงสาธิตของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาด้วย โดยเพิ่มการเลี้ยงกบและเลี้ยงปลาในแปลงนาเป็นการเพิ่มมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าในแปลงนาสาธิตที่ปลูกแบบอินทรีย์สามารถเลี้ยงปลาและกบได้โดยไม่มีผลกระทบและยังเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและที่สำคัญยังมีการบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯด้วย

ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวนี้ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ถึง 18% อย่างไรก็ตามทางกระทรวงฯตั้งเป้าไว้ที่ 20% ซึ่งก็จะต้องขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวให้ได้ และตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตอีก 20% มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีตลาดที่รองรับชัดเจน ซึ่งข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์นี้ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาทซึ่งก็จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 23,912 บาทต่อคน

ขณะที่นายสุพรรณ์  นาคเปราะ กล่าวว่า ที่ตนได้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นคนแรกเนื่องจากเป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำแม่โก๋น อ.พร้าวซึ่งที่นี่เป็นแหล่งปลูกข้าว ในช่วงฤดูทำนาก็จะมีการประชุมร่วมกับทางชลประทานเชียงใหม่เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันตลอด และทางชลประทานฯได้นำเสนอวิธีการทำนาที่จะทำให้ประหยัดน้ำ ซึ่งตนเป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำจึงอาสาใช้แปลงนาของตนเองทดลองตามโครงการในปี 2558 จึงได้เริ่มปลูกข้าวนาปรังแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ตอนนั้นได้เห็นความแตกต่างในการใช้น้ำมากซึ่งประหยัดน้ำได้ 30-40% หากเทียบเป็นวันคือลดการนำน้ำเข้าที่นาได้ประมาณ 20 วัน และการที่ไม่ต้องเอาน้ำเข้าบ่อยๆ ก็ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีไปด้วย

“ในปีแรกที่ทำและได้ผลทำให้เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำเริ่มเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น และมาจนถึงขณะนี้สามารถขยายผลไปอีก 3-4 หมู่บ้านพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 350 ไร่ ซึ่งการดูแลรักษาข้าวที่ปลูกแบบนี้ก็เหมือนปลูกข้าวทั่วไป แต่ที่แตกต่างคือผลผลิตที่ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะการทำนาปัจจุบันต้นทุนค่อนข้างสูง เฉพาะค่ารถไถพรวนดิน 800 บาทต่อไร่ รถปลูกข้าวไร่ละ 1,200 บาท รถเกี่ยวข้าว 620 บาทต่อไร่และค่าปุ๋ยกระสอบละ 600 บาทต่อไร่ ซึ่งเมื่อเทียบกับนาข้าวที่ปลูกทั่วไปจะได้ผลผลิตประมาณ 700 กว่ากิโลกรัม แต่ของเราได้ 800 กว่ากิโลกรัมทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น”เกษตรกรต้นแบบฯกล่าว

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้นับเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างมากโดยเฉพาะในผสมผสาน และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ จึงอยากให้ทางสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่และชลประทานเชียงใหม่ขยายผลไปยังพื้นที่ปลูกข้าวแหล่งอื่นของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร และขอให้เกษตรกรได้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาดูแลให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรเอง

หลังจากนั้นรองผวจ.เชียงใหม่ได้ปล่อยพันธุ์ปลา พันธุ์กบในแปลงสาธิต พร้อมกับสาธิตการปักดำด้วยรถปักดำข้าว และเยี่ยมชมนิทรรศการ“การนำร่องการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในเขตพื้นที่ชลประทาน” การ.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้