นักลงทุนกว่า 10 รายสนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจแม่สอดคาดมูลค่าลงทุนกว่า 6,500 ล้าน รายงานพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก(ตอนที่ 2)

นักลงทุนกว่า 10 รายสนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจแม่สอดคาดมูลค่าลงทุนกว่า 6,500 ล้าน รายงานพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก(ตอนที่ 2)

- in Exclusive, เศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ     เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก(ตอนที่ 2)

 

ธนารักษ์เตรียมนำลงทุนกว่า 10 รายลงพื้นที่แม่สอด ทั้งช้าง-เซ็นทรัลและกลุ่มโลจิสต์ติกแห่ซื้อซองประมูล คาดมูลค่าลงทุนสูงกว่า 6,500 ล้านบาท ขณะที่รองผวจ.ตากยอมรับการขับเคลื่อนช้ากว่าระเบียงศก.ภาคตะวันออกเพราะติดขัดข้อกม. เผยห่วงปัญหาด้านสังคม ความมั่นคงมากกว่าการค้า การลงทุน

นายสราวุธ เอี่ยมสำอาง ผู้แทนจากสำนักงานจังหวัดตาก กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นรูปธรรม เริ่มมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ซึ่งกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2557

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างสมบูรณ์ ได้แก่ 1. อําเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2. อําเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว  3. พื้นที่ชายแดน จังหวัดตราด 4. พื้นที่ชายแดน จังหวัดมุกดาหาร  5. อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) สิทธิประโยชน์สําหรับการลงทุน 2) การให้บริการ จุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ 3) มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และ 4)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงในภูมิภาค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จังหวัดตากได้ตั้งสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากและทำพิธีเปิดอาคารเมื่อเดือนมกราคม 2558 โดยภายในสำนักงานฯ ประกอบด้วย

1) ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service: OSS) เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการด้านการค้า การลงทุน การให้ข้อมูลและประสานการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
2) ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุขและความมั่นคง เพื่อให้บริการด้านต่างๆเกี่ยวกับแรงงาน การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว การอบรมฝีมือแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
3) ศูนย์สถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) ระหว่างแม่สอดและเมียวดี เพื่อใช้เป็นสำนักงานในการประสานความร่วมมือ และสร้างความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างแม่สอดและเมียวดี
โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจังหวัดตาก เทศบาลนครแม่สอด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติงานประจำ ณ สำนักงานฯ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการและข้อมูลข่าวสารต่างๆ แก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจ และหากเทียบกับ 10 จังหวัดที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ มั่นใจว่าในปี 2562 จังหวัดตากจะค่อนข้างพร้อมที่สุด

ขณะที่นายพิศิษฐ์ แผ่วัฒนากุล นักวิชาการคลังชำนาญการ สำนักงานคลังจังหวัดตาก กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ที่สนใจและเริ่มเข้ามาในอำเภอแม่สอดมากขึ้น อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น โดยธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ ภาคบริการและภาคการเกษตร เช่น โรงงานอาหารสัตว์ที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติก

นอกจากนี้ก็ยังพบว่ามีการลงทุนภาคบริการเพิ่มขึ้น 4.6% โดยเฉพาะ โรงแรมที่มีการก่อสร้างใหม่หลายแห่ง อีกทั้งยังพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามาที่แม่สอดแล้ว ตั้งแต่ปี 2560 และคาดการณ์ว่าจากผลของการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก จะส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดตากในปี 2561 ในภาพรวมจะเติบโตขึ้นประมาณ 3.5%

ส่วนทางด้านนายวิรัช เกตุนวม ธนารักษ์พื้นที่ตาก กล่าวว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ลงทุน พัฒนาที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่งคือ จ.ตาก นครพนมและกาญจนบุรีโดยในส่วนของจ.ตากท้องที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื้อที่ 1,257 ไร่ ติดกับสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 โดยตั้งราคาประมูลขั้นต่ำไว้ประมาณ 4,200 ล้านบาท

โดยจะให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่งเปิดให้ยื่นซองตั้งแต่ 15 มกราคม-9 กุมภาพันธ์ 2561 ล่าสุดมีนักลงทุนให้ความสนใจ ซื้อเอกสารการลงทุนเพื่อยื่นซองประมูลจำนวน 10 ราย และในจำนวนนี้มีกลุ่มธุรกิจเบียร์ช้างและกลุ่มเซ็นทรัล ให้ความสนใจและยื่นซองประมูลด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโลจิสติกส์รายใหญ่ในอำเภอแม่สอดอีก 2 ราย ที่ให้ความสนใจเข้ายื่นซองประมูลด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าราคาอาจสูงถึง 5,000-6,000 ล้านบาท

ธนารักษ์พื้นที่ตาก กล่าวอีกว่า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ผู้สนใจลงทุนทั้ง 10 ราย จะต้องไปฟังคำชี้แจงและดูพื้นที่ที่อ.แม่สอด และกำหนดยื่นซองเสนอการลงทุนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 หลังจากนั้นอีก 30 วัน ถึงจะมีการสรรหาคัดเลือกผู้สนใจลงทุน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ให้พิจารณาภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2561 จากนั้นก็จะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล นอกจากนี้ ยังมีที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอีก 1 แปลง เนื้อที่ 671 ไร่ ให้สิทธิ์ กนอ.เช่าเพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ecoindustry มูลค่าที่ดินผืนนี้ราว 2,000 ล้านบาท ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการทำ EIA คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างภายในไม่เกิน 3 ปีนี้”

ขณะที่นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากโชคดีที่เป็นจังหวัดแรกที่คิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ยอมรับว่าโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ ECC ไปเร็วกว่าเพราะมีความพร้อมมากกว่า เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมลงนาม MOU กับพม่ามีหลายเรื่องในฝั่งนี้ทำให้การขับเคลื่อนช้ากว่า ECC เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ติดขัด และจริงๆ แล้วจังหวัดตากแม้ไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษก็อยู่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีมูลค่าที่สูงมาก

อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2561-2562 ในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษตากจะเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคก็ยังมีหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย ในเรื่องของการสแต้มพาสปอร์ต การเอารถจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาและการขอเข้ามาของแรงงาน ซึ่งจะได้บอเดอร์พาส 90 วัน แต่เวิร์คเปอมิทจะออกให้แค่ 60 วันทำให้แรงงานก็ต้องกลับไปอีก และภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมในแม่สอดนี่ก็ยังต้องพึ่งพิงแรงงานพม่า และอีกส่วนในเรื่องของนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางจังหวัดเองได้รับเรื่องร้องเรียนและข้อเสนอจากนักลงทุนว่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทำไมจะต้องเป็นนักลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ เพราะเขาไม่อยากอยู่ในเงื่อนไขนั้น ซึ่งจุดนี้ก็คงต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจนต่อไป

รองผวจ.ตาก กล่าวอีกว่า ตอนนี้ในเรื่องของการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษตากไม่มีอะไรหนักใจแล้ว เพราะแต่เดิมติดขัดเรื่องของพื้นที่ ทางนายกรัฐมนตรีก็ใช้ม.44 ในการแก้ไขปัญหา ถ้าที่ดินที่กรมธนารักษ์กำลังดำเนินการผ่านการประมูลแล้วก็คงจะเดินหน้าต่อไปได้ และเท่าที่ได้รับฟังจากเอกชนรายใหญ่ๆ เค้าก็ห่วงในเรื่องอื่นๆ มากกว่า โดยเฉพาะด้านสังคมเพราะเมื่อมีการลงทุนใหญ่ๆ ในพื้นที่ มีการเพิ่มแรงงาน มีประชาชน มีนักลงทุนเข้ามาโรงพยาบาลแม่สอดจะรองรับได้แค่ไหน

“นอกจากนี้ก็ยังห่วงเรื่องของที่พักอาศัย ซึ่งตอนนี้เรื่องของโรงแรมไม่น่าห่วงเพราะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่เข้ามาอยู่ที่เพิ่มขึ้นเพียงพอหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ก็คิดว่าน่าจะมี Resident Zone เกิดขึ้นด้วย และอีกเรื่องคือเรื่องความมั่นคง ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาดูว่าเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะฝั่งตรงข้ามแม่สอดหากเกิดการสู้รบกันขึ้นมาก็มีผู้คนอพยพเข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วหากถามถึงข้อกังวลหรือข้อห่วงใยจะเป็นเรื่องของสังคม ความมั่นคงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ การข้ามผ่านแดนก็น่าเป็นห่วง และอีกส่วนคือไม่ใช่อยากให้มองแค่แม่สอด อีก 2 อำเภอที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยคือพบพระกับแม่ระมาดปัจจุบันก็ยังไม่มีรูปแบบในการพัฒนา ทางจังหวัดเสนอขอให้มีการเปิดด่านที่อยู่ 2 อำเภอนี้เพื่อให้มีการค้าขายของประชาชนสองประเทศก็ยังไม่ได้”รองผวจ.ตาก กล่าวและว่า

แม่สอดในอีก 3-5 ปีจะเติบโตขึ้น แต่จังหวัดก็ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องของผังเมือง ซึ่งตอนนี้ก็กำชับไปทางท้องถิ่นแต่ละแห่งให้แก้ไขปัญหาโดยใช้ข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติดำเนินการไปก่อน อีกส่วนคือเรื่องของการพัฒนาทักษะแรงงานไทย เพราะนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.ตากเองก็เป็นห่วงและมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนาตากพัฒนาบุคลากรในด้านอาชีพและให้แรงงานจังหวัดสำรวจจำนวนแรงงานที่เข้ามาว่าในอนาคตจะต้องเน้นในด้านใด เพื่อที่จะได้ฝึกคนของเราไว้ เพราะถ้าหากมีการปิดด่านพรมแดนขึ้นมากะทันหันจะได้ไม่กระทบต่อการลงทุนต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่าด่านทางนี้ปิดง่ายมาก

รองผวจ.ตากกล่าวด้วยว่า อีกเรื่องคือต้องยอมรับว่าท้องถิ่นที่นี่มีศักยภาพไม่เหมือนกัน และได้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน อย่างทต.ท่าสายลวดอยู่ชายแดน ก็จะมีปัญหาเรื่องขยะและตอนนี้ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้เพราะถูกต่อต้าน ซึ่งจริงๆ ท้องถิ่นและจังหวัดหรือภาคราชการเองในเรื่องของเศรษฐกิจเดินหน้าไปแต่ก็ต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ด้วย ตอนนี้ก็เลยยังไม่แน่ใจว่านักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนนั้น จะเข้ามาลงทุนในกิจการประเภทไหน

ทางด้านนางสาว นงเยาว์ ก่อการรวด ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน   (บีโอไอ)ภาคที่ 7 พิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากมีความคืบหน้ามาก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2558-ธันวาคม 2560 มีนักลงทุน 5 สัญชาติ ได้แก่ ไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย และจีน ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 28 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 4,104.16 ล้านบาท และอนุมัติโครงการไปแล้ว 25 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 3,755.13 ล้านบาท และทั้งหมดเป็นการลงทุนในพื้นที่อำเภอแม่สอด

ทั้งนี้กิจการที่ได้รับการอนุมัติเป็นของคนไทย 20 โครงการ และต่างชาติๆ ละ 1 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมการ์เมนท์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตชุดชั้นใน-ยกทรง-เสื้อโค้ต เสื้อผ้าสำเร็จรูป กางเกงยีนส์ ถุงเท้า อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลการเกษตร รถยนต์สามล้อบรรทุก รถกึ่งพ่วง เป็นต้น

ผอ.บีโอไอพิษณุโลก กล่าวอีกว่า การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น นักลงทุนจะได้สิทธิพิเศษที่นอกเหนือจากการลงทุนทั่วไปซึ่งจะพ่วงไปกับสิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นด้วย ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องของภาษีรายได้ การนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักรและถ้าเป็นชาวต่างชาติก็ยังจะได้รับสิทธิในการนำรายได้ออกนอกประเทศได้ด้วย.

 

ณัชชา  อุตตะมัง  ข่าว.

You may also like

ม้งดอยปุยและเครือข่ายม้ง 12 หมู่บ้านประกาศปิดป่าตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ พร้อมทำแนวกันไฟตั้งแต่ 5-15 ก.พ.68

จำนวนผู้