ชลประทานเชียงใหม่แจงการปรับปรุงฝายยางเชียงดาว ต้องทำตามขั้นตอนโดยเฉพาะการขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ขณะที่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำเรียกร้องให้ปรับปรุงฝายวังไฮที่อยู่ด้านล่าง ชี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่เกษตรกว่า 1,500 ไร่
การออกมาเรียกร้องของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ในเขตพื้นที่ก่อสร้างโครงการฝายเชียงดาวเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับฝายยางที่เปิดใช้งานแค่ครั้งเดียว ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีการใช้ประโยชน์มานานถึง 14 ปี ทั้งๆ ที่งบประมาณในการก่อสร้างฝายดังกล่าวเป็นเงินภาษีที่รัฐนำมาลงทุนก่อสร้างตั้งแต่ปี 2546
นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับโครงการฝายเชียงดาวแห่งนี้ เป็นโครงการก่อสร้างฝายยางทดน้ำลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ซึ่งการก่อสร้างฝายยางกั้นแม่น้ำปิง เป็นโครงการที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พ.พ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างที่บริเวณบ้านม่วงฆ้อง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2542 วัตถุประสงค์ก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำซึ่งนำไปใช้ในการเพาะปลูก อุปโภค บริโภคและอื่นๆในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง หรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วง
“ในขณะนั้นยังไม่มีการพัฒนาแหล่งน้ำในบริเวณดังกล่าว องค์ประกอบหลักของโครงการฝายเชียงดาวในการก่อสร้างช่วงต้นประกอบด้วยอาคารหัวงานและส่วนประกอบ เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 10,144 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง 2,882 ไร่ และพื้นที่ชลประทานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีก 7,262 ไร่”หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวและอธิบายอีกว่า
ตัวฝายเชียงดาวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านม่วงฆ้อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ซึ่งแยกเข้าจากทางหลวงหมายเลข 107 ที่บ้านดอนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ฝายเชียงดาวเป็นการก่อสร้างบนฐานคอนกรีตพร้อมติดตั้งฝายยาง ซึ่งสามารถควบคุมการพองตัวและยุบตัวด้วยน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำเหนือฝายสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง และสามารถลดระดับเพื่อระบายน้ำหลากที่มากเกินความต้องการในฤดูฝน ซึ่งจะสามารถระบายตะกอนที่ทับถมบริเวณหน้าฝายได้ด้วย
ฝายแห่งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมแล้วประมาณ 200 กว่าล้านบาท ซึ่งแยกเป็นค่าก่อสร้างฝายและอาคารประกอบ 178 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 17.09 ล้านบาทและค่าชดเชยทรัพย์สินที่ตั้งฝายอีก 10 ล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์ในโครงการฝายเชียงดาวนี้จะมีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 10,144 ไร่ มีความหนาแน่นในการปลูกพืช 195 ไร่และยังมีผลประโยชน์พลอยได้คือเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับประปา อ.เชียงดาวและแหล่งน้ำสำหรับการประมงด้วย อ้างอิงจกรายงานการส่งมอบโครงการ
หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝายเชียงดาวเมื่อสร้างเสร็จได้ทดลองใช้งานในปีพ.ศ.2546 ซึ่งผลการทดสอบสามารถใช้งานได้ตามที่ออกแบบไว้ แต่ต่อมามีชาวบ้านซึ่งตั้งอยู่เหนือฝายไปร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่เหนือฝายว่าระดับน้ำที่เก็บกักไว้ได้ไหลลอดคันดินเข้าท่วมพื้นที่ทำกินจำนวน 14 ไร่และไม่ยินยอมให้มีการพองฝายยางจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ซึ่งจ่อมาก็มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาเป็นระยะๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์และอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว
“กรมชลประทานให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรที่ใช้น้ำทั้งหมด และไม่เคยเพิกเฉยนับตั้งแต่ได้รับการส่งมอบโครงการนี้มาดูแล ข้อเท็จจริงการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่เกษตรกรจะใช้ประโยชน์จากฝายวังไฮซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ก่อสร้างฝายเชียงดาวนี้ ไปทางด้านท้ายน้ำประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นฝายดั้งเดิมปัจจุบันก็ยังใช้งานอยู่ สำหรับการก่อสร้างฝายยางแห่งนี้ในขั้นตอนกระบวนการการมีส่วนร่วมก่อนดำเนินโครงการจะมีกระบวนการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านหรือไม่นั้น โครงการชลประทานเชียงใหม่ไม่มีข้อมูล ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูฝนฝายเชียงดาวแห่งนี้จะเป็นจุดวัดน้ำที่สำคัญในลำน้ำปิงบริเวณต้นน้ำปิง เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังการเตือนภัยกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำปิง เพราะฝายเชียงดาวสามารถวัดข้อมูลระดับน้ำใช้วิเคราะห์อัตราการไหลก่อนส่งข้อมูลให้สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้”นายเกื้อกูล กล่าวและอธิบายต่อว่า
ในช่วงฤดูแล้ง เมื่อรับมอบโอนโครงการมาบริหารจัดการ การยกฝายยางที่ระดับเกิน 1 เมตรจะมีน้ำลอดคันดินฝั่งซ้ายเหนือฝายเข้าท่วมพื้นที่ของเกษตรกรจำนวน 14 ไร่ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการพองยางด้วยเพราะจะทำให้สวนผลไม้ที่อยู่ริมตลิ่งหลังคันดินได้รับความเสียหาย ส่วนที่จะให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้นั้นมีการประชุมหารือและมีการตรวจสอบรังวัดพื้นที่น้ำท่วม ตลอดจนกันเขตพื้นที่ได้รับผลกระทบไว้เป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ไม่มีเอกสารสิทธิ์และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวจะต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าให้เรียบร้อยและได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้จึงจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนตามข้อระเบียบ ข้อกฎหมายได้
“การแก้ไขปัญหามันก็เหมือนกับการติดกระดุมเสื้อ ถ้ากลัดกระดุมผิดเม็ดมันก็แก้ไม่ตรงจุด ประกอบกับช่วงก่อนที่มีการถ่ายโอนภารกิจและตรวจสอบเอกสาร สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ทำหนังสือขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว เพื่อขออนุญาตให้ถูกต้องซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายทั้งเรื่องจ่ายค่าทดแทนรื้อย้ายพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านหน้าฝาย การขยายระบบส่งน้ำจากฝายเชียงดาวสู่ระบบส่งน้ำฝายวังไฮเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”นายเกื้อกูลกล่าว
นายนิวัติชัย อุดเถิน ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำวังไฮ บอกว่า เรื่องการก่อสร้างฝายยางเชียงดาวนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมมาก่อนพึ่งมาเห็นตอนสร้างเสร็จแล้ว ข้อเท็จจริงชาวบ้านก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฝายนี้เพราะมีฝายวังไฮซึ่งเป็นฝายชลประทานราษฎร์ เป็นฝายหลักตอก หินทิ้งซึ่งอยู่ห่างจากฝายยางเชียงดาวประมาณ 1 กิโลเมตร ฝายนี้ทุกปีกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องมีการซ่อมแซม ทางชาวบ้านอยากให้กรมชลประทานเข้ามาปรับปรุงดูแลฝายนี้ให้มีความมั่นคงถาวรมากกว่านี้อาจจะทำเป็นฝายที่มีประตูหรืออะไรก็ได้ พร้อมกับคลองส่งน้ำ เพราะฝายวังไฮนี้ก่อนที่จะปรับปรุงทุกปีก็ต้องขอชลประทานช่วยในเรื่องของหินการยึดหิน รวมทั้งไม้ตอกซึ่งก็ใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ แต่ชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำพร้อมที่จะมาช่วยเรื่องแรงงาน ฝายนี้มีเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์กว่า 1,500 ไร่ เพราะมีชาวบ้าน 3 หมู่บ้านที่ได้ประโยชน์คือบ้านม่วงฆ้อง บ้านดงและทุ่งหลุกซึ่งการเกษตรก็ทำนาปีละ 2 ครั้งและพืชสวน พืชไร่อีก คือทำการเกษตรได้ตลอดปี
อย่างไรก็ตามหลังจากลงพื้นที่แล้ว นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หน.กลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ บอกว่า การซ่อมแซมหรือปรับปรุงฝายยางเชียงดาว ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ตลอดจนต้องได้รับอนุญาตจากการขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้จากสำนักจัดการป่าไม้ที่ 1 ซึ่งความคืบหน้าการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมกับเสนอของบประมาณปลูกป่าเพิ่มเติมทดแทน อย่างไรก็ตามความเร่งด่วนลำดับแรกในส่วนของโครงการชลประทานเชียงใหม่คือการเสนอของบประมาณปรับปรุงฝายวังไฮให้มีความมั่นคง แข็งแรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรมเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม หากเปรียบเทียบกับการปรับปรุงฝายวังไฮที่อยู่ตอนล่างฝางยางเชียงดาวและเกิดประโยชน์มากกว่า และเป็นความต้องการของเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จำนวนมากด้วยซึ่งก็เป็นสิ่งที่กรมชลประทานต้องเอาไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายของกรมชลประทานคือต้องให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำได้ประโยชน์สูงสุด.