เชียงใหม่ / เสวนา “ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม” วิศวกร-นักอนุรักษ์ ชี้สภาพนิเวศน์-ภูมิประเทศมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ ด้านนักวิจัย ย้ำหากเคลียร์พื้นที่ได้ ยังไม่มั่นใจชั่วชีวิตจะฟื้นฟูป่าให้กลับคืนสภาพเดิมได้ ขณะที่นักกฎหมายระบุ ใช้มิติทางกฎหมายจัดการเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมองมิติด้านอื่นๆ ร่วมด้วย.
เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 5 พ.ค.61 ที่วัดล่ามช้าง มีการจัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม (คอปส.), นายโชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า, นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช., นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น โดยมีนางศรีคำดา แป้นไทย จากกลุ่มเฮาฮักเจียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการนายโชติภัทร กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก จากบทความ รศ.ดร.ชิตชัย อนันตเศรษฐ์ นักวิชาการภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือ มีปัญหาดินถล่มทุกปี
ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ซึ่งดูจากโครงสร้าง และพื้นที่ ถ้ามีฝนตกต่อเนื่อง ดินที่มีความลาดเอียงอยู่แล้ว ย่อมเคลื่อนตัวได้ และถ้าฝนมีปริมาณมาก น้ำป่าก็จะพัดตัวบ้าน เพราะต้องยอมรับว่าการตัดไม้ทำลายป่ายังมีสูง เมื่อขาดรากไม้และต้นไม้คอยยึดเหนี่ยว โอกาสของการเกิดภัยพิบัติย่อมสูงเป็นเงาตามตัวผศ.ดร.วสันต์ กล่าวเสริมว่าการสร้างบ้านบนพื้นที่ลาดชัน เสี่ยงต่อการพังทลายของดิน และเมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลาย ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดดินโคลนถล่มได้ ฉะนั้นจึงถึงเวลาที่คนเชียงใหม่จึงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์ว่าทำอย่างไรที่จะได้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่สร้างปัญหาใหม่ให้กับอนาคต และถ้าคนรุ่นเราไม่ออกมาช่วยกันต่อสู้ ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นตามมา คนรุ่นเราอาจยังไม่เจอ แต่รุ่นลูกรุ่นหลานย่อมประสบพิบัติภัยอย่างหนักแน่นอน
นายจตุภูมิ กล่าวว่า จากการที่หน่วยวิจัยได้ทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่องร่วม 25 ปี พบว่าในการฟื้นฟูสภาพป่าเชิงโครงสร้าง ต้องใช้งบประมาณถึง 22,000 บาท/ไร่ เมื่อคิดคร่าวๆ ในพื้นที่สร้างบ้านพักตุลาการ 58 ไร่ ก็ตกประมาณ 1 ล้านบาทเศษ แต่ไม่รวมถึงค่าเสียหายจากการขุดหน้าดินออกไป ซึ่งกว่าพื้นที่จะสะสมธาตุอาหารได้ต้องใช้เวลากว่า 80 ปี การเคลียร์พื้นที่ในจุดนี้แล้วฟื้นฟูสภาพป่า จึงอาจไม่ได้เห็นสภาพเดิมกลับมาภายในชั่วชีวิตของเราด้านนายสุมิตรชัย กล่าวถึงการตีความทางกฎหมาย ว่าที่ดินสร้างบ้านพักตุลาการนั้น ถ้าดูตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ก็ถือว่าเป็นป่า และปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมีการใช้มิติทางกฎหมายแต่ขาดธรรมาภิบาลในการจัดการ ดังนั้นจึงคิดว่ามิติทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมองมิติด้านอื่นๆ ร่วมด้วย.