รมช.เกษตรฯ ยอมรับห่วงตะกอนดินที่เกิดจากการเข้าไปใช้พื้นที่ป่า ไหลลงสู่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ย้ำเร่งสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วนบูรณาการความร่วมมือจัดการลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ แนะอยากให้ทุกคนทำด้วยตนเอง เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561
ที่ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธานประชุมติดตามผลการดำเนินงาน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง นายชยันต์ เมืองสง ผอ.สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และนายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 นำเสนอความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างทั้ง 2 สัญญา และตัวแทนผู้รับจ้างของงานจ้างก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง และช่วงแม่แตง – แม่งัด ทั้ง 4 สัญญา
นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผู้ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวว่า โครงการฯ นี้มีระยะทางยาว 49 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ผ่าน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งมีการก่อสร้าง 5 รายการใหญ่ รายการที่ 1 การก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน บริเวณลำน้ำแม่แตง เพื่อผันน้ำเข้าสู่อุโมงค์ หมายเลข 2 ที่เชื่อมแม่แตง – แม่งัด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอุโมงค์ 4 เมตร ยาว 25.624 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุดถึง 28.50 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อนำน้ำไปสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นก็มีอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอุโมงค์ 4.20 เมตร ยาว 22.975 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.50 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีการสร้างท่อส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดมายังแม่แตง ความยาว 26 กิโลเมตร
ความคืบหน้าการก่อสร้างช่วงแม่แตง – แม่งัด ในสัญญาที่ 1 กม.0+000 – 13+600 ความยาว 13.600 กม. ผู้รับจ้างคือบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด มีผลงานก่อสร้างสะสม 12.035 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัญญาที่ 2 กม. 13+600 – 25+624.378 ความยาว 12.024 กม. ผู้รับจ้างคือ บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) มีผลงานก่อสร้างสะสม 4.107 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างในช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 1 กม.0+000 – 12+500 ความยาว 12.500 กม. ผู้รับจ้างคือ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีผลงานก่อสร้างสะสม 11.556 สำหรับสัญญาที่ 2 กม.12+500 – 22+975 ความยาว 10.476 กม. ผู้รับจ้างคือ บมจ. ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น มีผลงานก่อสร้างสะสม 40.174 เปอร์เซ็นต์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการรับฟังรายงานว่า สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดไม่ใช่เรื่องเทคนิค ไม่ใช่เรื่องวิศวกรรม แต่สิ่งที่เป็นห่วงจากการเดินทางไปในพื้นที่ต้นน้ำต่างๆ พบว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินทำให้ป่าอยู่ร่วมไม่ได้ สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งเอาไว้ว่า คนควรจะอยู่ร่วมกับป่า เพราะข้อเท็จจริงคนจะไปอยู่ที่ไหนจะถูกเปลี่ยนเป็น ข้าวโพด เปลี่ยนเป็นรีสอร์ท เป็นกิจกรรมอะไรมากมาย แล้วป่าก็อยู่ไม่ได้ ตะกอนดินที่มากับน้ำน่ากลัวมาก
“ตะกอนดินจะเป็นตัวที่มาทำให้เขื่อนตื้นเขิน แล้วความสามารถในการเก็บน้ำก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ความพยายามที่เราจะเก็บน้ำไว้แก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนในช่วงแล้งก็จะน้อยลงไปทุกปี เพราะตะกอนแต่ละปีน่ากลัวมาก จึงมองว่าทุกวันนี้มีเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวงที่ เกิดจากศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประสบการณ์จากแนวพระราชดำริ จากห้วยฮ่องไคร้ ได้สร้างคนทุกกลุ่ม สร้างนักวิชาการในมหาวิทยาลัย สร้างประชาชน สร้างแกนนำ สร้างนักธุรกิจ สร้างข้าราชการที่มีประสบการณ์ที่จะจัดการลุ่มน้ำ ก็จะให้กรมชลประทานเป็นแม่งานในการที่จะขยายเครือข่ายจากแม่น้ำกวง มาให้เต็มทั้งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิง ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าแม่กวงหลายเท่า นั่นหมายความว่าต้องใช้พลังของทุกภาคส่วนสามัคคีกันเป็นอย่างมาก ซึ่งเป้าหมายของการสร้างเครือข่ายลุ่มน้ำก็เพื่อจะรักษาความสมบูรณ์ของน้ำ” รมช.เกษตรฯ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สิ่งที่ได้เน้นย้ำในการมาครั้งนี้มี 4 เรื่องที่ต้องนำมาบูรณการร่วมกัน งานแรกคือจะต้องสร้างเครือข่ายจัดการลุ่มน้ำให้แข็งแรงทุกภาคส่วนให้ได้ งานที่ 2 ประสานสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อร่วมกันกับกรมชลประทานในการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบจากการที่มีตะกอนมากในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ ว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด งานที่ 3 ทำอย่างไรให้เกิดระบบเก็บกักน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วมในการเก็บน้ำ ซึ่งพระองค์ท่านได้ทำตัวอย่างมาให้ดูแล้ว และเรียกว่าทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า คือมีทั้งอ่างใหญ่ อ่างกลาง อ่างเล็ก มีแหล่งน้ำประจำไร่นา เพียงแค่ปั้นคันนาก็กลายเป็นแหล่งเก็บน้ำแล้ว หรือไม่ก็สร้างฝาย สร้างคลอง สร้างหนองในพื้นที่ของตัวเอง เมื่อชาวบ้านทำแบบนี้ร่วมกันเป็นเครือข่ายจะได้ปริมาณน้ำ มากกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ที่รัฐสร้างด้วยด้วยซ้ำ ส่วนงานที่ 4.ต้องศึกษาถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในการที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้ได้น้ำที่เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ศูนย์การศึกษาเพื่อการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้มีความเข้าใจ มีตัวอย่างแล้ว ให้มาร่วมดำเนินการ
รมช.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีตัวอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำให้ดูแล้ว เรื่องนี้ต้องขยายเป็นเครือข่าย ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม หลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ทำแล้ว แต่ยังไม่เป็นระบบ แต่ครั้งนี้ต้องทำให้เกิดเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ และทำกันจริงๆ ทั่วทั้งโลกเขาได้ยกย่องพระมหากษัตริย์เราตั้ง 40 กว่าเรื่อง อยากให้ทำกันจริงๆ ทั้ง 40 กว่าเรื่อง มีการดำเนินการอย่างจริงจังทั้งลุ่มน้ำปิงกว่า 4 ล้านไร่ อยากให้ทุกคนทำด้วยตนเอง และเป็นการทำเพื่อถวายพระองค์ท่านในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 โดยจะเป็นการเตรียมการและร่วมกันทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะเป็นบุญอย่างยิ่งใหญ่ ประโยชน์ที่ได้ไม่ได้ตกที่ใคร แต่อยู่กับประชาชนทั้งลุ่มน้ำปิง รวมถึงพื้นที่ใต้ลุ่มแม่น้ำปิงลงไปด้วย.
ณัชชา อุตตะมัง ข่าว.