กว่า 7 ปี ที่ เสน่ห์ เรืองดี อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าช้าง หมู่ 2 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ชักชวนพระสงฆ์ แกนนำชุมชน ให้ร่วมมือกันหาทางออกจากปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน หลังจากสุ่มตรวจ แล้วพบว่าส่วนใหญ่มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย และเมื่อมองไปที่ต้นเหตุ ก็พบว่ามาจากการบริโภคผัก ผักไม้ ที่ปนเปื้อนสารเคมีจากท้องตลาด หรือบางรายที่เป็นเกษตรกร เพาะปลูกเอง ก็ใช้ปุ๋ย และยา เพื่อเร่งผลผลิตให้งอกงาม และกำจัดศัตรูพืช
หลังจากแกนนำหารือกันแล้ว ก็เห็นว่าทางออกที่ดีที่สุด แต่ละครัวเรือนต้องผลิตพืชอาหารปลอดภัยไว้บริโภคเอง ประกอบกับพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำเกษตร ทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีดินเหนียวเหมาะต่อการปลูกข้าว ดินร่วนเหมาะกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ แถมมีแม่น้ำน่านไหลผ่านทั้งปี ใช้ในภาคเกษตรได้อย่างอุดมสมบูรณ์
“เริ่มสนับสนุนให้คนในชุมชนปลูกผักปลอดสาร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 หากการเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมต้องใช้เวลา การมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนก็เช่นกัน ถือเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ที่จะให้คนที่เคยชินกับความสะดวกสบาย ใช้เงินซื้อผักจากตลาด หันมาปลูกเอง ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้น ปี 2554 แกนนำต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เสน่ห์ อธิบายพร้อมกันนั้น ก็ค่อยๆ ขยับขยาย โดยพัฒนาพื้นที่สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในชุมชน มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา และได้รับประทานอาหารปลอดภัย จากพืชผักที่ปลูกเองภายในชุมชน รณรงค์ให้นำภาชนะเหลือใช้ เช่น กระป๋องสี ยางรถยนต์ มาเป็นกระถางเพาะปลูก ทำทุกพื้นที่ในหมู่บ้านให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว อย่างน้อยที่สุดก็ให้ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ เมื่อจะประกอบอาหารในแต่ละมื้อ จะได้เก็บมาใช้แบบสดๆ ไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากตลาด แถมยังปลอดภัยทั้งจากสารเคมี และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ก็มีกองทุนเมล็ดพันธุ์ให้คนในชุมชนยืมไปปลูก แต่เมื่อเก็บผลผลิตได้ต้องส่งเมล็ดพันธุ์คืน เพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านรายอื่นได้มีโอกาสเพาะปลูกต่อไป รวมทั้งมีการต่อยอดไปถึงการเพาะเห็ด อบรมเรื่องการแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร เช่น แปรรูปเห็ด ทำน้ำพริกเห็ด น้ำเห็ดหูหนูขาว น้ำเห็ดหูหนูแดง เกิดกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชนขึ้นดังนั้นนอกจากบริโภคในครัวเรือนแล้ว ผลิตผลที่มากขึ้น จากการขยายพื้นที่และจำนวนคนเพาะปลูก ทั้งผักปลอดสารเคมี เห็ดต่างๆ ก็สามารถจำหน่ายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง ส่งผลให้ชาวบ้านมองเห็นประโยชน์และความสำคัญของการผลิตพืชผักปลอดภัย จนหันมาร่วมมือทั้งหมู่บ้าน จำนวน 268 ครัวเรือน
และในที่สุดก็ขยายผลไปสู่พื้นที่ข้างเคียง ครอบคลุม 9 อำเภอ 36 ตำบล จนเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาการเกษตร จ.พิษณุโลก และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อน “เครือข่ายพิษณุโลกเมืองอาหารปลอดภัย” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่นับเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ที่สั่นสะเทือนไปถึงสังคม ชุมชนรอบข้าง จนมีการเอาอย่าง และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับใหญ่ทั้งจังหวัด จึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนบ้านท่าช้างเป็นอย่างยิ่ง.