ศึกเลือกตั้งอบจ.เชียงใหม่เริ่มคึกคัก หลังเพื่อไทยเปิดตัวส่ง”ส.ว.ก๊อง”ลงชิงกับ”บุญเลิศ บูรณุปกรณ์”ที่หันซบพลังประชารัฐ ล่าสุดสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจ.เชียงใหม่เปิดหน้าหนุนขณะที่อบจ.ใช้แผนสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนกำหนดอนาคตเชียงใหม่ผ่าน 4 ช่องทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตส.ว.เชียงใหม่ ประธานสโมสรฟุตบอลเจแอล เชียงใหม่ยูไนเต็ด ลงสู้ศึกเลือกตั้ง นายกอบจ.เชียงใหม่ ชนกับนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยถูกคำสั่งม.44 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยพัวพันในคดีจม.บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 จนกระทั่งต่อมาได้มีการคืนตำแหน่งให้และนายบุญเลิศได้หันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ก็ประกาศส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งสนามเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
ล่าสุดวันนี้( 4 ก.ค.62) ที่ห้องประชุมห้องอาหารเดอะการ์เด้น อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ นายอุ่นเรือน คำภิโล นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้นัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง โดยระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาทางผู้นำท้องที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วนของชาวบ้าน
ขณะที่นายอุ่นเรือน คำภิโล กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนภายใต้โครงการ “คนเชียงใหม่ร่วมกำหนดอนาคตเชียงใหม่” เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะมาจัดทำนโยบายในการพัฒนาเชียงใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2563-2566) โดยจะเปิดรับฟังความเห็นภายในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2562 และในช่วงต้นเดือนกันยายนจะสังเคราะห์แบบสอบถามข้อคิดเห็นทั้งหมดเพื่อจัดทำเป็นร่างนโยบาย ตามหน้าที่ภารกิจ 6 กลุ่ม.ได้แก่ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาส ด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การท่องเที่ยวและกีฬา ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางน้ำ และด้านประชาธิปไตยโดยท้องถิ่น ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากชาวเชียงใหม่ 4 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 รับฟังจากหัวหน้าส่วนราชการโดยจัดเวทีเฉพาะกลุ่ม อาทิ ภายใน อบจ เชียงใหม่ สำนักการช่าง/สำนักการศึกศาล/สำนักปลัด/กองกิจการสภา และส่วนอื่นๆ ช่องทางที่ 2 รับฟังความคิดเห็นผ่านทาง ONLINE ช่องทางที่ 3 รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ 42 เขตเลือกตั้ง ส.อบจ.เชียงใหม่ และช่องทางที่ 4 ช่องทางอื่นๆ อาทิ สื่อมวลชน กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิต่างๆ ถือเป็นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งจังหวัด ก็อยากให้พี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้านตำบลช่วยกันแสดงความคิดเห็น หรือจะเขียนปัญหาความต้องการที่อยากให้ อบจ.เชียงใหม่ ทำหรือแก้ไขปัญหาส่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ รวบรวมมาส่งให้ อบจ.เชียงใหม่ ก็ได้.