“แอ่วเมืองลำพูน ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีล้านนา”

“แอ่วเมืองลำพูน ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีล้านนา”

- in Exclusive, ท่องเที่ยว, นันทนาการ

”แอ่วเมืองลำพูน ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีล้านนา” เดินสายไหว้พระ เที่ยวชมน้ำตกก๊อหลวงแอ่งน้ำเขียวมรกต และสัมผัสวิถีชีวิตคนในชุมชนลี้เมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สำราญอาหารและบรรยากาศที่ “กาดฮิมน้ำลำพูน”

วันนี้จะพาไป”แอ่วเมืองลำพูน ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีล้านนา” ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อายุประมาณ 1,343 ปี อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งปี 2561รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หรือ “Amazing Thailand Tourism Year 2018” เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลกที่ เติบโตอย่างมีดุลยภาพบนพื้นฐานความเป็นไทย ซึ่งนอกจากส่งเสริมการจัดกิจกรรมในเมืองหลักแล้วยังให้ความสำคัญกับเมืองรองและการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกระจายรายได้สู่ประชาชนทุกภาคส่วน

ออกจากจุดนัดพบมุ่งหน้าสู่อำเภอลี้ อำเภอที่มีเนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังมีโบราณสถานหลายแห่งน่าเที่ยวชม จุดแรกคือที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ที่นี่เคยเป็นวัดร้างก่อนการบูรณะขึ้นใหม่กว่า 300 ปี ประกอบด้วยจารึกถึงพระครูบามหารัตนาคร ครูบินใจ ครูบาพุทธิมา ครูบาสุนันทะ ครูบาจันทร์แก้ง ครูบาก๋า ครูบาอินตุ้ยและครูบาสุยะ ทิ้งให้เป็นป่ารกร้างแต่มีซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง และรอยพระพุทธบาท ผาหนาม ต่อมาครูบาอภิชัยขาวปีซึ่งมีอายุ 76 ปี ได้ร่วมกับชาวบ้านผาหนามที่อพยพหนีน้ำท่วมจากเขื่อนภูมิพล โดยยึดเอาการบูรณะ วัดร้างบนดอยผาหนาม เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรื่องด้วยศรัทธาและสิ่งก่อสร้างมากมาย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเฉพาะรูปปั้นปูนขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีในเครื่องนุ่งห่มแบบชีปะขาวอยู่เชิงดอยผาหนาม  ในวันที่ 13 -17 เดือนเมษายน ของทุกปีจะมีงานนมัสการสรงน้ำเป็นประจำ โดยจะมีประชาชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาทำบุญเป็นจำนวนมาก

จากนั้นก็มุ่งไปที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ซึ่งอยู่ในความดูแลศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านถือศีลกินเจ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมู่บ้าน อาหารที่ทำขายให้กับนักท่องเที่ยวจึงเป็นมังสวิรัติทั้งหมด

นายวิมล สุขแดง ประธานกลุ่มท่องเที่ยวพระบาทห้วยต้ม บอกว่า ชุมชนแห่งนี้มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 18,000 คนจาก 10 หมู่บ้าน 1 ชุมชนซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงทั้งหมด แต่เดิมเมื่อปี 2514-2515 มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ที่แห่งนี้เพียง 13 ครอบครัวต่อมาก็มีการขยายออกไปเรื่อยๆ จนขณะนี้มีถึง 1,700 หลังคาเรือน สำหรับศูนย์วิจัยพัฒนาชุมชนพระบาทห้วยต้มนี้แต่เดิมเป็นศูนย์วิจัยโลหิตและทุกขะโภชนา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ปี พ.ศ. 2521  ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา จึงทรงมีพระราชดำริว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน มีข้าวไม่พอบริโภคทุกปี ชาวบ้านเป็นโรคขาดอาหาร โดยเฉพาะเด็กเล็กและชาวเขาได้อพยพมาอยู่รวมกันเช่นนี้ เป็นผลดีในการลดการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อมจะได้ไม่ไปรับจ้างปลูกฝิ่นให้ชาวเขาอื่นอีกด้วย” ทรงโปรดเกล้าให้รับชุมชนพระบาทห้วยต้มอยู่ภายใต้พื้นที่การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง

ท่องเที่ยวและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนที่อ.ลี้เสร็จแล้ว ก็กลับเข้าสู่ตัวเมืองลำพูน มุ่งตรงไปที่ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่นี่นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธานแถลงข่าวและเปิดงาน “กาดฮิมน้ำลำพูน” ซึ่งพ่อเมืองลำพูน บอกว่า ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนจังหวัดลำพูนเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรอง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดลำพูนมากขึ้น จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณปีละ 1 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาและพำนักอยู่ที่จังหวัดลำพูนจริงๆ ประมาณ 3 แสนกว่าคน

“ผมได้หารือกับรองผวจ.ลำพูนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าขณะนี้มีงบประมาณเหลือจ่ายส่วนหนึ่งน่าจะมีกิจกรรมที่มาพัฒนายกระดับแหล่งเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว และสินค้า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้สนใจ นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชนของจังหวัดลำพูน จนได้ข้อสรุปว่าลำพูนเรามีพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญ มีลำน้ำกั้นกลาง มีอาคารและสถานที่พร้อมก็น่าจะทำกาดฮิมน้ำลำพูนขึ้นมา ให้นักท่องเที่ยวได้มาเลือกซื้อ เลือกชิมอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้นั่งชมทัศนียภาพและพระอาทิตย์ตกดินฝั่งเวียงยอง ซึ่งเชื่อว่าจุดนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ดึงคนมามากขึ้น”ผวจ.ลำพูน กล่าวและว่า

กาดฮิมน้ำลำพูน ถือเป็นเป็นหนึ่งกิจกรรม ภายใต้โครงการกิจกรรมพัฒนายกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดลำพูน และเกิดกระแสการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญา สะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่มีความผูกพันกับลุ่มแม่น้ำในอดีต เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนในวิถีของชุมชน ซึ่งลำพูนเองได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในหลายพื้นที่โดยมีเป้าหมายที่จะให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยว และพำนักระยะยาว เราตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะต้องเพิ่มจากเดิม 20% ซึ่งอาจจะแตะถึง 2 ล้านคน เพราะตอนนี้ในส่วนของที่พักเองลำพูนมีโรงแรมและโฮมสเตย์ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 1,300-1,400 ห้องและมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายด้วย

สำหรับ“กาดฮิมน้ำลำพูน” เปิดดำเนินการทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น.              มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน รวบรวมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าOTOP                ของฝากของที่ระลึก หัตถกรรม ผ้าทอ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม และงานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุใคร

แอ่วลำพูนวันสุดท้าย มุ่งตรงไปที่อ.แม่ทา จุดแรกไปที่บ้านทาทุ่งหลวง แหล่งแกะสลักไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือซึ่งส่งไปขายทั้งในและต่างประเทศ และที่พลาดไม่ได้คือที่สะพานขาว ทาชมพู จุดเช็คพอย์ทที่กำลังเป็ฯที่นิยมของนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่บริเวณบ้านทาชมภู หมู่ 4 ตำบลทาปลาดุก อยู่ระหว่างสถานีขุนตานกับสถานีทาชมภู เป็นสะพานประวัติศาสตร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2463 เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟจากลำปางมายังเชียงใหม่ สะพานขาวบ้านทาชมภูก่อสร้างต่อจากอุโมงค์รถไฟขุนตาน ซึ่งเป็นเส้นทางสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เพื่อให้รถไฟข้ามผ่านลำน้ำแม่ทา มีลักษณะรูปทรงโค้งทาสีขาว เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก

สะพานทางรถไฟแห่งนี้ทาสีขาวโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่ง ถัดจากอุโมงค์ขุนตาน แตกต่างจากสะพานรถไฟอื่น คือเป็นโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 87.3 เมตร ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกและท้าทาย เนื่องจากปกติสะพานรถไฟจะสร้างด้วยเหล็ก เพราะสามารถทนต่อแรงสะเทือนและอ่อนตัวได้ดีกว่า แต่เนื่องจากช่วงเวลาที่สร้างสะพานเป็นภาวะสงครามไม่สามารถหาเหล็กมาสร้างสะพานได้ แต่ด้วยการคำนวณและควบคุมงานที่ยอดเยี่ยม ทำให้สะพานทาชมพูยังคงใช้งานได้อยู่จนถึงทุกวันนี้

ออกจากแม่ทา แวะตลาดแม่ทาหาซื้อสินค้าชุมชนมีให้เลือกมากมาย ก่อนจะกลับมาไหว้พระที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จากนั้นก็ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ก่อนกลับก็เข้าไปกราบสักการะอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ปิดท้ายด้วยก๋วยเตี๋ยวลำไย อิ่มอก อิ่มใจได้พลังกลับมาทำงานอีกครั้ง.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้