ผู้ว่าฯสั่งเกษตร-พาณิชย์สำรวจต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 ใหม่หลังข้อมูลที่เกษตรกรกับหน่วยงานรัฐไม่ตรงกัน หวั่นปัญหาราคาตก ม็อบมาเยือน ด้านนอภ.แม่แจ่มรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลง พร้อมประชุมฝ่ายเกี่ยวข้องหวังใช้ม.19 แก้ปัญหาบุกรุกป่า
ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผวจ.เชียงใหม่เป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยผวจ.เชียงใหม่ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่และพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ไปสำรวจข้อมูลที่ถูกต้องของพืชเกษตรทั้งข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งพื้นที่การปลูก ผลผลิตและต้นทุน รวมถึงเรื่องการวางแผนเรื่องการตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและขณะที่พืชเกษตรเหล่านี้เป็นพืชเศรษฐกิจของเชียงใหม่ ที่เกษตรกรปลูกจำนวนมากและเกรงว่าจะเกิดปัญหาในช่วงผลผลิตจะออกสู่ตลาดเหมือนกับลำไย โดยเฉพาะข้าวเหนียวสันป่าตอง 1กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปีด้วย
ทางด้านนายอรรถชา กัมปนาถแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำมาโดยตลอด และปีที่ผ่านมาราคารับซื้ออยู่ที่ 1-6 บาทขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องของราคาต้นทุนที่ไม่ตรงกัน โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดประเมินราคาต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 3.80 บาทต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรบอกว่าต้นทุนอยู่ที่ 8.25 บาท ซึ่งมีช่องว่างอยู่ถึง 4 บาท และทางอำเภอได้นำเรียนผวจ.เชียงใหม่ถึงปัญหาดังกล่าว เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือแล้ว
ในปีนี้แม้ว่าในพื้นที่แม่แจ่มจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงจากเดิม ที่มีพื้นที่ปลูก 1.7 แสนไร่ ในปีการผลิต 2559/60 มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.2 แสนไร่และปีการผลิต 256/62 มีการปลูกประมาณ 1 แสนไร่ โดยคาดว่าผลผลิตที่จะออกในปีการผลิตนี้ประมาณ 7.8 หมื่นตัน(เมล็ดข้าวโพดหลังสีแล้ว)
“ในการคิดราคาต้นทุน ทางหน่วยงานรัฐทั้งเกษตรและพาณิชย์จะคิดต้นทุนต่อไร่ถูกกว่าเกษตรกร โดยมองว่าในพื้นที่ปลูกที่สูงไม่สามารถใช้รถไถได้ และเกษตรกรลงมือไถเองก็ไม่คิดเรื่องค่าจ้างรถไถ ค่าแรง ขณะที่เกษตรกรบอกต้องคิดเพราะต้องจ้างเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีการคิดเรื่องต้นทุนค่าแรงที่แท้จริงก่อน เพราะเมื่อผลผลิตออกและหากราคาตกต่ำและมีการร้องขอความช่วยเหลือหน่วยงานรัฐจะได้นำไปพิจารณาหาแนวทางได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย”นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม-มกราคม ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการปลูก ถ้าราคายังไม่ดีเกษตรกรสามารถปล่อยให้ผลผลิตคาต้นไว้ก่อนได้ ซึ่งราคาก็ขึ้นอยู่กับดีมาน ซัพพลาย อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่าบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีจากต่างประเทศอยู่
นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่แม่แจ่มถือว่ามากที่สุดในเชียงใหม่ประมาณ 98.5% ของพื้นที่และร้อยละ 95 ก็อยู่ในเขตป่า แต่อย่างไรก็ตามตามมติครม.30 มิ.ย.41 ให้คนที่เข้าไปอยู่ในป่าสามารถทำกินได้ ซึ่งแม่แจ่มก็อยู่ในข่ายนี้ถึง 1.7 หมื่นราย พื้นที่กว่า 150,000 ไร่
สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ป่านี้ ขณะนี้ทางคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.)ได้มอบเอกสารสิทธิ์ทำกินให้กับต.ช่างเคิ่งรอบแรก 3,500 ไร่และรอบที่ 2 ต.กองแขกอีก 16,000 ไร่รวมขณะนี้มีประมาณ 2 หมื่นไร่ แต่ก็ยังค้างอีกเกือบ 4 แสนไร่ โดยมติครม.ตามคำสั่งคสช.ที่ 66/57 ให้ครัวเรือนทำกินได้ไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งแม่แจ่มมีกว่า 17,000 ครัวเรือนหรือประมาณ 3.5 แสนไร่ แต่ปัจจุบันมีการบุกรุกป่าทำกินไปแล้ว 4.3 แสนไร่ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการขอพื้นที่ป่าคืน 8 หมื่นไร่“ในวันพรุ่งนี้(30 ส.ค.)จะมีการหารือร่วมกันระหว่างป่าไม้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและอำเภอ เกี่ยวกับม.19 ในการขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่า โดยให้อธิบดีกรมป่าไม้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่จัดการพื้นที่เขตป่าได้ เพื่อบำรุง ดูแลและรักษาป่า โดยทางอำเภอจะเสนอทำแนวรั้วซึ่งใช้การปลูกไผ่บล็อกพื้นที่ที่ได้รับสิทธิทำกินตามมติครม.41 จำนวน 3.5 แสนไร่ เป็นการป้องกันการขยายและบุกรุกป่าเพิ่มเติม เพราะหากรอให้คทช.มีการพิจารณาตามแผน 20 ปีคงใช้ระยะเวลานานและเกรงว่าจะมีการขยายบุกรุกไปมากกว่าเดิม เพราะขณะนี้ถือเป็นปีที่ 3 ที่คทช.ดำเนินการยังสามารถจัดการพื้นที่มอบโฉนดชุมชนได้เพยง 5% จากเป้าหมายพื้นที่ 6 ล้านไร่ทั่วประเทศ และหากใช้ม.19 มาดำเนินการได้.