สร้างอาชีพเสริมรายได้ เพิ่มปัจจัยสุขให้ผู้สูงวัย

สร้างอาชีพเสริมรายได้ เพิ่มปัจจัยสุขให้ผู้สูงวัย

ว่ากันว่าความสุขของผู้สูงวัย คือ การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  “กายที่สุข ใจก็จะสุขตาม” แต่ก่อนที่จะสุขกายสบายใจ ต้องมีพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย โดยเฉพาะเรื่องปากท้องหรือรายได้ แม้ผู้สูงอายุจะเป็นวัยที่อาจจะไม่ต้องใช้เงินมากมาย แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีพผู้สูงอายุของไทยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ยังต้องทำงานเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร มีการศึกษาน้อย รายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย และเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 ของประชากร และในปี 2574 จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ  ดังนั้นในการจัดการรับมือกับผู้สูงวัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการสร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้สูงวัย เพราะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยของการมีความสุขเช่นที่ตำบลดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ มีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งตำบล ส่วนใหญ่มีปัญหาขาดแคลนรายได้หรือยากจน ทางตำบลโดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจึงช่วยกันแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและ “สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพิ่มคุณค่าในตัวเองและชุมชนสิทธิชัย วิลัยเลศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ เปิดเผยถึงแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในตำบล ว่า การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยตำบลดวนใหญ่ เริ่มมาจากการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเมื่อปี 2557 แล้วชักชวนกลุ่มผู้สูงวัยให้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะการดูแลตัวเอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มทอผ้าฝ้ายสีดอกลำดวน 2.กลุ่มทำน้ำยาล้างจาน 3.กลุ่มทำดอกไม้จันทน์ 4.กลุ่มทำสบู่ใยไหม 5.กลุ่มทอผ้าสไบขิต 6.กลุ่มแปรรูปหน่อไม้ 7.กลุ่มจักสานไม้ไผ่ และ 8.กลุ่มทำข้าวกล้องงอก“ต้องการตอบแทนบุญคุณให้ผู้สูงวัยทุกๆ คนช่วยสร้างชุมชนกันขึ้นมา” นายกอบต.ดวนใหญ่ เผยถึงเหตุผลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และกล่าวอีกว่า หากปล่อยให้เผชิญชะตากรรม โดยที่ไม่ดูแล ไม่ใสใจ ก็เท่ากับเนรคุณ ผู้สูงอายุทุกคนแม้จะอายุมากแต่ยังมีศักยภาพ ยังมีแรงไม่แพ้หนุ่มสาว และมีภูมิปัญญาที่บ่มเพาะมากว่า 60 ปี ดังนั้นท้องถิ่นจึงต้องช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสถ่ายทอดภูมิปัญญานั้นต่อไป ถ้าไม่ทำภูมิปัญญาต่างๆ ก็จะหายไปเรื่อยๆเคล็ดลับชักชวนผู้สูงอายุให้มาทำกิจรรมร่วมกันได้นั้น คือ อบต.ต้องหาผู้นำ ซึ่งเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่ทุกคนให้การยอมรับ และจะเป็นคีย์แมนสำคัญในการชักชวนคนอื่นๆ ให้เข้าร่วม เพราะทุกคนจะมาด้วยศรัทธาปัจจุบันทั้ง 8 กลุ่มกิจกรรมอาชีพของโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลดวนใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 บาทต่อเดือน ผู้สูงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทนเหงาว้าเหว่อีกต่อไป ทุกคนจึงยิ้มได้หัวเราะได้อย่างมีความสุข

“แม้เงินจะสำคัญต่อการดำรงชีพ แต่ใช่ว่าจะทั้งหมด เพราะแล้วเงินแค่เปลือก แก่นแท้คือความสุขของผู้สูงวัยทุกคน เมื่อเขามีความสุข เงินก็จะมา แต่ถ้าเราใช้เงินเป็นเป้าหมาย มันก็ไม่มีความสุข เพราะวัยนี้ไม่ได้ต้องการรายได้มากมายแล้ว เพียงแค่ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีความสุขก็พอ นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ และเราจำเป็นต้องหนุนเสริม” นายก อบต.ดวนใหญ่ กล่าวทิ้งท้ายด้าน นิคม พูนภิรมย์ ครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลดวนใหญ่ กล่าวเสริมว่า ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ซึ่งเป็นวันโรงเรียนเปิดทำการ นักเรียนก็จะมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ วันไหนมีการฝึกสอนอาชีพก็จะคึกคักเป็นพิเศษ ทุกคนดูกระตือรือร้นกันมาก

กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนล้วนต้องการให้ผู้สูงวัยมีอารมณ์ สังคม จิตแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง อยู่อย่างมีคุณค่า ไม่เป็นภาระสังคม ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ มีเพื่อนฝูง มีรายได้ ให้อยู่กันอย่างมีความสุข มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ดังนั้นหลักๆ คือ ต้องให้เขาทำงาน พัฒนาสุขภาพ สังคมของเขาไปพร้อมๆ กันด้วยด้วยความพร้อมทั้งแหล่งอาหารปลอดภัย วัฒนธรรมสภาพแวดล้อม เป้าหมายต่อไปของ อบต.ดวนใหญ่ คือ การยกระดับสู่การเป็นชุมชนดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพที่สามารถรองรับผู้สูงอายุจากที่อื่นมาพักหรืออาศัยร่วมกันได้ อันเป็นการให้ผู้สูงวัยได้มีความสุขจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันขณะที่ตำบลหนองใหญ่ อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ และมุ่งสร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัย ด้วยการใช้ต้นทุนที่มีอยู่อย่างภาคเกษตรกรรม มาเป็นจุดแข็งและจุดขาย ด้วยการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยทำเกษตรอินทรีย์ ปลอดภัยทั้งคนทำและคนกิน

จำรัส บุบผา หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลหนองใหญ่ กล่าวว่า ต.หนองใหญ่ มีความโดดเด่นเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเป็นผลมาจากการที่ประกาศเป็นตำบลปลอดยาฆ่าหญ้ามาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง แรกเริ่มทำข้าวอินทรีย์ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมาที่พืชตัวอื่นๆ เช่น หอม กระเทียม พืชผักสวนครัว เป็นต้นดังนั้นจึงใช้ต้นทุนที่มีอยู่นี้มาผนวกกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ด้วยการให้ผู้สูงวัยเป็นแกนนำชุมชนในการทำเกษตร ซึ่งหลายๆ คนมีภูมิปัญญาในการทำเกษตรสามารถถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้ นอกจากนี้เรายังได้ส่งเสริมการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้อาหารชุมชนในทั้ง 12 ชุมชนอีกด้วย เพื่อให้คนในชุมชนนำเอาแนวคิดการผลิตวิถีอินทรีย์ไปใช้ในครัวเรือนจำรัส กล่าวถึงการพัฒนาผลผลิตของตำบลต่อไปว่า ทางเทศบาลพยายามส่งเสริมการรวมกลุ่มผลผลิต เพื่อแปรรูปออกจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตอนนี้มีข้าวอินทรีย์ เป็นตัวนำ ซึ่งต่อไปใช้สินค้ากลุ่มผู้สูงวัยผลิตนี้ โดยจะใช้ตรา “ฒ ผู้เฒ่า” เป็นเครื่องหมายการค้า และจะพยายามทำการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายด้วย

“เราอยากเห็นคนในตำบลมีอาหาร มีสุขภาพที่ดี และที่สำคัญผู้สูงอายุเขาจะได้มีความสุข ที่ยังได้ทำเกษตรวิถีเดิมๆ ที่เขารัก เรื่องอาชีพ เรื่องรายได้ เป็นเพียงองค์ประกอบหนุนเสริมเท่านั้น” หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลหนองใหญ่ กล่าวด้าน  ไพโรจน์ มโนรัตน์ แกนนำผู้สูงอายุ ต.หนองใหญ่ กล่าวว่า ตอนนี้มีสมาชิกกลุ่มผลิตเกษตรอินทรีย์ประมาณ 100 คน เนื้อที่ร่วม 1,000 ไร่ กำลังรวบรวมข้อมูลว่าใครผลิตอะไรบ้าง เพื่อหาจุดเด่นของผลผลิต แล้วนำไปวางแผนการผลิตและจำหน่ายต่อไป

“อย่างของผมมีข้าว หอม กระเทียม มัลเบอรี่  ซึ่งต่อไปทางเราจะทำเรื่องขอใบรับรองผลผลิตจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นการการันตีสินค้าของเรา และสามารถส่งขายได้ทั้งในเอเชีย และยุโรป” แกนนำผู้สูงอายุตำบลหนองใหญ่ กล่าวทั้งนี้ ต.ดวนใหญ่ และ ต.หนองใหญ่ เป็นตำบลศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการดำเนิน 10 กลยุทธ์หลัก “5 อ. และ 5 ก.” ได้แก่ 1.การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ 3.การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 4.การออมเพื่อผู้สูงอายุ และ 5.ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้านส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย 1.การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ  2 การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ 3.การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ 4.การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และ 5. การบริการกายอุปกรณ์ หรือการมีศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สสส.เชื่อว่าผู้สูงอายุที่ยังคงมีอาชีพหารายได้จุนเจือครอบครัว นับเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข ทุกวันนี้ผู้ที่มีอายุ 60-65 ในสังคมไทยมีอาชีพ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่อายุ 65-70 ปี มีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยังประกอบอาชีพได้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สามารถทำอยู่กับบ้านได้ บางส่วนก็เป็นผู้สูงอายุที่กลับภูมิลำเนาเดิม แล้วนำงานหรืออาชีพกลับไปทำด้วย“ดังนั้นบทบาทขององค์กรท้องถิ่นเกี่ยวกับการสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุ ก็จะเหมือนออแกไนเซอร์ คือจัดกลุ่มหรือหมวดหมู่อาชีพให้ผู้สูงอายุ กลุ่มนี้ถนัดจักสาน กลุ่มนี้เก่งเย็บผ้า หรือกลุ่มนี้ทำกล้วยฉาบ ก็สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกันตามความเหมาะสม” ผู้อำนวยการสำนัก 3 สสส. กล่าว

ทั้งหมดล้วนเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย ด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง และก้าวเข้าสู่ “สูงวัยสร้างเมือง” ได้อย่างมั่นคง.

You may also like

Hilight ในคืนข้ามปีกับ BamBam เหล่าอากาเซ่และแบมมี่ ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์เมื่อ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา

จำนวนผู้