ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนคดี”ชัยภูมิ” 6 มิ.ย. ทนายไม่พอใจไร้ภาพวงจรปิด

ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนคดี”ชัยภูมิ” 6 มิ.ย. ทนายไม่พอใจไร้ภาพวงจรปิด

- in headline, จับกระแสสังคม

เชียงใหม่ / แถลงความคืบหน้าคดี “ชัยภูมิ ป่าแส” ทนายรับไม่พอใจพยาน-หลักฐาน เพราะไม่ได้ภาพจากกล้องวงจรปิด ทั้งที่ร้องขอหลายครั้ง แต่ไม่ว่าคำสั่งศาล 6 มิ.ย. จะออกมาอย่างไร ก็จะหาทางนำหลักฐานสำคัญเข้าสู่กระบวนการให้ได้ ด้านนักสิทธิมนุษยชน ชี้พยานถูกคุกคาม จนต้องหลบหนี ขณะที่ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ พ้อทำดีแต่กลับถูกมองเหมือนอาชญากร เชื่อกฎหมายไม่ใหญ่กว่าศีลธรรม

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 เม.ย.61 กลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรม “พื้นที่นี้…ดีจัง” ได้จัดกิจกรรม “กลับบ้านกองผักปิ้ง…ดีจัง” ที่ ลานหน้าโบสถ์หมู่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม และจัดแถลงข่าวความคืบหน้าคดีของนายชัยภูมิ พร้อมคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากอำนาจรัฐ โดยมีนายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นทีมกฎหมายและทนายความของกลุ่ม นางยุพิน ซาจ๊ะ น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทน Protection international (PI) ประเทศไทย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ ร่วมให้ข้อมูล

นายสุมิตรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันคดีนี้มีการไต่สวนพยานเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 15 มี.ค.61 ที่ผ่านมา และศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนใน 6 มิ.ย.61 แต่ทั้งนี้ ทีมงานค่อนข้างไม่พอใจกับพยานและหลักฐาน โดยเฉพาะกรณีภาพจากกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานสำคัญ กลับไม่มีปรากฏในคดี นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ไต่สวนนั้นเพียงพอแล้ว จึงต้องรอดูใน 6 มิ.ย. ว่า ศาลจะมีคำสั่งออกมาเช่นใด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการติดตามภาพจากกล้องวงจรปิด โดยไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ซึ่ง คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก็มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ขณะเดียวกันยังได้ไปติดต่อกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อขอภาพเหตุการณ์ แต่ได้รับแจ้งกลับมาว่า เครื่องบันทึกภาพดังกล่าวไม่สามารถเปิดได้ เนื่องจากไม่มีรหัสผ่าน ซึ่งทีมงาน ได้แนะนำให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ส่งเครื่องบันทึกดังกล่าวกลับไปให้กองพิสูจน์หลักฐานอีกครั้ง เพื่อให้ผู้เชียวชาญด้านเทคนิคดำเนินการ และแม้ว่าหลัง 6 มิ.ย. ศาลจะมีผลการพิจารณาอย่างไร ทีมงานจะพยายามต่อไปในการนำหลักฐานสำคัญเข้ามาสู่กระบวนการให้ได้

นางยุพิน กล่าวถึงกรณีนางนาหว่ะ จะอื่อ น้องสะใภ้ของนายไมตรี ว่านาหว่ะ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายชัยภูมิ ที่ผ่านมานาหว่ะ จะคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ ในกลุ่มรักษ์ลาหู่ และเป็นคนนำทำกิจกรรมต่างๆ นาหว่ะ เป็นคนอัธยาศัยดี เข้ากับคนง่าย แต่วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่นำหมายค้นมาค้นบ้านนาหว่ะ ทั้งที่ไม่เจอสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่นาหว่ะ กลับถูกหมายจับ เพียงเพราะมีคนซัดทอดว่าเธอเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งตอนนั้น ตนได้ถามนาหว่ะตรงๆ ว่าทำไมเธอไม่หนี นาหว่ะ ตอบกลับมาว่า ทำไมต้องหนี ในเมื่อไม่ได้ทำความผิดจริงอย่างที่โดนกล่าวหา ปัจจุบัน นาหว่ะ ถูกคุมขังมากว่า 329 วันแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับความยุติธรรม สิ่งที่ทำได้ คือลูกของนาหว่ะ ขอพรต่อพระเจ้าให้แม่ของเขาได้กลับออกมาใช้ชีวิตพร้อมครอบครัวอย่างปกติ และปลอดภัย

น.ส.ปรานม กล่าวถึงกรณีนางนาหว่ะ ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาสมรู้ร่วมคิด และสนับสนุนกรณียาเสพติดแก่นายชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำ ที่ผ่านมาศาลได้ตั้งวงเงินการประกันตัวสูงถึง 2 ล้านบาท ครอบครัวจึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังกองทุนยุติธรรม (Justice Fund Thailand) และได้รับอนุมัติเงินในการใช้ประกันตัว แต่ศาลกลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทั้งนี้ ในวันที่ 24 เม.ย.61 เวลา 09.00น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการตัดสินคดีนี้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้สนใจ และสื่อมวลชนร่วมไปให้กำลังใจแก่นางนาหว่ะ เพราะ เป็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาแสวงหาความยุติธรรม และปกป้องสิทธิตนเอง ควรได้รับการปกป้องจากรัฐ ไม่ใช่ถูกรัฐลงโทษ และพวกเราไม่ควรละเลยหรือหันหลังให้กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่เช่นนั้น สังคมจะเป็นสังคมที่ไร้ความหมายในการแสวงหาความจริงร่วมกัน

ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม และการบังคับสูญหายที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชุมชนลาหู่ ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงการปราบปรามยาเสพติด และเจ้าหน้าที่รัฐก็จะเรียกกลุ่มคนลาหู่ว่ามูเซอดำ ฝังใจว่าคนกลุ่มนี้มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของยาเสพติด องค์กรเอกชนที่ทำเรื่องบังคับสูญหาย และการทรมาน ได้บันทึกไว้หลายกรณีที่ถูกอุ้มหาย และมีการร้องเรียนไปที่กรรมการสิทธิฯ ด้วย แต่ปัญหาคือช่วงของสงครามยาเสพติด แม้จะมีเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม การอุ้มหาย หากไม่มีสักกรณีที่จะนำคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนมากญาติเหยื่อ หรือคนที่ถูกฆ่า ถูกอุ้มหาย มักจะให้ข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่นำตัวไป หรือขับรถมาแล้วเรียกให้รถจอด แล้วก็หายตัวไป ซึ่งเรื่องการถูกอุ้มหายและทรมานนี้ ได้มีการส่งเรื่องไปให้คณะกรรมทำงานด้านการถูกบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติด้วย และสหประชาชาติก็ได้ส่งคำถามมายังรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านมา 10 กว่าปีแล้วก็ตาม ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีได้

ย้อนกลับมามองถึงความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่าส่วนมากมักถูกตีตราว่าไม่มีสัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ และช่วงหนึ่งมาจนถึงวันนี้ ที่การถูกอุ้มหายของคนในหมู่บ้านน้อยลง แทบจะไม่เคยได้ยิน แต่ก็มีเรื่องของการวิสามัญฆาตกรรม โดยเฉพาะ 1 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยมี 2 เรื่อง ที่มีการร้องไปที่คณะกรรมการสิทธิฯ คือเรื่องของนายชัยภูมิ ป่าแส กับ นายอาเบ แซ่หมู่ ซึ่งพฤติการณ์การเสียชีวิตไม่ต่างกัน เป็นลักษณะของการที่พวกเขาถูกทำให้เสียชีวิต และมีระเบิดในมือเหมือนกัน
ปัญหาคือเราแทบหาพยานไม่ได้เลย คนที่เป็นพยานถูกคุกคาม หลายคนอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ตอนที่นายชัยภูมิ ถูกวิสามัญฆาตกรรม กรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่ทันที มีคนมาให้ข้อมูลว่าเห็นเหตุการณ์ทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย โดยมาให้ข้อมูลแล้วเขียนเป็นบันทึกไว้ให้ด้วย มีบัตรประชาชน หลักฐานแสดงตัวตน ไม่ใช่กล่าวอ้างเฉยๆ แต่พอหลังจากนั้นไม่กี่วัน เขาก็โทรศัพท์มาว่าเขากลัว และไม่ประสงค์ที่จะให้ถ้อยคำ หรือให้ข้อมูลกับกรรมการสิทธิฯ ได้ ถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน และเนื่องจากความกลัวก็อาจจะหนีไปที่ประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

นายไมตรี กล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่มรักษ์ลาหู่ ว่าหลังจากเกิดเรื่องนายชัยภูมิแล้ว เหมือนทุกคนจะหายไป จาก 50-60 คนที่เคยทำงานร่วมกัน วันนี้เห็นมาร่วมงานแค่ 2 คน ส่วนตัวของชัยภูมินั้น เขาเห็นครั้งแรกที่กาดรินหลวง ทั้งที่เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ตอนนั้นชัยภูมิรับจ้างแบกกระสอบข้าวโพด ทำให้ฉุกคิดว่าทำไมเด็กตัวแค่นี้ต้องทำงาน เมื่อกลับมาในหมู่บ้าน จึงไปเยี่ยมบ้าน ชัยภูมิบอกว่าที่บ้านไม่มีข้าวกิน จึงต้องทำงาน เลยชวนมาอยู่ในกลุ่ม และปลอมอายุให้ เพื่อให้ได้ไปโรงเรียน ทำให้เกิดความผูกพันกันมาตลอด แต่ไม่คิดว่าที่แรกที่เจอเขาจะกลายเป็นจุดสุดท้ายในชีวิตของเขาเหมือนกัน

สำหรับกิจกรรมที่ทำร่วมกันมา 10 กว่าปี ในกลุ่มรักษ์ลาหู่นั้น ชุมชนการันตีว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดี แม้กระทั่งนายกเทศบาลทุกสมัย ก็บอกว่ากลุ่มนี้ทำสิ่งที่ดี เราไม่เคยประกาศตัวเองว่าเราดี ความดีเป็นสิ่งที่คนอื่นยกให้ แต่ตอนนี้มันไม่เหลือแล้ว ตนไม่ได้กลับมาบ้าน 329 วัน เมื่อคืนกลับมาถึงรู้สึกเศร้ามาก อารมณ์มันเหงาไปหมด บ้านก็ปิด เสียงเฮฮาไม่มี ทุกคนเห็นบ้านนี้เหมือนบ้านอาชญากรรม ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้กองคนหนึ่ง เขาได้พูดถึงกรณีของนายชัยภูมิในข้อกฎหมาย ซึ่งผมไม่มีความรู้ แต่ในเรื่องศีลธรรม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกผมมันไม่ถูกต้อง

“ผมกำลังทำสิ่งหนึ่งที่กฎหมายทำไม่ถึงตรงนี้ ผมทำกับเด็กที่อยู่ในชุมชน อยู่ในสังคม อยู่ในบ้านที่มียาเสพติด มีอำนาจมืดอยู่ในครอบครัว ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ไม่อบอุ่น ผมกำลังทำในสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าไปทำสิ่งเหล่านี้ได้ แล้วทำไมคุณไม่ช่วยผม แต่กลับมาจับคนในครอบครัวผม ซ้ำกล่าวหาว่าผมเป็นอะไร จนผมอยู่ในบ้านไม่ได้ ผมลำบากในการทำกิจกรรมนี้ คาดหวังให้คุณมาช่วยผมที่จะทำให้ชุมชนดีขึ้น คุณอาจจะพูดถึงกฎหมายอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่ผมก็อยากพูดว่ากฎหมายไม่ใหญ่กว่าศีลธรรม” นายไมตรี กล่าวทิ้งท้าย.

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ ผู้จัดงาน “กลับบ้านกองผักปิ้ง…ดีจัง”

You may also like

คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าว 65 ปี ตอกย้ำบทบาทและความก้าวหน้า

จำนวนผู้