มทบ.33 ทำพิธีบวงสรวงและเทวาภิเษกรูปหล่อและเหรียญพระเจ้ากาวิละ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีวันสถาปนามณฑลทหารบกที่ 33
ที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ พล.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและเทวาภิเษกรูปหล่อและเหรียญพระเจ้ากาวิละ ซึ่งมณฑลทหารบกที่ 33 จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสถาปนามณฑลทหารบกที่ 33 ซึ่งการจัดสร้างรูปหล่อพระเจ้ากาวิละ ครบรอบ 100 ปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ 100 ปี วันสถาปนามณฑลทหารบกที่ 3 และเพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้ากาวิละ รวมทั้งเพื่อเป็นสวัสดิการแก่กำลังพลและครอบครัวมณฑลทหารบกที่ 33 โดยก่อนจะเริ่มพิธีบวงสรวง ผบ.มทบ.33 ได้รับมอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 บาทด้วย
พระเจ้ากาวิละทรงถือกำเนิดในปีจอ พุทธศักราช 2285 ทรงเป็นพระราชบุตรองค์แรกของเจ้าฟ้าชายแก้ว และนางจันทาเทวีและทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าทิพย์ช้าง ผู้ครองนครลำปางพระองค์เป็นผู้แกล้วกล้าสามารถในการทำศึกสงคราม ทรงนำทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายใต้การนำของพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ เดินทัพจากเมืองลำปางเข้าตีขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่และช่วยเหลือเจ้าฟ้าชายแก้วพระบิดาออกจากที่คุมขังพม่าได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2317
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาพระเจ้ากาวิละขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองประเทศราชครองเมืองเชียงใหม่ ทรงมีพระนามเดิมว่าพระบรมราชาธิบดีศรีสุรยวงศ์ องค์อินทรสุริยะศักดิ์สมญา มหาขัตติยะราชชาติราชาไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑสีมา พระนครเชียงใหม่ราชธานีเป็นใหญ่ในล้านนนา 57 หัวเมือง ทรงครองเมืองเชียงใหม่จนถึงปีพุทธศักราช 2358 ก็ทรงถึงแก่พิราลัย พระชนมายุได้ 74 พรรษา ทรงเป็นต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลเป็น ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูนและ ณ ลำปาง
สำหรับประวัติของมณฑลทหารบกที่ 33 พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเข้าตีเมืองเชียงใหม่ โดยมีพระยากาวิละเป็นกองทัพหน้า ขับไล่พม่าข้าศึกออกจากเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2317 และทรงปกครองเมืองเชียงใหม่แบบประเทศราช สืบมาจนถึง พ.ศ. 2435 รวมเวลา 118 ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้อาณาจักรล้านนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร มีชื่อว่า “มณฑลพายัพ” เมื่อ พ.ศ. 2436 กองทัพบกจึงได้ส่งหน่วยทหารมาประจำที่เชียงใหม่ 1 กองร้อย โดยมี ร้อยโท ทองคำ ภูมิประภาส เป็นผู้บังคับกองร้อยมีชื่อว่า กองทหารเชียงใหม่ มีที่ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดชัยศรีภูมิ อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน
หลังจากจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ปราบกบฏเงี้ยวพ่ายแพ้แล้ว เมื่อ พ.ศ.2446 จึงขยายกำลังทหารโดยย้าย กรมทหารราบที่ 8 ซึ่งเดิมอยู่มณฑลนครราชสีมา มาประจำมณฑลพายัพเชียงใหม่ และขยายกำลังเป็น “กรมบัญชาการมณฑลพายัพตะวันตก” แล้วย้ายหน่วยทหารเข้ามา ที่ค่ายกาวิละปัจจุบันซึ่งเป็นที่ดินของ นายอากร เต็กกิมเซ่งหลี มอบให้กองทัพบก และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระโสภณเพ็ชร์รัตน์”
พ.ศ. 2448 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่ โดยยุบกรมบัญชาการทหารบกตะวันออก, ตะวันตก เป็นกรมบัญชาการทหารพายัพเชียงใหม่แห่งเดียว ในเดือน มกราคม ปีเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระยุพราช ได้ทรงเสด็จเชียงใหม่เยี่ยมค่ายทหารกาวิละ และทรงรับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการพิเศษ
พ.ศ. 2451 กองทัพบกได้ตั้งหน่วยกำลังรบขึ้นเป็น กองพลที่ 8 ขึ้นตรงต่อกรมยุทธนาธิการ โดยที่ตั้งอยู่ ณ ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2454 กองพลที่ 8 ได้เปลี่ยนไปขึ้นกับ กองทัพที่ 2 พิษณุโลก โดยผู้บัญชาการกองพลที่ 8 ได้อัตรา พลตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 ซึ่งมีพระยาพิพิธเดชะเป็นผู้บัญชาการคนแรก พ.ศ. 2457 กองทัพบกมีคำสั่งให้ ผู้บัญชาการกองพลที่ 8 เป็นผู้บัญชาการทหารมณฑลพายัพ อีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ.2458 เดือนธันวาคม พลเอกกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้เสด็จเยี่ยมหน่วยทหารค่ายกาวิละ พ.ศ.2461 กระทรวงกลาโหม ได้ออกคำสั่งสำหรับทหารบก เรื่องกำหนดเขตและ ชื่อมณฑลทหารบก และจังหวัดทหารบก ที่ 223/28254 ลง 22 มี.ค.2461 ให้มณฑลทหารบกพายัพ มีเขตพื้นที่ตรงกับเขตมณฑลพายัพ โดยมีจังหวัดทหารบกขึ้นอยู่คือ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ ลำพูน มีเขตขึ้นตรงกับเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนรวมกัน จังหวัดทหารบกเชียงราย มีเขตตรงกับจังหวัดเชียงราย
ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนามณฑลทหารบกที่ 33 ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งปัจจุบันผ่านมา 100 ปีให้ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติของเจ้าของค่าคือพระเจ้ากาวิละ จึงได้จัดสร้างรูปหล่อพระเจ้ากาวิละ โดยถอดแบบจากอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละรูปทรงประทับยืน ขนาดความสูง 33 เซนติเมตรสร้างจำนวนทั้งสิ้น 2,000 องค์และได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก 00 ปีเพื่อให้กำลังพล ครอบครัวและประชาชนทั่วไปได้เก็บไว้บูชาระลึกถึงพระองค์ท่าน เป็นการเทิดพระเกียรติให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าและวีรกรรมของพระองค่านที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองสืบต่อไป
สำหรับพระสงฆ์ผู้วิทยาธิคุณและเมตตาธิคุณอธิษฐานจิตได้แก่ พระพรหมมงคล(หลวงปู่ทอง) วัดพระธาตุศรีจอมทอง หลวงปู่อุ่น วัดโรงวัว พระเทพปริยัติ วัดเจ็ดยอด ครูบาเสาร์ห้า วัดอุดมศรีสุข ครูบาน้อย วัดศรีดอนมูล สารภี ครูบาจันทรังสี วัดกู่เต้าและครูบาอานันท์ วัดดอนจั่น สำหรับผู้สนใจบูชาจะมีรูปหล่อพระเจ้ากาวิละ ครบรอบ 100 ปีสูง 12.9 นิ้วฐานกว้าง 5 นิ้ว รูปหล่อสูง 3.9 เซนติเมตรกว้าง 2.6 ซม.และรูปหล่อสูง 3.9 ซม.กว้าง 2.6 ซม. รวมทั้งเหรียญเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะและเนื้อทองแดง.