เชียงใหม่ (20 พ.ย.60) / ถอดบทเรียนสิทธิชุมชนและปฏิบัติการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ชี้ภาครัฐไม่สร้างความเข้าใจกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทำให้ไม่เข้าใจความหมาย ซ้ำแนวทางประกาศไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชนเผ่าดั้งเดิม โดยเฉพาะไร่หมุนเวียนที่ลดลงเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มช. จัดงาน “เวทีถอดบทเรียนปฏิบัติการพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและไร่หมุนเวียนระดับนโยบาย และสาธารณะตามมติ ครม. 3 ส.ค.53” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 100 คน และในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย เวทีสัมมนาเพื่อถอดบทเรียนว่าด้วยเรื่อง บทเรียน ผลสำเร็จ ข้อท้าทายและข้อเสนอแนะ เรื่องการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ กิจกรรมปฏิบัติการแบ่งกลุ่มย่อย การจัดนิทรรศการสาธิตผลผลิตจากไร่หมุนเวียน นิทรรศการภาพ และกิจกรรมพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งงานจะจัดขึ้น 2 วัน ช่วงวันที่ 20-21 พ.ย.60ทั้งนี้ ในช่วง 12.00-12.45 น. ของวันที่ 20 พ.ย. มีการสัมมนา ถอดบทเรียนสิทธิชุมชนและปฏิบัติการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ความสำเร็จ สิ่งท้าทายและข้อเสนอแนะ วิทยากรประกอบด้วย นายชัยประเสริฐ โพคะ ผู้ใหญ่บ้านหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, นายดิลก ตระกูลรุ่งอำไพ ผู้ใหญ่บ้านแม่หยอด ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, นายนรพล คงนานดี ตัวแทนจากเขตพื้นที่พิเศษ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, นายเจินไซร้ การาเกศ ผู้ใหญ่บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก, ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ผู้ศึกษาวิจัยเขตพื้นที่พิเศษลัทธิฤาษี และร่วมให้ความคิดเห็นโดยนายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ กับนายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มี ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร เป็นผู้ดำเนินรายการนายชัยประเสริฐ กล่าวว่า สิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะดึงมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ และแม้จะมีการออกกฎหมาย หรือใน รธน.แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงจารีต วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของชาวบ้าน และเชื่อว่ารัฐยังไม่เข้าใจคำว่าเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษว่าคืออะไร ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการออกกฎหมายมากมายและประกาศเขตพื้นที่อุทยาน พื้นที่ป่าสงวน แต่สังเกตว่าหลังจากประกาศแล้วรัฐไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการฟื้นฟูป่าเลย ที่สำคัญกฎหมายที่ประกาศออกมา กลับไม่มีการปกป้องชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนด้านนายดิลก กล่าวว่า ปัจจุบันการทำไร่หมุนเวียนที่บ้านแม่หยอดลดลงอย่างมาก ที่ผ่านมาคณะกรรมการหมู่บ้านได้หารือกับโรงเรียนเพื่อผลักดันให้บรรจุหลักสูตรการทำไร่หมุนเวียนลงในวิชาเรียน เพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าในอัตลักษณ์ของตนเอง ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เยาวชนที่ไปทำงานต่างถิ่นกลับมาบ้านเกิด สานต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาโครงการของรัฐ เช่น แม่แจ่มโมเดล ก็พบว่าในรายละเอียดไม่ได้กล่าวถึงการทำไร่หมุนเวียน ที่เป็นวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเลยนายนรพล กล่าวว่า ต.ไล่โว่ ยังคงมีปัญหาด้านการจัดการทั้งเรื่องงบประมาณ และด้านวิชาการ ปัจจุบันงบประมาณที่นำมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านนั้นเป็นเงินจากงานบุญ เช่น งานทอดผ้าป่าสามัคคี และด้านวิชาการ พบว่าในพื้นที่ยังขาดนักวิชาการ NGOs และนักวิชาการ ที่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้าไปช่วยสังเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถขยายเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษได้นายเจินไซร้ กล่าวว่า บ้านเลตองคุ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่แคบ มีประชากรเพียง 1,535 คน และในหมู่บ้านมีพื้นที่ทำนาเพียง 8 แปลงเท่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมข้ามไปทำไร่หมุนเวียนในฝั่งเมียนมาจำนวนมาก โดยในปี 2560 มีชาวบ้านจำนวน 48 ครอบครัวที่ข้ามไปทำไร่ในฝั่งเมียนมา ปัญหาที่ตามมาคือทางรัฐบาลเมียนมาเอง ก็มีการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันบ้านเลตองคุมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นหมาก และทุเรียน เพื่อเป็นอาชีพเสริม นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ปลูกข้าวโพดและยางพาราอีกด้วยดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ กล่าวว่า การประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ควรมีการระบุว่าในแต่ละชุมชนต้องมีพื้นที่ทางจิตวิญญาณด้วย และคาดหวังว่าในอนาคตรัฐจะผลักดันกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ออกมารองรับเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ นายวีรวัธน์ ได้ให้ความเห็นว่า เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษทั้ง 4 แห่งนั้น พบปัญหาคือชาวบ้านไม่เข้าใจความหมายของคำว่าเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษคืออะไร อย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว มติ ครม. หรือ กฎหมาย ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่การรักษาวิถีชีวิตชุมชนให้คงอยู่ต่อไปได้นั้นสำคัญกว่า ที่ผ่านมาการทำลายวัฒนธรรมชุมชนก่อให้เกิดภาวะเสี่ยง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยภายนอก นโยบายของรัฐ เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ และปัจจัยภายในคือเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมทำไร่หมุนเวียนแล้ว นอกจากนี้ในอนาคตพื้นที่ชายแดนจะประสบปัญหาใหญ่ในการทำไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะกลุ่มที่ข้ามไปทำไร่ในฝั่งเมียนมา เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาเริ่มจริงจังกับการจัดการชายแดน และอีกประเด็นที่กังวลคือเราจะยังคงรักษาการทำไร่หมุนเวียนได้ต่อไปในอนาคตอย่างไร และไร่หมุนเวียนจะสามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ด้านนายสุมิตรชัย กล่าวเสริมว่า ความพร้อมในการขยายเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน และการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนก็ยังคงเป็นปัญหา ทั้งนี้ควรหาความหมายหรือหาคำนิยามของเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างการรับรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ จนสุดท้ายหลายพื้นที่ได้ออกมาประกาศเอง.