เชียงใหม่ (1 ก.ย.60) / นักวิชาการ-นักกิจกรรม 5 คน ยื่นคำให้การคดีชุมนุมการเมือง- ขัดคำสั่ง คสช. ยืนยันไม่มีเจตนาต่อต้านรัฐบาล ขณะทนายความขอเรียกสอบพยานนักวิชาการ 5 คน ให้ปากคำเพิ่มเติม แจงรายละเอียดเวทีวิชาการความคืบหน้า กรณี ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , นายชัยพงษ์ สำเนียง นักวิจัย และนักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มช. , นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน , นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน และนางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และขัดคำสั่ง คสช. ในการประชุมวิชาการไทยศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 13 ระหว่าง 15-18 ก.ค. 60 กับพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมานั้นล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 ก.ย.ทาง ดร.ชยันต์ และผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด พร้อมด้วยนายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรตมที่ได้นัดหมายไว้ โดยมีกลุ่มเพื่อนนักวิชาการและนักกิจกรรมกว่า 30 คน เดินทางมาให้กำลังใจ
ดร.ชยันต์ เปิดเผยว่า คำให้การที่นำมามอบให้มีเนื้อหาที่ยืนยันว่าทั้ง 5 คน ไม่ยอมรับข้อกล่าวหา เพราะการประชุมที่จัดขึ้นเป็นการประชุมวิชาการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมให้ประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไม่มีเจตนาในการวิพากษ์วิจารณ์หรือปลุกปั่นต้อต้านรัฐบาล และการที่มีผู้เข้าร่วมประชุมชูป้ายแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้เป็นการต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสังเกตการณ์ในที่ประชุมโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยังมีการบันทึกภาพผู้เข้าร่วมประชุม ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพ ในการแสดงออกทางวิชาการดร.ชยันต์ กล่าวว่า ผู้ดูแลกฏหมายจะต้องเข้าใจในจุดยืนและท่าทีในการทำงานของมหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ในการจัดประชุมที่มีขึ้น ความหวาดระแวงของฝ่ายความมั่นคงจะไม่เกิดประโยชน์ต่อการพาประเทศไทยเข้าสู่การปรับตัวของกระแสโลก ส่วนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ไม่กังวล เพราะมีข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ในเจตนาที่จัดเวทีวิชาการครั้งนี้ขึ้นมาขณะที่นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คำให้การที่ยืนวันนี้เป็นการยืนยันถึงเสรีภาพในทางวิชาการซึ่งเป็นหลักสากลและรัฐธรรมนูญก็ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในส่วนนี้ไว้ โดยในวันที่ 11 กันยายนนี้ พนักงานสอบสวน ได้นัดผู้ถูกแจ้งข้อกลาวหาทั้งหมดเข้าพบอีกครั้ง เพื่อแจ้งว่าจะสั่งสำนวนอย่างไร โดยระหว่างนี้ได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5ปาก เพื่อนำไปประกอบสำนวน ซึ่งผู้ที่ร้องขอให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเพิ่มเติม มีนักวิชาการนิติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ รวมไปถึงนักวิจัยทางการเมืองอีกด้วย.