ในฐานะของแม่ เมื่อรู้ว่า“ชีวิตใหม่”กำลังปฏิสนธิ ย่อมพยายามขวนขวายทุกวิถีทางเพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกน้อยในครรภ์ หากหลายครั้งก็อดตื่นเต้น หรือวิตกกังวลไม่ได้ในระหว่างการรอคอย ยิ่งหลังคลอด ภาวะที่ต้องเลี้ยงดูลูกตลอดทั้งวัน อาจทำให้คุณแม่เครียด หรือปฏิบัติตัวไม่ถูก เพราะขาดประสบการณ์ หรือขาดคนคอยให้คำชี้แนะที่ถูกต้อง
ดร.ศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ตำบลดอนแก้วเป็นชุมชนกึ่งเมืองขนาดใหญ่ มีประชากรมากถึง 15,689 คน และแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กในครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง คลอดอย่างปลอดภัย รวมถึงการดูแลหลังคลอดอย่างเหมาะสม หากในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร ส่งผลให้การดูแลไม่ทั่วถึง“เราอาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 35 คน ที่อยู่ในเครือข่ายวิทยาลัยจิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในด้านการพัฒนาระบบการดูแลกลุ่มเปราะบางโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เข้ามาช่วยในจุดนี้ คอยดูแลหญิงตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนถึงเด็กอายุ 2 ขวบ ในลักษณะที่เรียกว่าประกบติด เริ่มจากการอบรมให้ความรู้กับ อสม. 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งให้ชุดเยี่ยมบ้านหลังคลอด ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อเด็กอ่อนและแม่ คือ ผ้าห่อเด็ก ตาชั่ง เครื่องวัดความดัน สายวัดสำหรับวัดศีรษะเด็ก เพราะเด็กจะสมบูรณ์หรือไม่ ศีรษะต้องได้มาตรฐานไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป” ผอ.รพ.ชุมชน ต.ดอนแก้ว อธิบาย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิตอล อุปกรณ์ชั่งตวงวัด ประเภทถ้วยตวง ช้อนตวง เพื่อให้การกินยามีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเต้านมจำลอง ที่ต้องใช้กรณีแม่มีปัญหาเต้านมไม่มีน้ำนมให้ลูก หรือคัดเต้านม พบว่าที่ผ่านมาแม่บางรายให้ลูกดื่มนมจากขวดแทนนมแม่ แล้วทิ้งนมแม่ การใช้นมจำลอง จะเป็นการสอนวิธีบีบนมแม่ตามจุดสำคัญให้มีน้ำนมไหลขณะเดียวกันยังทำไส้อั่ว ซึ่งคือผ้าที่เย็บเป็นขด ด้านในบรรจุสมุนไพรไว้ประคบหน้าท้องแม่ให้มดลูกเข้าอู่โดยเร็ว กับเข็มขัด ที่เย็บผ้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีช่องใส่สมุนไพร แล้วนำมาผูกเอว ช่วยเรื่องมดลูกเข้าอู่เหมือนกัน และที่ขาดไม่ได้คือตะกร้าปัญญา ภายในบรรจุหนังสือนิทาน 10 กว่าเล่ม แต่เมื่อนำไปให้แล้วมีข้อแม้ว่าพ่อแม่ต้องอ่านให้ลูกฟัง ถ้าไม่ทำจะถูกยึดทั้งตะกร้าคืน เนื่องจากมีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าสมองของเด็กมีการสร้างเส้นใยภายใน 2 ขวบแรกมากที่สุด การกระตุ้นในช่วง 2 ขวบแรกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกฉลาดได้
อสม.จะมีแฟ้มแบบสอบถาม และผลตรวจเช็คต่างๆ รวมถึงการนัดพบแม่ลูกที่ตนดูแลอยู่ ซึ่งผลจากการคอยดูแลประกบอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความผูกพันระหว่าง อสม.กับแม่ลูก กระทั่งเมื่อเด็กเริ่มพูดได้ ส่วนใหญ่จะเรียก อสม.ว่า“แม่” ด้วยอีกคนหนึ่งนอกเหนือจากแม่ตัวเอง เรียกว่าเป็นแม่ทูนหัว หรือแม่อาสา ของเด็กๆ ที่คอยช่วยกระตุ้นสุขภาวะให้สมบูรณ์ และมีพัฒนาการสมวัย เพราะทุกคนตระหนักดีว่าถ้ารอกระตุ้นตอนเด็กเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาถือว่าช้าไป ต้องกระตุ้นในช่วง 2 ปีแรกเกิดจึงจะได้ผลดีที่สุด.