กลุ่มลีซู บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย กำลังขะมักเขม้นกับการดูแลพืชผักปลอดสารที่พวกเขาปลูกไว้ ในชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นบ้าน ชาติพันธุ์ลีซู” เพราะเมื่อพืชเติบโต จะไม่เพียงแค่ใช้เป็นอาหารของคนในชุมชน แต่ยังเป็นอาหารกลางวันของเด็กๆ ในโรงเรียน ที่ส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานของพวกเขาเอง และส่วนหนึ่งก็ถูกจำหน่ายสู่คนพื้นราบด้วย
นัฐวัตร พรชัยกิตติกุล ครูผู้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านปางสา บอกว่า รู้สึกมั่นใจเรื่องความปลอดภัย และคุณค่าทางโภชนาการของพืชผักที่นำมาทำอาหารกลางวันในโรงเรียนมาก เมื่อผู้ปกครองเริ่มรู้และเข้าใจถึงอันตรายจากสารเคมี และเป็นคนปลูกทุกอย่างเอง ย่อมดูแลเอาใจใส่อย่างดี ไม่ฉีดพ่นสารที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและลูกหลาน
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าระบบของการพัฒนาประเทศ และประชาคมโลก ที่เน้นเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อมุ่งให้เกิดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรอย่างกว้างขวาง เกษตรกรหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ในกลุ่มคนพื้นราบ แต่ยังรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ผลที่ตามมาคือมีการใช้สารเคมีทางเกษตรเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและสภาพแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ขณะเดียวกันความหลากหลายทั้งพืชพรรณและอาหารก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ในฐานะผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ด้วยสภาพทางภูมิประเทศที่พี่น้องชาติพันธุ์มักอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อันเป็นเขตต้นน้ำ ทำให้ถูกสังคมกลางน้ำ และปลายน้ำ มองว่าคนต้นน้ำใช้สารเคมีทำลายป่า และผลิตพืชผักที่ไม่ปลอดภัย ทั้งที่แท้จริงแล้ว พืชผักที่ปลูก และวิถีชีวิต วัฒนธรรม มีความสอดคล้อง กลมกลืนกับธรรมชาติ กลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้ภูมิปัญญา วัฒนธรรม องค์ความรู้ อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล
หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พืชเศรษฐกิจบางส่วนได้เข้าไปรุกล้ำพืชพื้นเมืองของพี่น้องชาติพันธุ์ บางชุมชนจึงใช้สารเคมี แต่ก็มีชุมชนอีกมากมายที่หันมาสนใจอนุรักษ์พืชพื้นเมือง ลดการใช้สารเคมี หรือมีการดำเนินวิถีการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีเลย โดยเลือกเดินตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
“ โครงการมุ่งสร้างความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าตัวเอง โดยใช้อาหารเป็นประเด็นเชื่อมโยง มีการศึกษาภูมิปัญญาของ 9 ชาติพันธุ์ เพื่อค้นหาความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น อันเป็นแนวทางรักษาความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ซึ่งเชื่อว่าถ้าพี่น้องชาติพันธุ์ภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของตัวเอง ทุกอย่างก็จะตามมา เพราะพวกเราอยู่กับการเกษตรแบบพอเพียง หากเรามีความมั่นคงทางอาหารแล้ว ก็สามารถผลิตอาหารเองได้ มีความปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้บริโภค” นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ อธิบาย
สำหรับวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น เริ่มจากการเข้าไปให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ เช่น โทษ พิษภัยของสารเคมี ทำให้เกิดความตระหนัก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดของพี่น้องชนเผ่า ตั้งแต่เด็กนักเรียน ไปจนถึงผู้ปกครอง โดยใช้เด็กเป็นสื่อ ถ้าพบสารเคมีตกค้างในเลือดของเด็ก ก็จะสื่อสารกับผู้ปกครอง ว่าลูกหลานกำลังได้รับพิษภัยจากสารเคมี ผลเลือดที่อยู่ในระดับเสี่ยง หรือไม่ปลอดภัย เป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการอย่างไร ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ปกครอง และชุมชนเกิดความตระหนักมากขึ้น กังวลมากขึ้น นำไปสู่การแสวงหาช่องทาง และองค์ความรู้ ในการลดใช้สารเคมี
ขณะเดียวกันก็อาศัยโอกาสและจังหวะ ใช้มิติของอาหาร ทำให้คนข้างล่าง ที่เปรียบเหมือนคนกลางน้ำ ปลายน้ำ ได้เห็นและเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ด้วยการใช้พืชอาหารที่ผลิตไปสื่อสารกับคนในสังคม ว่าจริงๆ แล้ว พี่น้องชนเผ่าก็ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีการดำรงวิถีชีวิตอย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม เช่น ในงานมหกรรมอาหารชาติพันธุ์ – อาหารฮาลาล ที่ทาง จ.เชียงราย จัดขึ้นทุกปี ชนเผ่าต่างๆ ก็จะเข้าร่วม นำพืชผักจากการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีไปจัดแสดง ทำให้คนในสังคมเห็นว่าชนเผ่ามีเมนูอาหารอะไร ที่เชื่อมโยงกับวิถีความเชื่อ เกื้อกูลกันระหว่างคนกับคน คนกับป่า และคนกับธรรมชาติ เป็นต้น
นับได้ว่าความเชื่อ ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ ของพี่น้องชนเผ่า ทำให้อยู่ร่วมกับป่าได้ แต่ละชนเผ่ามีวิถีวัฒนธรรมที่มีการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าอยู่แล้ว เพราะถ้าป่าไม่มี คนก็จะอยู่ไม่ได้ วัฒนธรรมความเชื่อหรือวิถีการปฏิบัติในการดำรงชีวิตของชนเผ่าทุกคนจะเป็นเช่นนี้ ไม่ทำลายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า หากกลับมีระบบ ระเบียบในการจัดการด้วยภูมิปัญญาของตนเอง.