สำนักชลประทานที่ 1 แจงแบ่งรอบเวรบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 62 ให้เพียงพอและไม่ขัดสนถึงกลับแย่งน้ำกัน เผยพื้นที่การเกษตรในเขตฯกว่า 161,901 ไร่ใช้น้ำ 180 ล้านลบ.ม.ขณะที่น้ำต้นทุนในเขื่อนแม่งัดปัจจุบันมีกว่า 195 ล้านลบ.ม.น้อยกว่าปีที่แล้ว
นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน ในเขตความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่,ลำพูน) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิงตอนบนครอบคลุมพื้นที่ 11 อำเภอ ใน จ.เชียงใหม่ 4 อำเภอ ใน จ.ลำพูน เปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งสภาพน้ำท่าใกล้เคียงกัน ส่วนความต้องการ (DEMAND) ในช่วงฤดูแล้ง ถึงปลายเดือน พ.ค.การเกษตร ประมาณ 161,901 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 180 ล้าน ลบ.ม.น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค(ประปา) จำนวน 21 ล้าน ลบ.ม.และน้ำเพื่อสนับสนุนงานประเพณีสงกรานต์ (เติมน้ำในคูเมืองเชียงใหม่)จำนวน 1 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งสิ้น = 202 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ได้ใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ จำนวน 110 ล้าน ลบ.ม. และ Base Flow 92 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 195.76 ล้าน ลบ.ม. (73.87%) น้อยกว่า ปี 61 ประมาณ 2.10% โดยปี 2561 จัดสรรลงแม่น้ำปิงจำนวน 95 ล้าน ลบ.ม. (แบบรอบเวรแบ่งเป็น 19 งวด)
ผอ.สำนักชลประทานที่ 1 กล่าวอีกว่า สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำ ปี 2562 จัดสรรน้ำลงแม่น้ำปิงจำนวน 110 ล้าน ลบ.ม. (แบบรอบเวรแบ่งเป็น 25 งวด) ปัจจุบันส่งน้ำแล้ว 12 งวด รวม 46.36 ล้าน ลบ.ม. (น้อยกว่าแผน 8.87 ล้าน ลบ.ม.) เหลือน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 64.39 ล้าน ลบ.ม.สำหรับประตูระบายน้ำปริมาณน้ำไหลผ่าน 2.378 ล้าน ลบ.ม.ความจุที่ระดับเก็บกัก 3.132 ล้าน ลบ.ม. (ลดระดับน้ำด้านเหนือน้ำเพื่อเสริมคันกั้นน้ำ) ประตูระบายน้ำวังปาน ปริมาณน้ำ 4.660 ล้าน ลบ.ม.ความจุที่ระดับเก็บกัก 4.515 ล้าน ลบ.ม. ประตูระบายน้ำแม่สอย ปริมาณน้ำ 2.445 ล้าน ลบ.ม.ความจุที่ระดับเก็บกัก 7.005 ล้าน ลบ.ม. (ลดระดับน้ำด้านเหนือน้ำเพื่อเสริมคันกั้นน้ำ)
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินขณะนี้ คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 62 โดยเกินจากที่กรมอุตุฯพยากรณ์ว่าช่วงกลางเดือน พ.ค.จะเริ่มมีฝนเข้ามา ซึ่งเขื่อนแม่งัดฯ มีน้ำเหลือประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. ณ 1 ก.ค. 62 สำหรับเตรียมแปลงตกกล้าฤดูฝนปี 62 และฤดูแล้งปี 62 ไม่มีปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ เขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณน้ำต้นทุน 195.76 ล้าน ลบ.ม.(73.87%) น้อยกว่า ปี 61 2.10% ซึ่งต้องบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร 69,008 ไร่ : น้อยกว่า ปี 61 1% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ) และ เขื่อนแม่กวงฯ น้ำต้นทุน 98.99 ล้าน ลบ.ม.(37.64%) มากกว่า ปี 61 4.68% พื้นที่การเกษตร 77,322 ไร่ : มากกว่า ปี 61 10% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ) ฝายแม่แตง ปริมาณน้ำไหลเข้าฝาย 3.523 ลบ.ม./วินาที มากกว่า ปี 61 พื้นที่การเกษตร 47,792 ไร่ : มากกว่า ปี 61 4% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ)
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง น้ำต้นทุน 43.66 ล้าน ลบ.ม.(50.38%) น้อยกว่า ปี 61 15.65% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 73,661 ไร่ : มากกว่า ปี 61 2% อ่างขนาดเล็ก 117 แห่ง น้ำต้นทุน 37.17 ล้าน ลบ.ม.(57.07%) น้อยกว่า ปี 61 6.18% ส่วนที่จ.ลำพูนมี อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง น้ำต้นทุน 12.45 ล้าน ลบ.ม.(35.47%) น้อยกว่า ปี 61 11.15% พื้นที่การเกษตร (ชลประทานขนาดกลาง) 64,811 ไร่ น้อยกว่า ปี 61 ประมาณ 15% และอ่างขนาดเล็ก 47 แห่ง น้ำต้นทุน 10.16 ล้าน ลบ.ม.(41.20%) น้อยกว่า ปี 61 11.12%
ทางด้านจ.แม่ฮ่องสอนมีอ่างขนาดกลาง 2 แห่ง น้ำต้นทุน 1.08 ล้าน ลบ.ม.(84.38%) น้อยกว่า ปี 61 ประมาณ 5.49% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 11,152 ไร่ เท่ากับปีแล้ว และอ่างขนาดเล็ก 29 แห่ง น้ำต้นทุน 8.03 ล้าน ลบ.ม.(70.84%) น้อยกว่า ปี 61 4.87% ทั้งนี้ลักษณะโครงการขนาดกลาง/เล็กเป็นแหล่งน้ำเชิงเดี่ยวซึ่งจะต้องบริหารจัดการเฉพาะแห่ง โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำและเจ้าหน้าที่ชลประทานจะกำหนดแผนการเพาะปลูกและบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม กับปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้ง.