ผวจ.เชียงใหม่ เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ของอบจ.เชียงใหม่ เชื่อหากทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการ พร้อมกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาจะทำให้สถานการณ์ปีนี้ดีขึ้น ขณะที่หน.ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ มช.ชี้การสร้างมลพิษเสมือนการฆ่าตัวตาย ระบุคนเชียงใหม่อายุขัยสั้น 2 ปีลงจากpm.25
วันนี้ (17 ต.ค. 62) ที่สำนักงานอบจ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันและเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่ได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฯของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย โดยมีตัวแทนจากหน.ส่วนราชการ ทหาร ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคมเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังหมดฤดูฝนอากาศก็จะเริ่มแห้งแล้ง ปัญหามลพิษ หมอกควัน ซึ่งเกิดจากการเผาเศษวัสดุใบไม้ วัสดุพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนควันและฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและที่ตกค้างบนถนนซึ่งสะสมมานานก็ทำให้ค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ในอดีตไม่เคยมีปัญหาแต่หากทุกคนเข้าใจธรรมชาติก็จะรู้ เพราะอดีตอาจจะใช้วิธีการเผาในการเตรียมพื้นที่การเกษตรก่อนที่จะถึงฤดูกาลเพาะปลูกได้ แต่ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูนจะเป็นแอ่งกระทะ เมื่อมีความกดอากาศครอบพื้นที่ก็ทำให้อากาศไม่หมุนเวียน มลพษหมอกควันหรือฝุ่นละอองจะถูกกดและกระจายอยู่ในพื้นที่แอ่งกะทะนี้ ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน
“ในวันนี้หมอกควันในช่วงฤดูหนาวไปจนถึงปลายฤดูก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง กลายเป็นควันพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกับต้นปีที่ผ่านมา ปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลกระทบทั้งสุขภาพของประชาชน และส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว กระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้”นายเจริญฤทธิ์ กล่าวและว่า
วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของอบจ.เชียงใหม่และภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นการปรับยุทธวิธี ปรับวิธีการใหม่ซึ่งอยากให้ทุกภาคส่วนได้หันหน้ามาหารือกัน แบ่งมอบหน้าที่และภารกิจ ซึ่งก็ค่อนข้างมั่นใจว่าปีนี้จังหวัดเชียงใหม่จะสามารถต่อสู้กับปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กได้
นายเจริญฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า แนวทางในปีนี้ สำหรับพื้นที่เขตเมืองจะขอให้ภาคประชาชนร่วมกับภาควิชาการเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างเต็มที่ ทางจังหวัดหน่วยงานภาครัฐ ทหารฝ่ายปกครองและส่วนที่เกี่ยวข้องจะเป็นกำลังสนับสนุน ส่วนอำเภอรอบนอกทางจังหวัดจะร่วมกับทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างเกราะกำบังล้อมเมืองเชียงใหม่ ถ้าหากประชาชนทั้งในเขตเมืองและอำเภอรอบนอกร่วมมือกัน โดยเฉพาะการลดการเผาเศษวัสดุ พืชผลทางการเกษตร วัชพืชต่างๆ เชื่อว่าปีนี้เชียงใหม่จะหลุดพ้นจากวิกฤติหมอกควันได้
จากนั้น ผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วย พล.อำนาจ ศรีมาก รองผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการร่วมกันเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า อบจ.เชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานที่เข้าร่วม
ทางด้านรศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อยากให้มีการนำความรู้ด้านสุขภาพเผยแพร่สู่ประชาชนให้เกิดความรู้และตระหนักถึงพิษภัยปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะpm2.5 ว่ามีส่วนทำให้ประชาชนเสียชีวิตได้โดยจากข้อมูลประชาชนทั่วโลกประมาณ 9 ล้านคนได้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ในปี 2015 คนไทย 65 ล้านคนมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 38,410 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของอัตราตายทั่วประเทศ และยังพบว่าประชากรในภาคเหนือมีอัตราตายมากที่สุด โดยทุกๆ pm10 ของค่าเฉลี่ยรายวันที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้อายุขัยสั้นลงและตายเพิ่มขึ้น ทำให้มีการเจ็บป่วยรุนแรง
หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ข้อมูลคุณภาพอากาศของ Air 4 Thai ในปี 2561 ค่า pm2.5 รายปี=26.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของเชียงใหม่สูงสุดอยู่ในอันดับ 23 ของโลก ซึ่งทำให้คนไทยอายุสั้นลง 1.5 ปีต่อคน และทำให้คนเชียงใหม่อายุขัยสั้นลง 2 ปีต่อคนซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ข้อมูลของ Airvisaul ค่าpm2.5 รายปีช=30.79 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอายุขับของคนในภาคเหนืออายุสั้นลง 3-5 ปี ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนสร้างการตระหนักรู้ว่า การสร้างมลพิษทางอากาศก็คือการฆ่าตัวตาย.