ตลาดนัดสูงวัยหัวใจสีเขียว ทางออกเพื่อสุขภาวะของคนชรา ต.เวียงกานต์

ตลาดนัดสูงวัยหัวใจสีเขียว ทางออกเพื่อสุขภาวะของคนชรา ต.เวียงกานต์

วามล้มเหลวของการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนในพื้นที่เลิกใช้สารเคมีที่เป็นเหมือนดั่งการนำงบประมาณไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทำให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงกานต์ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ฉุกคิด และกลับมาตั้งหลัก เพื่อหาวิธีการใหม่ที่เหมาะสมกว่าเดิมจากข้อมูลของตำบลเวียงกานต์ พบว่า ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ มีอาชีพเกษตรกรรม ปลูกหอมแดง กระเทียม ลำไย และมะม่วง แม้ว่าระยะหลัง แรงงานจำนวนมากจะออกไปรับจ้างต่างถิ่น แต่ก็ยังเป็นการรับจ้างทำงานในภาคเกษตร ยกเว้นกลุ่มเยาวชนที่ส่วนหนึ่งออกไปเช่าหอพักเพื่อทำงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนคนที่เหลืออยู่ในพื้นที่จึงเป็นผู้สูงอายุ และแรงงานภาคเกษตรที่ยังใช้สารเคมีอย่างไม่ตระหนักถึงพิษภัย

แม้ผู้สูงวัยจะมีงานทำ ด้วยการรับจ้างมัดหอมแดง กระเทียม หรือเก็บลำไย แต่ปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCD เบาหวาน ความดัน ไขมัน นับวันจะมีอัตราเพิ่มมากขึ้น ทำให้อบต.เวียงกานต์ต้องวางแผน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษในการพัฒนาระบบอาหารชุมชนเหตุนี้ในปี 2558 จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ที่มี อบต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นแม่ข่าย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างทางออกให้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

“เราเริ่มส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปลูกผักไว้กินเองภายในบ้าน ใช้วิธีการให้มองกลับไปข้างหลัง ว่าในอดีตมีผักอะไรบ้างที่ขึ้นริมรั้ว สามารถเก็บกินได้ และต่อมายุครั้วคอนกรีต ทำให้ผักเหล่านั้นก็หายไป” ชัยวัฒน์ ประเสริฐ นายก อบต.เวียงกานต์ เริ่มเล่าเมื่อผู้นำชุมชนเริ่มขยับและขายแนวคิดนี้ออกไป ก่อให้เกิดความกระตือรือร้นในการขวนขวายหาพืชผักมาปลูก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยทั้งหลาย ต่างโหยหาอดีต คิดถึงวิถีชีวิตวันวาน

“เมื่อปลูกกันมากขึ้น ก็มีผลผลิตเพียงพอ เราจึงเปิดตลาดนัดสีเขียวเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2561 ที่แหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ (สวนสี่พี่น้อง) บ้านป่าป๋วย ต.บ้านโฮ่ง” นายก อบต.เวียงกานต์ บอก นั่นคือจุดเริ่มต้นของตลาดนัดของพี่น้อง สว.ชาวตำบลเวียงกานต์การมีตลาดนัด ได้สร้างบรรยากาศคึกคักให้กับชุมชน ผู้สูงอายุต่างนำพืชผักที่ตัวเองปลูกไว้ไปขาย บ้างก็แปรรูป หรือปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านไปร่วม และได้ผลตอบรับดีมากจากกระแสรักสุขภาพที่กำลังมาแรง จนเกิดเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคให้จัดตลาดนัดสีเขียวทุกเดือน“เรายังทำไม่ได้ เพราะบางช่วงแล้งจัด ไม่มีน้ำพอที่จะรดน้ำผัก จึงกลายเป็นตลาดนัดสีเขียวประจำปี ซึ่งในปี 2562 เพิ่งจัดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. เช่นกัน กระนั้นก็มีความพยายามเปิดตลาดนัดสีเขียวในงานประเพณีต่างๆ ของท้องถิ่นด้วย เช่น งาน “ของดีวิถีเวียงกานต์” ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนนี้ เป็นต้น” นายกฯ ชัยวัฒน์ กล่าวขณะเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาของคนในท้องถิ่น โครงการสำคัญที่ทาง อบต.เวียงกานต์ ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2562 นี้ จึงเป็นเรื่องธนาคารน้ำไต้ดิน ที่จะทำให้ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 50 มีน้ำกินน้ำใช้ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตลอดทั้งปี

ศรีจันทร์ อุ่นนันกาศ คุณตาวัย 78 ปี ที่กันพื้นที่บริเวณบ้านราว 1 ไร่ ทำสวนผักเชียงดา เล่าว่า เดิมปลูกหอมแดงแบบใช้สารเคมีมาหลายปี จนตอนหลังเริ่มมีปัญหาความดันโลหิตสูง และโรคเก๊าต์ ผนวกกับวัยที่สูงขึ้น จึงปรึกษากับยายธิดา ภรรยาคู่ชีวิตวัย 74 ปี หันมาปลูกผักปลอดสารตามโครงการที่ทาง อบต.ส่งเสริม เริ่มจากมะม่วงก่อน จากนั้นจึงแซมพื้นที่ว่างด้วยผักเชียงดา และพืชผักสวนครัวต่างๆ“ดีใจมากที่ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการผลิต ทุกวันนี้มีความสุขประสาผู้สูงวัย ทุกเช้าจะช่วยกัน 2 ตายายดูแลสวน กำจัดวัชพืช เก็บผักไปทำอาหาร และตัดผักเชียงดาส่งให้แม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ้านทุกวันอาทิตย์ พุธ และศุกร์ พอสายๆ ก็ดูแลกล้าผักที่เพาะชำไว้ บางครั้งก็แบ่งขายบ้าง มีรายได้ไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 1,000 บาท สุขภาพก็ดีขึ้น โรคประจำตัวไม่กำเริบ สามารถควบคุมได้ หากช่วงไหนมีตลาดนัดสีเขียว ก็จะคุยกับแม่ค้าเพื่อเก็บผักไว้ไปขายตลาดนัดแทน เรียกได้ว่าอยู่อย่างสบายใจท่ามกลางธรรมชาติทุกวัน” ตาศรีจันทร์ กล่าวเช่นเดียวกับ ขนิษฐา ขอสวัสดิ์ หรือยายไล วัย 70 ปี ข้าราชการเกษียณก่อนอายุ ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่กับครอบครัวลูกสาว ก็เจียดพื้นที่บริเวณบ้านประมาณ 100 ตารางวา ทำสวนครัว ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทั้งพริก ขิง ข่า ตะไคร้ มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักกาด มะระขี้นก ผักปลัง กระเจี๊ยบ กล้วย ฯลฯ

“เสาะหาผักพื้นบ้านมาปลูกไว้เรื่อยๆ เจอที่ไหนก็ขอแบ่งเมล็ดพันธุ์มา ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ซื้อ ทำให้ตอนนี้ภายในสวนมีผักหลายชนิด จนกินไม่ทัน ใครแวะเวียนมาเยี่ยมก็มักจะแบ่งปันให้เขาไปช่วยกินด้วย และส่วนหนึ่งก็แปรรูป เช่น น้ำผักอินทรีย์ปั่น กล้วยตาก ทั้งขายทั้งแจกตามโอกาส รู้สึกมีความสุข กระปรี้กระเปร่า เพราะหลังจากเกษียณ ก็เปิดร้านขายของชำเล็กๆ หน้าบ้าน ให้สมองได้คิดเลขป้องกันโรคอัลไซเมอร์ แต่พอมาทำสวนครัว กลับได้เหงื่อ ได้ออกกำลังกายกลางแจ้ง สุขภาพก็แข็งแรง” ยายไล เล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มการทำเกษตรปลอดสาร ปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือนที่ ต.เวียงกานต์ จึงไม่ได้ส่งผลเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้สูงอายุและครัวเรือนมีรายได้เพิ่ม แต่ยังส่งผลถึงสุขภาพโดยรวม ทำให้อัตราเพิ่มของผู้ป่วย NCD ลดลงร้อยละ 5 ผู้สูงอายุได้ทำงานออกกำลังกาย ได้ไปตลาดนัด เกิดการพบปะ พูดจาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ที่สำคัญคือเป็นแรงกระตุ้นให้คนหนุ่มสาว แม่บ้าน เยาวชน หันมาช่วยกันปลูกและดูแลพืชผักภายในบ้าน เชื่อมความสัมพันธ์คนภายในชุมชนได้อย่างแนบแน่น“ภาคเหนือถือว่ามีประชากรสูงวัยจำนวนมากที่สุดมีอยู่เกือบร้อยละ 22 ที่ผ่านมารัฐจะต้องมีการจัดสวัสดิการและคอยดูแลคนกลุ่มนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรท้องถิ่นจะต้องรับมืออย่างใกล้ชิด ต้องดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพให้กลุ่มผู้สูงวัยมีศักยภาพในการดำรงชีวิตอยู่พึ่งพาตนเองได้” ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3 ) สสส. ให้ข้อมูลพร้อมแสดงทัศนะถึงบทบาทของท้องถิ่นในการจัดการกับสถานการณ์ผู้สูงอายุจากการคาดการณ์ถึงประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสังคมไทยต้องวางแผนรับมือให้ได้ โดยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3 ) ย้ำว่า ต้องเตรียมรับมือตั้งแต่ตอนนี้.

You may also like

Hilight ในคืนข้ามปีกับ BamBam เหล่าอากาเซ่และแบมมี่ ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์เมื่อ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา

จำนวนผู้