“บ้านไร่ไอละมุน”จุดเล็กๆ สู่การเรียนรู้พืชผักปลอดภัย

“บ้านไร่ไอละมุน”จุดเล็กๆ สู่การเรียนรู้พืชผักปลอดภัย

ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เยาวชนกลุ่มหนึ่งจะมุ่งหน้าไปที่ฟาร์มชุมชน บ้านไม้งาม หมู่ 4 ต.ไม้งาม อ.เมือง จ.ตาก เพื่อทำกิจกรรมทางการเกษตรบนพื้นที่ 2 ไร่เศษร่วมกัน เพราะพวกเขาถือว่าฟาร์มชุมชน คือศูนย์เรียนรู้ที่ทำให้สามารถริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งดีๆ ได้อย่างอิสระ และปลอดภัย ความเป็นพี่น้อง หรือความเป็นเพื่อน ที่ได้คลุกคลีทำงานร่วมกัน ส่งผลให้คลายความคิดถึง“บ้าน” ที่อยู่ห่างไกล และหลายคนต้องละทิ้งมาเพื่อเรียนหนังสือคณะศักดิ์ ดวงคำ หรือแก๊ด นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ที่ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม และร่วมทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ชุมชนบ้านไม้งาม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับเพื่อนสมาชิกเยาวชนคนอื่นๆ เล่าว่า เมื่อถูกผู้ใหญ่นคร ทาปิน อดีตผู้ใหญ่บ้านไม้งาม และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการชักชวนให้เข้ามาทำกิจกรรมในฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม เขาก็ตัดสินใจเข้าร่วมทันที เพราะ มทร.ล้านนา ตาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเดียวกัน ระยะเดินทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร และปกติวันหยุดคือช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า นานทีปีหนถึงจะได้กลับบ้านที่อยู่บนดอย ประกอบกับกิจกรรมทางการเกษตร ไม่ว่าจะเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือปลูกผัก ก็เป็นเสมือนวิถีชีวิตประจำวันที่ได้ช่วยพ่อแม่ทำในวัยเด็ก“เป็นการทำงานที่สนุกมาก ทุกเย็น หรือวันหยุด จะมาขลุกอยู่ที่ฟาร์มชุมชน ยิ่งได้รู้จักกับคนอื่นๆ เป็นเหมือนพี่ เพื่อน น้อง รวมถึงคนในชุมชนที่ให้ความเป็นกันเองเสมอ ก็ยิ่งทำให้อุ่นใจ เหมือนที่นี่เป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง บางคืนถึงกับเข้ามากางเต็นท์นอน ตื่นเช้าก็ดูแลพืชผักที่ปลูกไว้อย่างหลากหลาย เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบ ชะอม บวบ ถั่วพู มะเขือ เสาวรส กะเพรา โหระพา ผักชีลาว รวมถึงสัตว์เลี้ยง คือไก่ และเห็ดที่เพาะไว้ เด็ดบางส่วนมาทำอาหารอย่างง่ายๆ ก่อนออกไปเรียนหนังสือ หรือเห็ดและผักบางชนิดมีมากก็แบ่งขายให้ชาวบ้านในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำรายได้มาไว้ใช้จ่ายหมุนเวียน เป็นค่าไฟ ค่ากับข้าวของคนที่เข้ามาทำงานตอนเย็น และค่าซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างการใช้งาน” แก๊ด อธิบายตอนนี้มีเยาวชนที่เป็นสมาชิกประจำ 14 คน ซึ่งทุกคนมีหน้าที่การงานหลักอยู่แล้ว ขณะที่หลายคนยังต้องเรียนหนังสือ แต่ทุกคนจะปลีกตัวมาดูแลฟาร์มทุกครั้งที่ว่าง โดยจัดเวรดูแล ทำหน้าที่ในแต่ละส่วนไว้อย่างชัดเจน ใครติดขัด ก็สื่อสารบอกเพื่อนๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์  เฟสบุ๊คกลุ่ม หรือเพจบ้านไร่ไอละมุน คนที่ว่างก็จะเข้ามาช่วยทำหน้าที่แทนได้ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่หมุนเวียนกันเข้ามาช่วยดูแลอีกราว 20 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน ไปจนถึงคนในหมู่บ้าน เพราะทุกคนเริ่มตระหนักว่าอาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอาหารดีย่อมมีคุณค่า ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจสริญญา  วงษ์เสนสะ หรือโย เหรัญญิกโครงการ บอกว่า ล่าสุดฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแล้ว ภายใต้ชื่อ “บ้านไร่ไอละมุน” เพราะหลังจากเริ่มโครงการมาระยะหนึ่ง ชาวบ้านก็เข้ามาดู และนำกล้าพันธุ์ไปปลูกที่บ้านบ้าง บางครั้งถ้าพบว่าในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชนก็ไปช่วยกันปลูกให้ แล้วมอบให้เจ้าของบ้านดูแล หรือที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้งาม มีเด็กแค่ 20 กว่าคน ทำให้ค่าหัวอาหารกลางวันไม่เพียงพอ ก็สอนให้ปลูกผัก และตัดผักจากฟาร์มไปทำอาหารกลางวันบ้าง ซึ่งปีหน้าจะขยายผลไปยังโรงเรียนบ้านวังม่วง ที่มีเด็กแค่ 20 กว่าคนเหมือนกัน จึงเรียกได้ว่านอกจากทำให้ชาวบ้านมีวัตถุดิบอาหารปลอดภัยไว้บริโภคแล้ว ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเยาวชนในโครงการ กับชาวบ้านด้วย“เยาวชนที่นี่โชคดี แม้ส่วนหนึ่งจะไม่ใช่คนในพื้นที่ตั้งแต่กำเนิด แต่เมื่อเข้ามาช่วยงานในฟาร์ม คนในหมู่บ้านก็มองเหมือนลูกหลาน เมื่อต้องการอะไรก็จะได้รับความร่วมมือหรือให้คำปรึกษา เกิดความร่วมมือกันทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตัวอย่างที่เห็นคือน้องๆ สมาชิกในโครงการอยากเพิ่มทักษะการปลูกผัก ท่านพระครูที่วัดก็พาไปดูงานที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.บ้านบึง จ.ชลบุรี” โย กล่าวย้ำด้านนคร ทาปิน ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าถึงที่มาของบ้านไร่ไอละมุน หรือฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม ว่า เริ่มต้นจากโครงการ 9101 ทำให้ชาวบ้านประชุมหาพื้นที่ทำกิจกรรม และพบว่าส่วนใหญ่ถูกทุนต่างถิ่นกว้านซื้อที่ดินทำกินไปเกือบหมดแล้ว ตนมีที่รกร้าง 2 ไร่เศษในหมู่บ้าน จึงขอยกที่ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากในหมู่บ้านไม่มีเกษตรกร ชาวบ้านมีอาชีพรับจ้างรายวัน และค้าขาย พืชผักต่างๆ ที่นำมาปรุงอาหารก็ซื้อจากตลาดทั้งสิ้น เมื่อย้อนกลับไปดูต้นทางก็พบว่าเต็มไปด้วยสารเคมี ส่งผลให้คนในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย บางคนป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นน่าจะมีครัวชุมชนในหมู่บ้าน จะได้บริโภคผักปลอดภัย“พอเป็นฟาร์มชุมชน ก็ตั้งคณะกรรมการดูแล ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นในชุมชน และน้องๆ ที่เรียนอยู่ มทร.ล้านนา ตาก ซึ่งกลุ่มหลังนี้มักจะมีบ้านอยู่บนดอย แถบ อ.อุ้มผาง พบพระ แม่ระมาด จึงมีความถนัดในการปลูกผัก ก็มาช่วยกันทำ จนเห็นเป็นรูปธรรม และได้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ของ สสส.มาต่อยอด ช่วยยกระดับฟาร์มชุมชนให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ และกระตุ้นชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของการปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองในครัวเรือน จนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ตอนนี้พบว่าประมาณ 50 ครัวเรือนจาก 100 ครัวเรือน ที่ปลูกผักในที่ว่างของบริเวณบ้านไว้กินเอง และเชื่อว่าการที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วกลับไปบอกต่อในครัวเรือน จะทำให้มีครัวเรือนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มตามเป้าหมาย ที่วางไว้ 70 หลังคา” ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายที่สำคัญชาวบ้านเริ่มเข้ามาใช้พื้นที่ในฟาร์ม ร่วมกับกลุ่มเยาวชนแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพ เช่น ปลาส้ม หมูส้ม บางกลุ่มก็ขอพื้นที่ส่วนหนึ่งเลี้ยงหมู พฤติกรรมซื้อทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป มีการผลิตด้วยตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจว่าปลอดสารเคมี ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างแน่นอน.

You may also like

กฟผ.จับมือเซ็นทรัลฯเปิดพื้นที่กิจกรรมให้คนลำปางพร้อมอาหารนิทรรศการสร้างการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

จำนวนผู้