“เขื่อนแม่กวงฯ”วิกฤตหนัก มติ JMC ให้งดปลูกข้าวนาปรัง ใครฝืนให้หาแหล่งน้ำเอง

“เขื่อนแม่กวงฯ”วิกฤตหนัก มติ JMC ให้งดปลูกข้าวนาปรัง ใครฝืนให้หาแหล่งน้ำเอง

“เขื่อนแม่กวงฯ”วิกฤตหนัก มติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำให้งดปลูกพืชฤดูแล้งเด็ดขาด ใครฝืนให้หาแหล่งน้ำและรับผิดชอบความเสียหายเอง ขณะที่เขื่อนฯจะปล่อยน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาและส่งให้ไม้ยืนต้นเดือนละครั้ง คาดเหลือน้ำไว้เพียงให้ตกกล้าปลูกข้าวนาปีเท่านั้น

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562  ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา เป็นประธานประชุมพิจารณา เรื่อง “การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2562/63 ของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวงฯ(JMC) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมประชุมประมาณ 81 คน

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกันว่า เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงฯมีปริมาณ 71 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็น 27% ของความจุ โดยคาดการณ์ว่าวันที่ 1 ม.ค. 63 จะมีน้ำตั้งต้นในฤดูแล้งประมาณ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นในการบริหารจัดการน้ำฤดูนาปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้ร่วมกันบริหารจัดการได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยสามารถบริหารจัดการน้ำประหยัดได้รวมทั้งสิ้น 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำเหลือในเขื่อนแม่กวงฯมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ผอ.โครงการฯแม่กวงฯ กล่าวว่า ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ได้แบ่งลำดับความสำคัญออกเป็นลำดับ คือ น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เป็นอันดับแรก ลำดับ 2 เป็นน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ลำดับ 3 น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งการประชุมร่วมกันในครั้งนี้มติที่ประชุมเห็นว่าน้ำในเขื่อนมีน้อย จึงมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้งดการปลูกพืชในฤดูแล้ง ปี 2562/63  แต่ยังมีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ช่วง ม.ค.-มิ.ย. 63 รวม 6 เดือน โดยคาดว่าจะใช้ปริมาณน้ำรวม 9 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้จะมีการส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือไม้ผลและยืนต้น 4 รอบ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2563 เดือนละ 1 ครั้งๆ ละ 3 วันโดยประมาณ ทั้งนี้ส่งน้ำได้ปริมาณรวมไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะมีน้ำที่เหลือในเขื่อนแม่กวงฯประมาณ 57 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งจะเป็นน้ำต้นทุนเพื่อตกกล้า เพาะปลูกสำหรับข้าวนาปี และหากพื้นที่ใดมีการปลูกพืชทั้งๆ ที่มีมติออกมาแบบนี้แล้วจะต้องรับผิดชอบตนเอง โดยหาแหล่งน้ำของตนเองให้เพียงพอ ทั้งนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำทราบโดยเร็วและทั่วถึง.

You may also like

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในรัศมี 5 กม. จากสนามบินเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่

จำนวนผู้