หอการค้าฯจับมือมช.จัด “CNX Fruits Destination” โปรโมทผลไม้ไทยพรีเมียมช่วงตรุษจีนรุกขยายตลาด Online

หอการค้าฯจับมือมช.จัด “CNX Fruits Destination” โปรโมทผลไม้ไทยพรีเมียมช่วงตรุษจีนรุกขยายตลาด Online

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ขานรับนโยบายรัฐบาลส่งเสริมไทยเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลก โดยเชื่อมโยงกับเมืองผลไม้จันทบุรี มุ่งทำตลาดผลไม้เกรดพรีเมี่ยม บุกตลาดออนไลน์จีน จัดกิจกรรม CNX Fruits Destination  กระตุ้นตลาดช่วงตรุษจีนของเชียงใหม่ระหว่าง วันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2561  ตั้งเป้าขยายยอดค้าออนไลน์ค้าข้ามแดนส่งผลไม้ถึงผู้บริโภคจีนต่อเนื่อง

ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต โซนตู้ปลาอะควอเรียม   นางวิภาวัลย์ วรพุฒพิงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายจาง จื้อ เหวิน กงสุลฝ่ายพาณิชย์ สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่,ผศ.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติสวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายจอมศักด์ ภูติรัตน์  ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน”CNX Fruits Destination” ระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

นางวิภาวัลย์ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและบริการวิชาการนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561จะมีกิจกรรมการแข่งขันกินผลไม้และวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2561 มีการแสดงสาธิตการทาอาหารคาว หวาน จากทุเรียนและผลไม้อื่นๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมกับนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนที่จะเดินทางมามากถึงวันละ 6,000 คน

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า หอการค้าฯได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่า ผลไม้ไทยคือสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีตลาดจีนเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโต ด้านความต้องการบริโภคผลไม้ จากต่างประเทศ ขยายตัวตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถิติช่วงตรุษจีน ในช่วงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดในเทศกาลตรุษจีนของชาวจีน จะมีสายการบินต่าง ๆ ขอเพิ่มเที่ยวบินจำนวนทั้งสิ้น 88 เที่ยวบิน ใน 8 เส้นทาง  ซึ่งจะมีผู้โดยสารชาวจีนเฉลี่ยวันละ 6,000 คนนับเป็นสถิติที่สูงมาก และในปี 2561 หอการค้าฯ คาดการว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2.2 ล้านคนซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

“การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการตลาดผลไม้ที่ ครอบคลุมถึงการสร้างแบรนด์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รวมถึงการเพิ่มคุณค่าของสินค้าสู่ตลาดจีน ซึ่งถือว่าขณะนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของประชาชน   ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบอีคอมเมิรซ์ กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภค เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงสินค้าในโลกออนไลน์ สินค้าในโลกออฟไลน์ ระบบโล         จิสติกส์ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค มาผสมผสานเข้าด้วยกัน กลายเป็น “โมเดลธุรกิจ O2O” หรือ “ธุรกิจ Online to Offline”นางวิภาวัลย์ กล่าวและว่า

หอการค้าพยายามเร่งกระบวนการ Branding เมืองเชียงใหม่สู่เมือง Marketplace ผ่าน Platform ดิจิตอล และการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ด้วยเห็นว่าอนาคตการค้าจะไร้พรมแดนมากขึ้น  มุ่งเน้นที่จะพัฒนารูปแบบการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสามารถตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะจีนได้

“เป้าหมายสำคัญที่หอการค้าฯ ตั้งไว้ คือการเร่งกระบวนการจัดจำหน่ายและการสร้างแบรนด์สินค้าไทย เข้าสู่ตลาดจีนด้วยต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพ  โดยการจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาล ตลอดจนการสร้างแบรนด์ผลไม้ระดับพรีเมียม เพื่อให้ผู้บริโภคจีนสามารถซื้อผลไม้สดและแปรรูปที่มีคุณภาพ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพตลาดกลางผลไม้เมืองเชียงใหม่สู่การเป็น Market Place สำคัญเพื่อการจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ผลไม้คุณภาพสูงของไทย ซึ่งจะพัฒนาให้เชียงใหม่ กลายเป็นศูนย์กลางการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการส่งออกผลไม้สดไทย สู่ตลาดประเทศจีนต่อไป” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ด้านนายจาง จื้อ เหวิน กงสุลฝ่ายพาณิชย์ สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถิติในปีที่ผ่านมาทราบว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีน มีมูลค่าสูงถึง 22,284 ล้านบาท  และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการค้าผ่านระบบออนไลน์  ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน ร้อยละ 86.1  นิยมซื้อสินค้าสดจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ทั่วไป อาทิ JD.com และ Tmall และร้อยละ 59.5 ของผู้บริโภคชาวจีนซื้อสินค้าสดจากแพลตฟอร์ม E-Commerce  

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อาวุธ ศรีศุกรี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการต่อยอด สนับสนุนด้านความรู้ให้กับภาคผู้ประกอบการ นักธุรกิจของเราจะต้องปรับตัว  จากรูปแบบการค้า แบบดั้งเดิมไปสู่การค้าบนตลาดออนไลน์ หรือ Border Trade E-commerce ที่สามารถอาศัยรูปแบบการตลาดดิจิตอล เป็นช่องทางการค้าและสร้างความรับรู้ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศจีนที่มีกำลังซื้อ และมีนักท่องเที่ยว เป็นจำนวนมาก ที่เข้ามาท่องเที่ยวและรู้จักสินค้าไทย และเมื่อเดินทางกลับไปแล้วก็ยังมีความต้องการซื้อสินค้าเหล่านั้น ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เกิดกลยุทธ์แบบ O2O หรือ Online to Offline คือ การใช้อิทธิพลของสื่อออนไลน์ ผลักดันให้เกิดยอดขายทางออฟไลน์  ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนายกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ในการใช้ระบบสารสนเทศ สำหรับการจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ การตรวจติดตามคุณภาพสินค้าตลอดกระบวนการ ใช้ระบบโลจิสติกส์แบบ Express เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC จึงเป็นพันธกิจสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน 

ส่วนทางด้านนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หอการค้าไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการโปรโมตผลไม้ไทยในตลาดจีน ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน ที่ถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนสูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับล่าสุดที่ครม. มีมติผลักดันให้ไทยเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลก  และมีแผนในการทำตลาดผลไม้เกรดพรีเมี่ยม ซึ่งทุเรียนและมังคุด ถือเป็นหนึ่งในผลไม้นำร่อง ซึ่งหอการค้าไทย มีนโยบายที่จะร่วมกับหอการค้าจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการผลิตผลไม้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะดำเนินกิจกรรมที่จะส่งเสริมและกระตุ้นความต้องการบริโภคในตลาดจีนให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับสถิติการส่งออกลไม้ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไปยังตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2559 มีตลาดหลักได้แก่ อันดับ 1. เวียดนาม 45% 2. จีน 30% 3. ฮ่องกง 8% 4. อินโดนีเซีย 4% 5. สหรัฐอเมริกา 3% โดยที่ไทยส่งออกสินค้าผลไม้ ไปจีน มีมูลค่าสูงถึง 22,284 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2

ทั้งนี้หอการค้าไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลักดันประเทศไทยให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรฐานผลไม้ไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เช่น ThaiGAP และ Q-GAP ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและเครือข่ายตลาด นำไปสู่การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าผลไม้ของไทย โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีผลทันทีหลังจากที่ได้ลงนามใน MOU ระหว่างกัน

ขณะที่นายจอมศักด์ ภูติรัตน์  ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ในวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจังหวัดจันทบุรีได้เตรียมนำเสนอยุทธศาสตร์มหานครผลไม้  เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน โดยระบุให้มีแหล่งน้ำรองรับอย่างเพียงพอต่อการผลิตผลไม้คุณภาพ ในฐานะเป็นแหล่งผลไม้เมืองร้อนสำคัญและมีชื่อเสียง เช่น ทุเรียน มังคุด รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อตอบโจทย์ภาคตะวันออกในการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก ตลอดจนเป็นเมืองอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ในการผลิตอาหารทั้งผลไม้และประมง

“การได้เชื่อมโยงกับ Market Place กับจังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตาม MOU ที่ทำร่วมกันเพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นมหานคร และมหาอำนาจด้านผลไม้เมืองร้อนของโลก  เพื่อขยายเครือข่ายเชื่อมโยงการผลิตสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ   และจะได้เชื่อมโยงตลาดกับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้เกิดการต่อยอดถึงผู้บริโภคจีนต่อไป”ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าว.