เชียงใหม่ / 6 พรรคการเมือง ส่งตัวแทนถก “เลือกตั้งตอบโจทย์ประเทศไทยหรือไม่” ชี้คนไทยอาจอกหัก ถ้าคาดหวังสังคม-เศรษฐกิจดีขึ้นหลังเลือกตั้ง เหตุรัฐธรรมนูญไม่ปลดล็อค-ติดเงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้ยังอยู่ในวังวนเดิม แนะคนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้เต็มที่ เพราะต่อไปจะเป็นกำลังหลักที่กำหนดอนาคตประเทศได้เมื่อเวลา 12.00-16.40 น.ของวันที่ 28 พ.ย. ที่ห้องประชุมนรสิงห์ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดเสวนา “เลือกตั้งตอบโจทย์ประเทศไทยหรือไม่” วิทยากรประกอบด้วยนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน, นายปกรณ์ อารีกุล พรรคสามัญชน, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์, น.ส.พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ และ น.ส.พรพรหม พรหมชาติ พรรคเพื่อชาติ โดยมีนายนรพลธ์ ธรรมวิเศษศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายสมบัติ กล่าวว่า ประชาชนให้ความสนใจการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562 ค่อนข้างมาก เพราะที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงหวังว่าการเลือกตั้งจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงควรให้ความรู้กับประชาชนด้วย เพราะถือเป็นการกำหนดชีวิตของประชาชนว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร และยังถือเป็นประวัติศาสตร์ที่มีคนสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากการเลือกตั้งครั้งนี้ จะแบ่งได้เป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่หนุน คสช. และฝ่ายที่ไม่หนุน คสช. ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะให้ความสนใจเทคะแนนให้ฝ่ายที่หนุน คสช.มากกว่า แต่หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจะอยู่ได้แค่ประมาณ 2 ปี ก็คาดว่าจะมีการยุบสภา เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขและยกร่าง
สำหรับบทบาทของนักศึกษา หรือเยาวชนรุ่นใหม่ต่อการเมืองนั้น มองว่านักเรียน นักศึกษา คือผลผลิตของรัฐที่ถูกครอบงำ คำว่าคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา ไม่ใช่อายุ แต่คนรุ่นใหม่คือคนที่ถือเครื่องมือที่ก้าวหน้า ทำการผลิตที่ก้าวหน้า คนอายุน้อยที่ฝักใฝ่เผด็จการก็ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ เป็นเพียงคนรุ่นเก่าที่อายุน้อยเท่านั้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง สังคมไทยจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นกับประชาชนทุกคน และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ถูกคัดสรรจาก คสช. ดังนั้นจึงกังวลว่า ถ้า ส.ว.ขัดกับเสียงของประชาชน หรือ ส.ส.ที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภา 500 คน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะไม่สามารถผ่านกฎหมายได้เลย ทำให้ปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างไรก็ตาม ประชาชนได้ให้ความสนใจกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยชักจูงในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องปลดล็อคให้พรรคการเมืองมีสิทธิในการหาเสียงได้ ประชาชนจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตนชอบมากที่สุด ทุกคนอยากเห็นการใช้ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไม่ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง และประชาชนยังต้องการเข้าไปตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ไม่ให้เกิดการทุจริต
ในด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง รวมถึงกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นายตรีรัตน์ กล่าวว่า วันนี้สังคมไทยมีการปกครองไม่ต่างจาก พ.ศ.2501 คือปกครองด้วยระบบเผด็จการ ผู้มีอำนาจสามารถออกกฎอะไรก็ได้ หรือจะลงโทษ-ยกเว้นโทษให้ใครก็ได้ ไม่ต่างจาก ม.17 ในยุคนั้น ที่ผู้มีอำนาจรวบทั้งอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ บริหาร อยู่ในมือหากวันนี้ โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการออกแบบสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัย และรองรับอนาคตได้ แต่สภาพสังคมหลังการเลือกตั้งจะติดที่เงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ร่างโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้สอบถามประชาชนว่ายุทธศาสตร์ที่ร่างขึ้นตรงกับความต้องการหรือไม่
ส่วนการที่ คสช.ไม่คลายล็อคให้พรรคการเมืองพูดถึงนโยบายพรรคนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบทางการเมือง และเอาเปรียบประชาชนอย่างชัดเจน พรรคการเมืองต่างๆ จะมีโอกาสพูดถึงนโยบายของพรรคเพียง 60 วันเท่านั้น จึงอยากให้ประชาชนใช้เวลา ใน 60 วันนี้ พิจารณาและศึกษานโยบายที่ถูกใจมากที่สุด เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ ซึ่งหลังการเลือกตั้ง ก็จะเห็นชัดเจนว่า เป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่นายปกรณ์ กล่าวว่า อำนาจการใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน ต้องไม่คาดหวังว่าจะได้ใครมาเป็นผู้นำ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่า 4 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเลือกใครในตอนนี้ กฎหมายต่างๆ ที่เขียนออกมา ยังคงทำให้ คสช. เป็นเงาตามตัว ของตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าสภา แม้ฝั่งที่ไม่เอา คสช.ชนะเลือกตั้ง หากสถานการณ์ก็ยังออกมาซ้ำๆ วนลูปของ คสช. เราจะไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคืนมา ฉะนั้นควรสนับสนุนคนที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นสู่อำนาจ อาจจะมีการอกหักจากการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่นักการเมืองพึงคิดเสมอว่า ประชาชนเป็นเจ้าของนักการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองเป็นเจ้าของประชาชน และถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง พรรคสามัญชน จะเดินเท้าจากขอนแก่น เข้ากรุงเทพฯ เพื่อคัดค้าน และรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
ด้านบทบาทนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ กับการเมืองไทยหลังผ่านการเลือกตั้งนั้น อย่าให้อยู่แค่ในสนามการเมือง สนามเลือกตั้ง ต้องอยู่ในสภามหาวิทยาลัย อยู่ในวินมอเตอร์ไซด์หน้าปากซอย อยู่ในทุกวงการ ซึ่งเราสามารถคาดหวังกับคนรุ่นใหม่ได้ แต่อย่าฝากทุกอย่าง หรือคาดหวังทุกอย่างกับคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย แต่อย่าให้การเลือกตั้งเป็นทั้งหมดของประชาธิปไตย แม้การเลือกตั้งจะผ่านไป ม.44 จะหายไป หากคำสั่ง คสช.3/2558 ยังบังคับใช้ต่อไป สิทธิ เสรีภาพของประชาชน และคนรุ่นใหม่ ในการแสดงออกหรือเคลื่อนไหว จึงทำไม่ได้อย่างแท้จริง อาจถูกจับดำเนินคดีดังนั้นการเลือกตั้งคือทางออก คนรุ่นใหม่ และนักศึกษา ต้องออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลับไปสู่วังวนเดิม เพราะอีก 30 ปีข้างหน้า คนรุ่นใหม่และนักศึกษาในวันนี้ จะกลายเป็นกำลังหลักของประเทศ
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง สิ่งที่น่ากังวลคือความคับข้องใจ และคับแค้นใจของประชาชน เพราะคนจะมีความหวัง เข้าใจว่าหลังเลือกตั้งบ้านเมืองจะถูกปลดล็อค เศรษฐกิจจะดี ทุกอย่างจะเดินหน้า แต่จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้ปลดล็อค ทำให้แก้ไขอะไรไม่ได้มาก ซ้ำยังเป็นไปได้สูงถึง 85% ที่จะได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ โดยอาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และนั่นหมายความว่าสิ่งที่จะตามมา คือการโยกย้ายถ่ายโอน ส.ส. เพื่อให้กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่สิ่งที่ยังคาดหวังคืออย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ จะถูก ส.ส.ฝั่งพรรคประชาธิปไตยอภิปรายในสภา โดยไม่มีอำนาจ ม.44 อยู่ในมือ ดังนั้นพรรคการเมืองต้องร่วมกันทำให้ความหวังของประชาชนยังคงอยู่ต่อไปขณะเดียวกันนักศึกษา และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกวินาที เพราะมีโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีต่างๆ จึงควรตื่นตัวในการเลือกตั้ง เพราะทุกคนได้เห็นแล้วว่าการมีชีวิตอยู่ใต้เผด็จการเป็นอย่างไร สิทธิและการใช้ชีวิตสำคัญพอๆ กับสิทธิและเสรีภาพในการเลือกตั้ง นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ต้องใช้สิทธิเหล่านี้ให้คุ้มค่า เพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย
น.ส.พรพรหม กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน จึงมีอะไรแปลกๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ว่ากาบัตรกี่ใบ อยู่เขตเลือกตั้งไหน อย่างไร ทั้งการยุบพรรคก็เกิดขึ้นได้ง่ายมาก แค่ผู้สมัครถูกแจ้งข้อกล่าวหาทุจริต ก็จะโดน ปปง.ตรวจสอบ และยึดทรัพย์ได้จึงน่ากังขา ว่านโยบายประชารัฐเป็นการทุจริตเชิงการเลือกตั้งหรือไม่ ที่ผ่านมา อดีต ส.ส.จำนวนมาก ไหลไปรวมอยู่กับพรรคผู้มีอำนาจ เหตุการณ์ต่างๆ หนักกว่ายุคจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ช่วงปี 2500 เสียอีก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าระหว่างการเลือกตั้งครั้งนั้น มีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น ฉะนั้นเมื่อกลไกก่อนเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มาจากประชาชนแม้จะได้เสียงเกินครึ่ง หรือ 250 เสียงขึ้นไป ก็จะไม่สามารถเข้าไปบริหารประเทศไทย เนื่องจากผู้มีอำนาจวาง ส.ว.250 คน ไว้แล้ว
ส่งผลให้เกิดคำถามที่ค้างคาใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการวางระบบสืบทอดอำนาจของผู้มีอำนาจหรือไม่ เพราะไม่ว่าเขาจะได้คะแนนเสียงมาก หรือน้อยแค่ไหน ก็มี ส.ว.เป็นฐานไว้ถึง 250 เสียงแล้ว ยิ่งถ้าประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่สนใจการเมือง การปกครอง การใช้อำนาจทางการเมืองก็จะยิ่งง่ายกว่าเดิม การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจึงต้องตัดสินใจเลือกแค่พรรคที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าพรรคที่สนับสนุนเผด็จการชนะเลือกตั้ง ก็นับเป็นความล้มเหลว อนาคตประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้.