เชียงใหม่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์จากจุดเสี่ยงสูงจากเชียงรายเข้ามา

เชียงใหม่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์จากจุดเสี่ยงสูงจากเชียงรายเข้ามา

จังหวัดเชียงใหม่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์จากจุดเสี่ยงสูงจากเชียงรายเข้าสู่เชียงใหม่ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุก ทั้งออกเก็บตัวอย่างในโรงฆ่าและเขียงหมู  50 แห่งต่อสัปดาห์ เข้มงวดในการตรวจสัตว์ก่อนการเคลื่อนย้าย ด้านผู้ว่าฯย้ำสกัดเข้มแนวชายแดน เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นแก่ประชาชน

วันที่ 3 ก.ย.62 ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ โดยนายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ได้แถลงถึงแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรว่า  เนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(โรค ASF) โดยพบว่าในเอเชียมีการแพร่ระบาด 8 ประเทศคือ จีน ฮ่องกง มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ ลาวและพม่า โดยเฉพาะพม่ามีเขตติดต่อกับจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงรายนั้นได้มีการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายหมูมีชีวิตเข้า-ออกโดยเด็ดขาดแล้ว

ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในสว่นของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้ง war room ในการเตรียมพร้อมรับมืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ มีการซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ (Functional exercise) และได้เสนอจังหวัดเชียงใหม่ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยเพิ่มมาตรการเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์จากจุดเสี่ยงสูงจากเชียงรายเข้าสู่เชียงใหม่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่,จุดตรวจ กิ่วสไตล์ ถนนฝาง-แม่จัน,เขตรอยต่อพื้นที่ถนนในหมู่บ้านระหว่างอำเภอพร้าวกับอำเภอเวียงป่าเป้า,จุดตรวจบนถนนฝาง-แม่สรวย,จุดตรวจโป่งดิน(ทางเข้าเทพเสด็จ) อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังเชิงรุก หลังจากประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรค โดยทำการออกเก็บตัวอย่างในโรงฆ่าและจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์(เขียง)ในจังหวัดเชียงใหม่  50 แห่งต่อสัปดาห์ มีการเฝ้าระวังเชิงรุก เข้มงวดในการตรวจสัตว์ก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกครั้ง รวมถึงเฝ้าระวังเชิงรุกในฟาร์มให้เจ้าหน้าที่จำนวน 50 นายออกวิเคราะห์ความเสี่ยงรายฟาร์มในพื้นที่ทุกฟาร์ม ซึ่งกำลังดำเนินการ โดยในจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรครับแจ้งรายงานและหาข่าวในพื้นที่ จำนวน 238 นาย

“จังหวัดเชียงใหม่มีโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย 22 แห่ง มีการควบคุมการชำแหละถูกต้องวันละ 3,280 ตัว  แต่ก็ยอมรับว่ามีโรงเชือดหลังบ้านหรือชุมชนที่อาจเล็ดลอดบ้าง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็จะถูกจับดำเนินคดี เพราะในส่วนของเนื้อหมูชำแหละที่วางจำหน่ายตามตลาดหรือเขียงหมูนั้น จะต้องมีเอกสารกำกับซากแสดงด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่ออกตรวจ”นายพงศ์พัฒน์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือตามแนวชายแดน ซึ่งทางปศุสัตว์ได้ประสานฝ่ายความมั่นคงและทหารไปแล้วในการเข้มงวดบริเวณด่านชายแดน ส่วนพวกเนื้อหมูชำแหละหรือแปรรูป ทั้งแหนม หมูยอ หมูแดดเดียวซึ่งหากนำมาจากประเทศที่มีการระบาดจะไม่ให้นำเข้าเด็ดขาด จะถูกตรวจยึดและทำลายทันที เพราะโรคอหิวาต์แอฟริกานี้ จะติดต่อทางสารคัดหลั่งและการเลี้ยงรวมกัน ส่วนที่จีนที่มีการแพร่ระบาดมากเนื่องจากมีการนำเอาอาหารที่คนกินไปเลี้ยงสุกรด้วยจึงทำให้สุกรตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบถึง 38 มณฑล 93 เมือง ส่วนที่พม่าพบการระบาดที่รัฐฉาน เมืองลา,เมืองปากเสงและเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงข้ามอ.แม่สาย จ.เชียงราย

นายพงศ์พัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า โรคนี้ไม่ติดจากสัตว์สู่คน แต่เชื้อนี้ฝังตัวอยู่ได้นาน โรคนี้ทำลายระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรถ้าหากเชื้อเข้าไปในฟาร์มไหนสุกรจะตายเกือบ 100% สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีฟาร์มสุกรทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก 220 ฟาร์มมีสุกรกว่า 1 แสนตัว ด้วยเหตุนี้จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เลี้ยงสุกรทราบว่าหากมีสุกรตายแบบเฉียบพลันในฟาร์มมากกว่า 5% ภายใน 2 วัน หรือหากเป็นฟาร์มรายย่อยที่เลี้ยงสุกรน้อยกว่า 50 ตัวแต่พบว่ามีสุกรตาย 2 ตัวขึ้นไปภายใน 1 วันหรือมีอาการไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก รอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหู ท้องและไอ หรือแท้ง ท้องเสียเป็นเลือดให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอหรือเจ้าหน้าที่ที่หมายเลข 086-4314264 และสายด่วน 063-2256888 ทันที หากไม่แจ้งหรือปกปิดและเมื่อตรวจพบจะมีความผิดเช่นกัน

ทางด้านนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการควบคุมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดนและโรงฆ่าสัตว์ ตลอดจนการออกตรวจเขียงหมู ถ้าหากไม่มีใบกำกับซากก็ให้เจ้าหน้าที่เก็บหมูชำแหละนั้นห้ามขาย เพื่อป้องกันการนำสุกรที่ป่วยหรือมีอาการหรืออยู่ในฟาร์มที่มีสุกรติดเชื้อมาจำหน่าย นอกจากนี้ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบโดยเฉพาะอาจจะมีที่เชือดสุกรเองเพื่อประกอบอาหารในงานเลี้ยงหรือขายในชุมชน ซึ่งไม่ใช่โรงชำแหละที่ถูกกฎหมาย และให้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสุ่มตัวอย่างตามโรงชำแหละและเขียงหมู เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้บริโภคด้วย.

You may also like

มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ภายใต้แนวคิด The Golden of Lanna

จำนวนผู้