คนเวียงพิงค์ผนึกพลังตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่”คลี่คลายปัญหาฝุ่นควัน

คนเวียงพิงค์ผนึกพลังตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่”คลี่คลายปัญหาฝุ่นควัน

เชียงใหม่ / ชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วน ผนึกพลังตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” สู้ปัญหาฝุ่นควัน หลังปล่อยให้ภาครัฐจัดการมานานถึง 12 ปี แต่ยังไม่คลี่คลาย เน้นจะใช้ข้อมูล และพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้การขับเคลื่อนมาจากพี่น้องในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 ก.ย.62 ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ มีการแถลงข่าวริเริ่มก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยมีสมาชิก ทั้งองค์กรเอกชน องค์กรวิชาการ องค์กรประชาสังคม และบุคคลเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

นายบัณรส บัวคลี่ จากภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวถึงแนวคิดก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ ว่ามาจากบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหามลพิษฝุ่นควันหลายภาคส่วน ทั้งภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความเห็นร่วมกันว่า ต้องรวมพลังประชาสังคมให้เป็นเอกภาพ เพื่อผลักดันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในทุกระดับ ทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว ทำให้สังคมเชียงใหม่มีอากาศสะอาดทุกฤดูกาลโดยในเดือนกันยายนนี้ จะมีการสร้างระบบกลไกทำงาน ตั้งคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย คือฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายองค์กรเอกชน (ธุรกิจ) และฝ่ายประชาชน  ฝ่ายละ 5 คน เพื่อผลักดันองค์กรระยะเริ่มต้น จากนั้นจะเริ่มเปิดประชุมสภาลมหายใจครั้งที่ 1 ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาล รวมทั้งแถลงกิจกรรมและทิศทางการต่อสู้กับปัญหาฝุ่นควันในปี 2563

ทั้งนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่ จะใช้คำว่า “ฝุ่นควัน” แทน”หมอกควัน” และผลักดัน รณรงค์ให้ใช้คำว่า “ฝุ่นควัน” ในวงกว้างของสังคม เพราะคำว่าหมอกควัน เป็นภาษาที่ทางราชการใช้ มาจากภาษาอังกฤษ คือ Smog  แต่ฟังดูโรแมนติคมากกว่าเป็นปัญหา ขณะที่คำว่าฝุ่นควัน จะทำให้มองเห็นภาพของปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นภายหลังการแถลงข่าว นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิโฮงเฮียนสืบสานล้านนา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา เราปล่อยให้รัฐแก้ปัญหาฝุ่นควันเพียงฝ่ายเดียว รัฐจึงใช้คำสั่ง ระเบียบ กฎหมาย เป็นเครื่องมือ และผลสรุป คือ 12 ปีผ่านมา ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ทำให้ทุกฝ่ายพยายามลุกขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นการแก้ปัญหาให้ตัวเอง และถือว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ จ.เชียงใหม่ ด้วย

โดยเชื่อมกับทุกฝ่าย ใช้หลักการคือไม่โทษใคร ไม่ด่าใคร ไม่ว่าใคร แต่ใช้แนวปัญญาสร้างสรรค์ ทุกฝ่ายรวมพลังแก้ปัญหา ใช้ทั้งภูมิปัญญาเดิมและความรู้ใหม่ ให้ทุกภาคีเข้ามาช่วยกัน เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้นทุกคนก็ควรเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้เชียงใหม่น่าอยู่ ประชาชนมีความสุขมากขึ้น“เมื่อทุกฝ่ายมาร่วม ทำให้มองเห็นปัญหาทั้งระบบได้ ตั้งแต่ในบ้าน ในเมือง ในชุมชน ในป่า ในพื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม แล้วคนที่อยู่ในระบบต่างๆ เหล่านี้ก็เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไข ใช้ฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงแก้ปัญหามากกว่าใช้วิธีสั่งการ หรือจดหมาย สั่งให้ อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แก้ปัญหา ครั้งนี้ถือเป็นการรวมพลังกันครั้งใหญ่เพื่อดูแลเชียงใหม่ร่วมกัน” นายชัชวาลย์ กล่าว

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือการใช้ข้อมูล และพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ระดมความคิดจากนอกพื้นที่เข้าไป ตอนนี้จึงพยายามจัดประชุมทุกตัวแทนสภาชุมชน ทุกอำเภอ ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้สภาชุมชน มี 203 ตำบล จะแบ่งเป็นโซน เช่น โซนกลาง คือโซนที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเมือง โซนใต้ และโซนเหนือ ทำให้มีตัวแทนจากทุกอำเภอเข้าร่วม ส่งผลให้การขับเคลื่อนมาจากพี่น้องในชุมชน พี่น้องชนเผ่า จึงหวังว่าการขับเคลื่อนในลักษณะใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการดูแลพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในเมือง ชนบท ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย ย่อมทำให้ปัญหาในเชิงระบบคลี่คลายลงได้.

You may also like

คณะแพทยศาสตร์ มช. แถลงข่าว 65 ปี ตอกย้ำบทบาทและความก้าวหน้า

จำนวนผู้