ชลประทานประชุมชี้แจงแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 62 เน้นทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จัด 25 รอบเวรในการส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ขณะที่เขื่อนแม่กวงฯประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเห็นพ้องแผนบริหารฯยันทุกฝ่ายต้องเคารพกติกา เริ่มส่งน้ำ 4 ม.ค.62 พร้อมสำรองน้ำสำหรับตกกล้าก่อนทำนาปี 15 มิ.ย.เป็นต้นไป
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 ธ.ค.61 อาคารเอนกประสงค์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2561/62 โดยมีนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่กวง, นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด ผู้แทนอำเภอสันทราย สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และผู้แทนจากต.บ้านธิ และเมือง จ.ลำพูน พร้อมผู้แทนส่วนราชการและกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 160 คน ร่วมประชุมเพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 กล่าวว่า สำนักชลประทานที่ 1 ซึ่งดูแลพื้นที่ชลประทานใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมกับนายอำเภอพื้นที่ที่แม่น้ำปิงไหลผ่าน 15 อำเภอของทั้ง 2 จังหวัด รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ภาพรวมความต้องการน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูน มีความต้องการน้ำสำหรับการอุปโภคทั้งสิ้น 1.47 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ โดยต้องการน้ำดิบจากคลองแม่แตง 200,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ น้ำดิบจากเขื่อนแม่กวงฯ 250,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ น้ำดิบจากแม่น้ำปิง ซึ่งมี 8 สถานีสูบน้ำ 1.02 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ นำสำหรับรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ 17 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคการเกษตรมีแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง 418,282 ไร่ แยกเป็นพื้นทีการเกษตรซึ่งรับน้ำจากคลองแม่แตง 46,000 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ จากเขื่อนแม่กวงฯ 68,853 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ จากแม่แฝก-แม่งัด 69,685 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ พื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 16 แห่ง และฝายอีก 7 แห่ง มีแผนเพาะปลูก 71,843 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ และพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำปิงตอนบน 161,901 ไร่ ต้องการใช้น้ำ 2-8 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์
สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนโดยภาพรวมปริมาณน้ำกักเก็บที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ราว 100.70 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่แล้ว 2 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำกักเก็บราว 55.25 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่แล้ว 6.6 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีน้ำที่ความจุรวม 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของความจุด น้อยกว่าปีทีแล้ว 14 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีน้ำที่ความจุรวม 58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของความจุด น้อยกว่าปีที่แล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ และที่ฝ่ายแม่แตงมีปริมาณน้ำไหลผ่านฝ่ายดีกว่าปีที่แล้ว 11 เปอร์เซ็นต์
ส่วนการส่งน้ำให้พื้นที่ใช้น้ำในปีนี้จะจัดเป็นรอบเวรตลอดฤดูแล้ง โดยตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนที่มีกับปริมาณความต้องการใช้น้ำ ซึ่งภาพรวมน้ำต้นทุนที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีน้ำกักเก็บเต็มความจุด 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ โดย ณ วันที่ 21 ธ.ค. 61 ปริมาณน้ำเก็บกัก 266.857 ล้าน ลบ.ม. ราว 100.70 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง โดยแผนการปลูกพืชฤดูแล้งที่จะถึงในพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิงที่ใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ราว 161,901 ไร่ แยกเป็น พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 29,008 ไร่ พืชไร่ 9,320 ไร่ พืชผัก 4732 ไร่ ไม้ผล 118,189 ไร่ และบ่อปลา 652 ไร่
การจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนยังจัดสรรแบบรอบเวร ในช่วงแล้งปี 2562 มีแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 25 สัปดาห์ รอบแรกคือสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2562 ส่งน้ำให้พื้นที่ 1.94 ล้าน ลบ.ม. และไปสิ้นสุดในรอบที่ 25 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2562 ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์จะจ่ายน้ำให้รอบเวรละ 3 ล้านกว่า ลบ.ม. เดือนมีนาคม รอบเวรละ 4-8 ล้าน ลบ.ม. เดือนเมษายนในสัปดาห์แรก 8.47 ล้าน ลบ.ม. แล้วปรับลดลงตามลำดับ เดือนพฤษภาคมจ่ายน้ำที่รอบเวรละ 3-6 ล้าน ลบ.ม. และเดือนสุดท้ายเดือนมิถุนายน จัดสรน้ำให้รอบเวรละ 1.94 ล้าน ลบ.ม.สำหรับการจัดสรรอาศัยหลักการที่ว่า ในวันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดทั้งลุ่มน้ำจะงดการใช้น้ำ เพื่อให้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ สามารถส่งไปถึงพื้นที่ด้านได้น้ำได้ ยกเว้นน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ในทุกรอบเวรตลอดทั้งลุ่มน้ำปิงตอนบนจะเปิดใช้น้ำพร้อมกัน โดยที่การส่งน้ำจะเป็นแบบมวล ส่งเป็นก้อนในปริมาณที่กำหนดในแต่ละรอบเวร
ทางด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่กวง กล่าวว่า สำหรับเขื่อนแม่กวงฯปีนี้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีจำนวนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตามความจุของน้ำในปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำเขื่อนแม่กวงฯจะมีคณะกรรมการบริหารฯอยู่ ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันเพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำและทางฝ่ายรัฐ ซึ่งได้ข้อสรุปสำคัญร่วมกัน โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงฯมีน้ำทั้งสิ้น 145 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งจะจัดสรรน้ำแบ่งออกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 9 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 83 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ระเหย 6 ล้าน ลบ.ม. และเก็บกักเป็นน้ำสำรองและตกกล้าสำหรับนาปีจำนวน 53 ล้าน ลบ.ม.
ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำร่วมกันว่า การจัดการทุกพื้นที่ต้องเคารพกฏ กติกา และปฏิบัติตามกฏ กติกา และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ทางเขื่อนฯจะเริ่มส่งน้ำรอบแรกในวันที่ 4 ม.ค.62 จนถึงวันที่ 4 พ.ค.62 และจะเริ่มนาปีประมาณวันที่ 15 มิ.ย.62 เป็นต้นไป
ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่กวง กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่รับน้ำเขื่อนแม่กวงฯ มีการปลูกพืช รวม 68,853 ไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 39,279 ไร่ พืชไร่ 2,674 ไร่ พืชสวน 23,815 ไร่ บ่อปลา 3,85 ไร่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ดำเนินการตามแผนการบริการจัดการที่วางไว้ได้.